อิทธิพร : หัวขบวน 7 เสือ กกต. เปลี่ยนผ่านยุคสืบทอดอำนาจสู่ระบอบรัฐสภา

การเลือกตั้งทำท่าขยับแล้วขยับอีก ทั้งที่การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี ที่สมบูรณ์ไม่มีแนวโน้มถูกทำให้เป็นโมฆะ และเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังจากรัฐประหาร 2557 ชาวบ้านร้านถิ่น ไปจนถึงผู้ลากมากดี ต่างโฟกัสให้ความสนใจกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่จะปลดพันธนาการจากอำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สู่การเมืองในรูปประชาธิปไตยอีกครั้ง

เลือกตั้ง Free and Fair

ในจังหวะที่วัน ว.เวลา น.ในมหกรรมการเลือกตั้งยังขมุกขมัว ยังเป็นภาพลาง ๆ “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “อิทธิพร บุญประคอง” ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงความพร้อมในการเลือกตั้งปี 2562 จะทำอย่างไรให้ free และ fair มากที่สุด

“อิทธิพร” ตอบคำถามว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมีแค่ 3 คน 1.กกต.ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง 2.ประชาชนผู้มีสิทธิและใช้สิทธิเลือกตั้ง 3.พรรคการเมืองและผู้สมัคร กกต.ต้องทำให้รู้สึกมั่นใจว่า เราจัดเตรียมการเลือกตั้งไว้พร้อมในทุก ๆ ด้าน จัดเตรียมระเบียบต่าง ๆ วัสดุอุปกรณ์ การจัดพิมพ์บัตร ต้องมั่นใจว่าพร้อมทำให้ทันตามกำหนดเวลา

“การเลือกตั้งครั้งนี้ มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น ซับซ้อนจากครั้งที่ผ่านมา ทำอย่างไรให้ประชาชนและพรรคการเมือง ได้เข้าใจในความแตกต่างของระเบียบและกฎหมายให้มากที่สุด”

“นอกจากนั้นเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ ที่มีอยู่ในกฎหมายและไม่เคยใช้มาก่อน จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เช่น ผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ซึ่งมีหน้าที่ช่วย กกต.ดูแลการเลือกตั้งให้ปราศจากการทุจริต”

“ให้ กกต. 1 คน ระงับ เปลี่ยนแปลง แก้ไขการเลือกตั้ง ให้ใบส้มได้ เมื่อพบเหตุการณ์ที่นำไปสู่การทุจริต ทำอย่างไรให้ กกต.แต่ละคนนำหน้าที่และอำนาจในส่วนนี้ไปใช้ให้ถูก สร้างความมั่นใจว่าการเลือกตั้งสุจริตและไม่คดโกง ติดอาวุธให้ กกต. สามารถแต่งตั้งพนักงาน กกต.เป็นพนักงานสืบสวน สอบสวน ไต่สวนและดำเนินคดีเหมือนพนักงานนายตำรวจ ฝ่ายปกครอง กกต.ต้องจัดฝึกอบรมให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ น่าเชื่อถือ”

“ส่วนหน้าที่จัดเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม กกต.ต้องพยายามให้มีผู้มาใช้สิทธิให้มากที่สุด และป้องกันบัตรเสีย ครั้งนี้จะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51 ล้านคน กกต.คิดว่า การที่ไม่มีการเลือกตั้งมาช่วงหนึ่งน่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนมาเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น การที่มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งใหม่ 18 ปีบริบูรณ์ก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงผู้ที่ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน 7-8 ล้านคน ถ้าประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งกลุ่มนี้พร้อมใจออกมาเลือกตั้ง จะเป็นพลังที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง”

“ถ้าออกมามากเท่าไหร่การเลือกตั้งก็น่าจะบริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้นไปตามปริมาณ การทุจริตคงไม่ง่ายนัก เพราะคนส่วนใหญ่มาเลือกตั้งไม่ใช่คนส่วนน้อย”

กระตุ้นรากหญ้าออกมาใช้สิทธิ

“อิทธิพร” เชื่อว่า กฎหมาย-กฎระเบียบที่เคร่งครัด ทั้งเรื่องหมายเลขผู้สมัครในแต่ละเขตไม่ตรงกัน พรรคการเมืองไม่สามารถติดป้ายหาเสียงได้ทุกที่เหมือนครั้งก่อน ๆ จะไม่ทำให้การเลือกตั้งปี 2562 กลายเป็นเลือกตั้งที่เงียบที่สุด

“คงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะมีสื่อ ประชาชน ให้ความสนใจการเลือกตั้งครั้งนี้มาก ไม่เห็นว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนไม่อยากออกมาเลือกตั้ง”

ในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง “อิทธิพร” ซุ่มหารือกับเจ้าของสำนักโพลอย่างน้อย 2 สำนัก เพื่อเช็กกระแสความตื่นตัวของโหวตเตอร์

“ได้พบกับผู้จัดทำโพลอย่างน้อย 2 สถาบัน ซึ่งบอกว่าการประชาสัมพันธ์ของ กกต.ยังไม่ดีพอ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำอย่างไร บัตรมีกี่ใบกันแน่ โดยได้พบผู้บริหารสูงสุดของสถาบันพระปกเกล้า และเจอกับผู้บริหารสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บอกตรงกัน”

ในฐานะหัวหอก กกต.จึงต้อง “ขันนอต” การประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้น

“ที่ประชาสัมพันธ์ได้แน่ ๆ คือการเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งเพียงแค่ใบเดียว แต่ใบเดียวมีผลที่จะนำไปนับคะแนนตกน้ำ มีส่วนสำคัญที่พรรคการเมืองจะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เขตเลือกตั้งจะมีน้อยลง คือข้อความเบื้องต้นในการประชาสัมพันธ์ มีอยู่แล้วและควรทำ”

แต่จะเน้นหนักคือระดับ “รากหญ้า”

“การรณรงค์ระดับรากหญ้าเป็นสิ่งสำคัญมาก คนในเขตเมืองเราเข้าใจกันไปเองก็ได้ว่าเขาคงมีข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพราะอยู่ในชุมชนที่มีความเจริญ ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ไม่ยากนัก แต่ระดับรากหญ้าจะทำอย่างไร”

“ช่วงเวลาที่ไม่มีการเลือกตั้ง 5-6 ปี กกต.เน้นการมีส่วนร่วมกับประชาชน เน้นการสร้างเครือข่าย เครือข่ายศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยระดับตำบล 7 พันกว่าตำบล และแต่ละศูนย์จะมีสมาชิก 10 คน ในการช่วยประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ว่าเลือกตั้งจะมีแล้ว มี ดีเจ.ชุมชนเป็นเครือข่าย กกต. แทรกสาระเลือกตั้งเข้าไปด้วย มีโครงการนำร่อง หมู่บ้านไม่ขายเสียง 1 พันกว่าหมู่บ้าน สามารถพัฒนาเป็นตำบลไม่ขายเสียงได้ และยังมีหมายเลขฮอตไลน์ 1444 ซึ่งเปิดเข้าไปถามได้”

ไม่หวั่นอิทธิพล ม.44

นอกจากรัฐธรรมนูญ-กฎหมาย และเลือกตั้งสารพัดฉบับที่คุมการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ยังมีอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อันเป็นกฎหมายให้สิทธิพิเศษดำเนินการต่าง ๆ ได้ครอบจักรวาลกำกับอยู่ ที่สำคัญ มาตรา 44 ยังเคยใช้ “ปลด กกต.” สมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจากเก้าอี้มาแล้ว

“อิทธิพร” ไม่กังวลอิทธิพลของมาตรา 44 “เป็นเรื่องเฉพาะเรื่องไม่ใช่ใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้กังวลเรื่องพวกนี้”

“มาตรา 44 ตอนนี้ไม่มีเกี่ยวกับ กกต.แล้ว คำสั่ง คสช.ที่ออกมาและมีการยกเลิกไปบ้าง ไม่ใช่เป็นคำสั่งเฉย ๆ แต่เป็นลักษณะเป็นกฎหมาย มีผลเท่ากับกฎหมาย รับรองในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งคำสั่งยกเลิกไปเกือบหมดแล้ว”

“ดังนั้น เป็นเรื่องของ กกต.โดยแท้ ทั้งการเตรียมการ การประชาสัมพันธ์ เราหวังว่าสนับสนุนพรรคการเมืองให้เกิดความมั่นใจ ให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองที่มีคุณค่า คอยตักเตือนสมาชิกที่อาจทำอะไรโดยไม่ตั้งใจที่จะขัดกับกฎหมาย หรือ ระเบียบโดยไม่ตั้งใจ ผู้เล่นที่เกี่ยวข้องทั้งหลายถ้ารู้และตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนอย่างแจ้งชัด โอกาสที่การเลือกตั้งจะไปได้ก็พอมีอยู่”

มีรัฐสภา = ไม่มี คสช.

