กสม. กังวลปมสาวซาอุ จี้รัฐบาลไทยเคารพหลักการ “ไม่ส่งกลับสู่อันตราย” ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 7 มกราคม สืบเนื่องกรณีกรณี น.ส.ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด เอ็ม อัลคูนัน ถูกเจ้าหน้าที่ซาอุดีอาระเบียและคูเวต สกัดกั้นเอาไว้ขณะเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมิ และเอกสารการเดินทางถูกยึดไปทั้งหมด รวมทั้งหนังสือเดินทาง หลังจากพยายามที่จะหลบหนีจากครอบครัว ที่ทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยทางการไทยมองว่าเป็นปัญหาครอบครัว ขณะที่ น.ส.ราฮาฟ ยืนยันว่า อยู่ระหว่างการแวะเปลี่ยนเครื่องเพื่อเดินทางไปขอลี้ภัยที่ประเทศออสเตรเลียและยืนยันว่ามีวีซ่า

ด้านนายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทางการไทยว่า เหตุใดจึงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทูตเข้าไปในเขตพื้นที่ปิดของสนามบินและยังยึดหนังสือเดินทางของผู้โดยสาร

ต่อมา เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่เอกสารแสดงความกังวลต่อส่งหญิงสาวอายุ 18 ปีชาวซาอุดีอาระเบีย กลับประเทศ โดยระบุว่าทุกฝ่ายต้องเคารพหลักการไม่ส่งกลับสู่อันตรายตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะดูแลรับผิดชอบด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กล่าวว่า กรณีที่นางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด เอ็ม อัลคูนัน (Rahaf Mohammed M Alqunun) วัย 18 ปี หญิงสาวชาวซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะเดินทางไปประเทศออสเตรเลียเพื่อขอลี้ภัย โดยต่อเครื่องบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากคลิปวีดิโอที่เผยแพร่ทางสื่อมวลชน เห็นได้ชัดเจนว่าหญิงสาวดังกล่าวหวาดกลัวหากถูกส่งกลับไปยังประเทศบ้านเกิด และร้องขอพบเจ้าหน้าที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)

“กรณีนี้ได้รับความสนใจจากนักสิทธิมนุษยชน และองค์การระหว่างประเทศอย่างมากเนื่องจากยังไม่ชัดเจนว่าหญิงสาวคนนี้ซึ่งถือว่าเป็นเยาวชนขอลี้ภัยด้วยเหตุผลใด และการส่งตัวกลับจะทำให้เธอได้รับอันตรายหรือไม่ รัฐบาลไทยควรต้องเคารพหลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย ตามบทที่ 3 ข้อ 3 วรรคหนึ่ง ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งเน้นย้ำว่า ‘รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน’

“รัฐบาลไทยควรหารือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อคุ้มครองในเบื้องต้นและหาข้อเท็จจริง ทั้งนี้ต้องมีหลักประกันว่า นางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด เอ็ม อัลคูนัน (Rahaf Mohammed M Alqunun) จะไม่ได้รับอันตรายหากต้องส่งตัวเธอกลับประเทศต้นทาง” นางอังคณากล่าว

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์