“บิ๊กตู่” ไต่ไทม์ไลน์เลือกตั้ง สัญจรเหนือ สะเทือนฐาน “ทักษิณ”

แม้ว่าพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส. จะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ “หัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจ-หน้าที่ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้งทั่วไป ครั้งแรก จะเข้ารับหน้าที่”

ที่มากกว่าการเป็นคณะรัฐมนตรี “รักษาการ” คือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป เป็นไปตามบทเฉพาะกาล “อำนาจของหัวหน้า คสช. และคณะ คสช. ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป”

จนกว่าจะมี “รัฐบาลใหม่” ชื่อ “บิ๊กตู่” จึงจะหายไปจากกระดานอำนาจ ดังนั้น กำหนดการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร จึงยังจะคงดำเนินต่อไป

ทั้งเป็นไปเพื่อช่วยปักหมุดทางการเมือง ให้พรรคฝ่ายพลังประชารัฐ และทั้งเป็นการสำรวจกระแสความนิยม ส่วนตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ หากจัดพลัดจับผลู ถูกโหวตให้เป็น นายกรัฐมนตรี “คนนอก” ตามบทเฉพาะกาล จะได้สานต่องานได้ทันที

การเคลื่อนทั้ง 2 ขา ล้วนสั่นสะเทือนฐานเสียง-ฐานที่มั่นของแชมป์เก่า-มรดกทางการเมืองของ “ทักษิณ ชินวัตร” ในเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ โดยทางตรง-ทางอ้อม

โค้งสุดท้ายหักศอกของ “บิ๊กตู่” จึงยังเดินเท้าต่างจังหวัดถี่ยิบ ก่อนจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมป ภายใน 150 วัน ตามคาด “วันอันตราย” พ้นจากดินแดนการเป็น “โมฆะ” ยังคงไม่เกินวันที่ 24 มีนาคม 2562

ล่าสุด ครม.สัญจรครั้งที่ 16 จัดทัพลงพื้นที่ภาคเหนือ เป็นพื้นที่ฐานเสียงของ “สองพี่น้องอดีตนายกฯ” ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย (พท.) เพราะการเลือกตั้งปี”54 สามารถกวาดเก้าอี้ ส.ส.ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้เป็นกอบเป็นกำ

โดยเฉพาะสมรภูมิ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบนสุด-เมืองหลวง พท. ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน พื้นที่เป้าหมาย ใต้เส้นอีเวนต์ ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ครั้งแรกของปี 2562

จำนวน ส.ส.เก่า 19 ที่นั่ง อันเป็นฐานทัพ พท. คือป้อมค่าย ที่ “บิ๊กตู่และคณะ” ต้องการสัญจรไปสำรวจ-ทะลวงฟัน

ในเชียงใหม่ 10 เขตเลือกตั้ง พท.เคยกวาดเรียบ 10 ที่นั่ง ส่วนแม่ฮ่องสอน 1 เขตเลือกตั้ง แชมป์เก่า คือ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ลำปาง 4 เขตเลือกตั้ง พท.จองทั้งหมด และลำพูน 2 เขตเลือกตั้ง พท.เคยทำคะแนนสูงสุดในประเทศมาแล้ว

การลงพื้นที่ในช่วงก่อนการเลือกตั้งจะชัดเจน จึงเป็นการ “ย้ำหมุด” ในพื้นที่สำคัญ-มีนัยทางการเมือง เพื่อสร้างแรง “สั่นสะเทือน” ไปยังฐานที่มั่นโดยตรงของฝ่าย “ทักษิณ ชินวัตร”

การประชุม “ครม.สัญจร” 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน “นัดรองสุดท้าย” ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าการเลือกตั้งจะอยู่ปฏิทินเดือนมีนาคม

“พล.อ.ประยุทธ์” อนุมัติกรอบงบประมาณ-โครงการมัดจำ-มัดใจ “คนเหนือ” กว่า 2 หมื่นล้านบาท 26 โครงการ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน 12 โครงการ วงเงิน 17,660 ล้านบาท 1.ปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 11 ตอนแยกภาคเหนือ-ขุนตาล จาก 4 ช่องเป็น 8 ช่องจราจร วงเงิน 100 ล้านบาท 2.ทางหลวงหมายเลข 116 ตอนป่าสัก-สะปุ๋ง-บ้านเรือน-สันป่าตอง จาก 2 ช่องเป็น 4 ช่องจราจร วงเงิน 850 ล้านบาท 3.ทางหลวงหมายเลข 1035 ตอนวังหม้อพัฒนา-แจ้ห่ม วงเงิน 3,300 ล้านบาท

