“กฎต้องห้าม” กับดักหาเสียง จุดเสี่ยงนักเลือกตั้ง “แพ้ฟาวล์ยกแรก”

นักเลือกตั้ง-พรรคการเมือง เริ่มออกสตาร์ตหาเสียงอย่างคึกคัก เปิดตัวผู้สมัคร-นโยบายกันถ้วนหน้าพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคเล็ก กรีธาทัพลงพื้นที่หาคะแนนเสียง (ล่วงหน้า) กันฝุ่นตลบ

แม้ยังอยู่ในโมงยามที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง และวันการเลือกตั้งก็ยังไม่ชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ระเบียบ-ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่คลอดสวนทางออกมาคุมการเลือกตั้งเกิน 10 ฉบับ

มีสารพัดกับดักเชื่อมโยงต่อกันฉบับต่อฉบับ ที่นักเลือกตั้งพึงระวัง หากนักการเมืองอ่านไม่ครบ-ไม่หมด มีสิทธิแพ้ฟาวล์ก่อนถึงยกสุดท้ายวันเลือกตั้ง

ในกฎระเบียบสารพัดมีไฮไลต์ที่นักการเมืองต้องอ่านครบทุกตัวอักษร อาทิ ประกาศ กกต. เรื่อง ประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ประกาศ กกต.เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 ระเบียบ กกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประกาศ กกต.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ถอดค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง

เมื่อถอดสลักสำคัญ จัดหมวดหมู่ออกเป็น 5 อันดับ พบว่าอันดับแรก ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ประกาศ กกต.เรื่องค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง กำหนดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง

แบ่งเป็น 1.พรรคละไม่เกิน 35,000,000 บาท เช่น ค่าจ้างทำเสื้อแจ็กเกต หมวก และเสื้อยืด สำหรับผู้ช่วยหาเสียง ค่าโฆษณา เช่น ค่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ค่าผลิตสื่อเพื่อการออกอากาศ รวมถึงค่าโฆษณาอื่นที่เป็นการกระทำเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูบ อินสตาแกรม กูเกิล แอปพลิเคชั่นค่าเช่าสำนักงานเพื่อเป็นศูนย์รณรงค์หาเสียง เลือกตั้ง ค่าเช่าสถานที่เพื่อปราศรัยหาเสียง ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเช่าที่พัก ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา

ถ้าพรรคใช้เงินเกิน 35 ล้านบาท จะถูกปรับตั้งแต่ 2 แสน-2 ล้านบาท หรือปรับ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ “เกิน” จาก 35 ล้านบาท แล้วแต่อย่างไหนจะมากกว่ากัน

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค เหรัญญิกพรรค รู้เห็นจะโดนโทษ จะถูกปรับตั้งแต่ 2 แสน-2 ล้านบาท หรือปรับ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ “เกิน” จาก 35 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

2.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบเขต แต่ละคนสามารถใช้จ่ายไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จะโดนโทษลักษณะเดียวกัน

4 ข้อห้ามหาเสียง

อันดับที่สอง กกต.กำหนด “ข้อห้าม” ในการหาเสียง 4 ข้อ 1.ห้ามหรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง

2.ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองใช้ นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง

3.ห้ามหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม

4.ห้ามช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใด ตามประเพณีต่าง ๆ ช่วยซองงานบุญ งานบวช หรืองานศพ แม้จะเป็นงานตามประเพณีนิยมหรือเป็นจารีตประเพณีปกติ ก็ไม่สามารถทำได้

อุดช่อง “ซื้อ-ขาย” เสียง

อันดับสาม ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดในมาตรา 73 ว่า 1.ห้ามผู้สมัครไม่ให้ จัดทํา ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคํานวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

2.ห้ามให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด

ถ้าทำผิดให้ถือว่าเป็นความผิดฐานฟอกเงิน และส่งให้สํานักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบ

3.ห้ามโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่าง ๆ 4.ห้ามเลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด 5.ห้ามหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิด ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

ถ้าฝ่าฝืนโทษคือ “ใบแดง” พ่วงโทษทางอาญา และต้องชดใช้เงินค่าเลือกตั้งซ่อม

คุมเข้มหาเสียงบนโซเชียล

อันดับสี่ อาจเป็นครั้งแรกที่การหาเสียงปี 2562 หนึ่งในปัจจัยชี้ขาดเลือกตั้งคือ “โซเชียลมีเดีย” ซึ่งตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561