“อิทธิพร” เชื่อว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ จะเป็น “จุดเปลี่ยน” การเมืองครั้งสำคัญ “นี่เป็นจุดเปลี่ยนของเวลาที่จะกลับเข้ามาสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีพรรคการเมือง มีการเลือกตั้ง มีการตรวจสอบในระบอบประชาธิปไตย ถ้าเรายอมรับกติกาขณะนี้ ทำตามกรอบรัฐธรรมนูญก็น่าจะไปได้”

“ใช้รากฐานของการมีรัฐบาล รัฐสภา ออกกฎหมาย อภิปรายไม่ไว้วางใจ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ก็จะกลับสู่วิถีทางประชาธิปไตย เป็นจุดเปลี่ยนที่ดีมาก”

แม้นักการเมืองจะมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจเป็นแค่พิธีกรรมสืบทอดอำนาจของ คสช. “อิทธิพร” ไม่คิดเช่นนั้น

“ขณะนี้กำลังเป็นช่วงที่การเมืองก้าวไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ ผลสุดท้ายในเมื่อเป็นระบอบรัฐสภาอยู่แล้ว จะไม่มีองค์กรดังเช่น คสช.เหลืออยู่ หากมีการตั้งรัฐบาลแล้ว คสช.ก็จะหมดหน้าที่ไป การสืบทอดอำนาจจะมีหรือไม่มี จะเป็นไปได้หรือไม่ จะเป็นจริงหรือไม่ ผลสุดท้ายทุกอย่างอยู่ภายใต้การตรวจสอบของการปกครองระบอบรัฐสภา เป็นระบบปกติอีกครั้ง”

เป็นกลาง ไม่เข้าข้างพรรคไหนกับคำถามที่ กกต.ถูก “ดักคอ” อยู่เสมอ ว่าเอื้อประโยชน์ให้พรรคพลังประชารัฐ พรรคที่ประกาศว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯรอบสองหรือไม่ ประธาน กกต.ตอบว่า

“เป็นคำถามว่าตอบง่ายแต่จะน่าเชื่อหรือเปล่าอีกเรื่องหนึ่ง พยายามตอบแล้วว่าการทำงานของ กกต.เน้นเรื่องผลประโยชน์ ความสะดวกของประชาชนเป็นที่ตั้ง จะสนับสนุนให้พรรคการเมืองทุกพรรค พรรคเล็ก พรรคใหญ่ สามารถดำเนินการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อย่างถูกต้อง มีคุณภาพ มีผู้สมัครที่ดี ถ้าเสี่ยงต่อการผิดพลาดอยากให้พรรคการเมืองถาม กกต. พูดคุยกับ กกต. หรือเตือนว่าให้ระมัดระวัง ไม่ว่าเป็นพรรคไหนก็ตาม”

“โดยหลักที่ กกต.เปรียบเสมือนตุลาการในด้านการเลือกตั้ง ที่จะดำเนินการใด ๆ กับพรรคการเมือง ผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่าการรีบร้อนตัดสินใจโดยรับฟังเฉพาะข้อเท็จจริง ไม่แสวงหาหลักฐาน ไม่มีการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ละเอียดรอบคอบ อาจกระทบต่อผู้เล่นหลายคน และบางครั้งกระทบต่อผู้เล่นผู้นั้น ถ้าเทียบเคียงกับโทษทางอาญา เท่ากับจำคุกตลอดชีวิต”

“ดังนั้น เราจะทำอะไรกับพรรคไหนก็ตาม กกต.ต้องมั่นใจว่าเขาทำผิดจริง ๆ ตามกระบวนการกฎหมายที่เราเห็นว่าจำเป็น ใครมองว่าเอื้อก็คงไม่สามารถห้ามได้ แต่ถ้าทำแล้ว กกต.ต้องรับผิดชอบ อธิบายได้”

ถาม “อิทธิพร” ว่า อยากให้สังคมจำการเลือกตั้งในภาพอะไร


“อยากให้จำว่า ถ้าประชาชนออกมาเลือกตั้งจะช่วยให้การเลือกตั้งมีความชอบธรรมสูงขึ้นอีกเยอะ จะทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องของประชาธิปไตย อำนาจเป็นของประชาชน สามารถแสดงพลังให้เห็นว่าอำนาจในการตัดสินใจทางการเมือง คือ ประชาชน กรุณาออกมาใช้อำนาจกันเยอะ ๆ กกต.จะทำให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยเรียบร้อย กฎระเบียบทุกอย่างชัดเจน”