4.ขยายสะพานข้ามทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 ตอนเกาะคา-สามัคคี กับทางหลวงหมายเลข 11 ตอนแยกภาคเหนือ-ขุนตาล วงเงิน 100 ล้านบาท 5.ก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ ทางหลวงหมายเลข 1136 ตอนเหมืองง่า-ลำพูน เพื่อเชื่อมทางเลี่ยงเมืองลำพูน สายเหมืองง่า-ท่าจักร และเชื่อม จ.เชียงใหม่ วงเงิน 300 ล้านบาท

6.ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองแม่ริม วงเงิน 6,971 ล้านบาท 7.ก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองสันกำแพง 4,268 ล้านบาท และ 8.ก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า จ.เชียงใหม่ วงเงิน 1,711 ล้านบาท 9.เสริมสร้างเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถนนนิมมานเหมินท์ “Smart Nimman” 60 ล้านบาท 10.ศึกษาแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณโดยรอบท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่

ด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม 4 โครงการ ได้แก่ 1.ศึกษา EIA อ่างเก็บน้ำแม่สุย อ.เมืองลำปาง 2.ก่อสร้างประตูระบายน้ำดอยแต อ.เมืองลำพูน 3.ก่อสร้างระบบระบายน้ำปลายคลองแม่แตง-แม่ขาน จ.เชียงใหม่ 4.พัฒนา “ลำปางหัตถอุตสาหกรรมเซรามิก” ยกระดับวิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจชุมชน

สนับสนุน New S-curve จำนวน 6 โครงการ อาทิ 1.การยกระดับกาแฟอราบิก้าอย่างครบวงจร (Northern Boutique Arabica Coffee Hub) 2.ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยอัตลักษณ์ล้านนาเชิงสร้างสรรค์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม MICE พัฒนาคุณภาพสินค้า OTOP

3.ยกระดับ “Northern Thailand Food Valley” สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ตลาดสากล ระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) รวม 150 ล้านบาท

รวมถึงรับข้อเสนอเชิงนโยบาย จำนวน 4 แผนงาน อาทิ 1.ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางขับเคลื่อนการใช้ศักยภาพภาคเหนือตอนบนด้าน MICE, Medical & Wellness Hub, Creative LANNA และ Food Valley เชื่อมโยงระหว่างแผนงาน GMS กับการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 2.ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาศึกษาการพัฒนาศักยภาพเชื่อมโยงเมืองเก่าลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา

3.ให้กระทรวงพาณิชย์ แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในพื้นที่ เช่น กระเทียม สับปะรด ลำไย และ 4. กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจัดสวัสดิการด้านการสาธารณสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลใน จ.แม่ฮ่องสอน เช่น บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งการสร้างมาตรการจูงใจบุคลากรทางการแพทย์ไปปฏิบัติงาน

ทั้งอนุมัติก่อหนี้ผูกพันเพิ่มเติมก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพสาธารณสุข 1 หลัง พร้อมลานจอดรถ จ.เชียงใหม่ วงเงิน 1,209 ล้านบาท รวมถึงเห็นชอบขยายมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 ที่สิ้นสุดโครงการเมื่อเดือน ธ.ค. 61 ออกไปอีก 6 เดือน หรือ ม.ค.-มิ.ย. 62 และอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 งบฯกลางเพิ่มเติม วงเงิน 4,370 ล้านบาท

เห็นชอบปรับเปลี่ยนการเติมเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (300 หรือ 200 บาทต่อเดือน) เป็นการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ200 หรือ 100 บาทต่อเดือน ส่วนที่เหลือ 100 บาท ให้เติมเงินเข้าวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ในช่วงก.พ.-เม.ย.62เพื่อให้สามารถถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ได้

การลงพื้นที่ “ปักหมุด” 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีนัยสำคัญในทางการเมือง-เก็บแต้มต่อในการทำศึกสงครามตัวแทน-สร้างคะแนนให้กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยปริยาย

โค้งสุดท้าย-ก่อนการเลือกตั้ง อาจเคยเป็นโค้งอันตรายของรัฐบาลรักษาการ แต่สำหรับยุค “บิ๊กตู่” ผู้ที่อาจปรากฏตัวเป็นนายกรัฐมนตรีซ้ำได้ทั้งใน-นอกโผ บัญชีนายกรัฐมนตรี นาทีนี้เขายังได้ไปต่อ…จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่