ตีกรอบ “ช่องทาง” หาเสียงทางโซเชียลไว้ 7 ประเภท 1.เว็บไซต์ 2.โซเชียลมีเดีย 3.ยูทูบ 4.แอปพลิเคชั่น 5.อีเมล์ 6.เอสเอ็มเอส 7.สื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทุกประเภท ซึ่งจะถูกนำไปรวมเป็น “ค่าใช้จ่าย” ในการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ในการหาเสียงทางโซเชียล ผู้สมัครสามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญ หรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง และให้ผู้สมัครแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เลขาธิการ กกต.ทราบตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้ง หรือก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการ กกต. ระบุถึงการล้อมคอกการหาเสียงทางโซเชียลว่า สำนักงาน กกต.จะตั้ง “วอร์รูม” ขึ้นมาตรวจสอบ และทำความตกลงกับเจ้าของเว็บไซต์ เว็บเพจ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ เมื่อพบมีการโพสต์ข้อความไม่ถูกต้อง ใส่ร้ายป้ายสี จะประสานให้ผู้โพสต์ลบทิ้ง หากไม่ลบจะประสานให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการ

“กรณีเป็นการโพสต์มาจากต่างประเทศจะประสานตัวแทนในประเทศไทยให้ลบ หากเป็นเว็บใต้ดิน หาที่มาไม่ได้ก็จะลบทันที แต่จะเตือนไปยังผู้สมัครให้ระวังการกดแชร์ กดไลก์ กองเชียร์”

เพราะมีการตีความว่า การแชร์ = สร้าง ก็ถือว่า “รับ” เป็นของตัวเอง หากเป็นข้อความที่ผิดกฎหมาย เท่ากับหาเสียงโดยใส่ร้าย มีโทษใบแดง

ส่วน “กดไลก์” = ทำซ้ำ แต่ถ้า “มือลั่น” กดครั้งเดียวแล้วกดยกเลิกอาจจะไม่เข้าองค์ประกอบความผิดหาเสียง จึงต้องพิจารณาดูว่าอุบัติเหตุหรือเปล่า พลาด แต่ถ้ากด 20 ครั้ง ย้ำแล้วย้ำอีกก็โดน

“เพราะนอกจะผิดอาญาข้อหาหมิ่นประมาทแล้ว ยังจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษใบแดง ซึ่งความผิดบนโซเชียลมีเดีย เป็นดิจิทัลสืบหาไม่ยาก คดีอาชญากรรมหายากกว่าอีก” พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าว

คุมเข้มป้ายหาเสียง

อันดับห้า ป้ายหาเสียง ซึ่งการเลือกตั้งทุกครั้ง “ป้ายหาเสียง” เป็นหนึ่งปัจจัยที่สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้ง แต่สำหรับเลือกตั้งในปี 2562 จะถูกควบคุมด้วย ประกาศ กกต.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำ สถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยป้ายหาเสียงครั้งนี้ถูกแบ่งเป็น

1.ป้ายขนาด A3 ที่ผู้อำนวยการ กกต.เขตเลือกตั้งจะประกาศสถานที่ติด ซึ่งเป็นบอร์ดของสถานที่ราชการ อาทิ อำเภอ ศาลากลางจังหวัด โดยแต่ละพรรคจะมีแผ่นป้ายได้จำนวนไม่เกิน 10 เท่าของหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นซึ่ง “ค่ากลาง” ของหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขตจะมี 270 หน่วยเลือกตั้ง เท่ากับพรรคหนึ่งจะมีป้ายหาเสียงไม่เกิน 2,700 แผ่นต่อเขตเลือกตั้ง

2.มีขนาดป้าย 130 X 245 ซม. ป้ายที่จะไปติดตามสถานที่ที่ กกต.กำหนด ติดได้ไม่เกิน 2 เท่าของหน่วยเลือกตั้ง หรือ 540 แผ่นต่อเขตเลือกตั้ง

3.ป้ายติดรถหาเสียง และป้ายเวทีหาเสียง แล้วแต่ขนาดรถไม่จำกัด และเวทีหาเสียงควบคุมด้วยค่าใช้จ่าย

4.แผ่นป้ายหาเสียง ขนาด 400 X 750 ซม. ติดได้ที่ที่ทำการ พรรคการเมือง หรือสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการการเลือกตั้งได้เขตเลือกตั้งละ 1 แห่งต่อ 1 ป้าย

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของป้ายทุกขนาดจะต้องมีแค่รูปถ่ายผู้สมัคร นโยบาย คำขวัญ ภาพผู้สมัคร หัวหน้าพรรค ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรค และสมาชิกพรรคเท่านั้น บุคคลนอกที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคห้ามเกี่ยว ซึ่งฝ่าฝืนมีโทษทั้งแพ่ง-อาญา

นักเลือกตั้งเพียงแค่เต้นฟุตเวิร์กยังไม่ลงสนาม แต่ต้องระวังตั้งแต่นาทีนี้เป็นต้นไป เพราะกฎกติกาที่ละเอียดยิบย่อย


ขึ้นเวทีเมื่อไหร่…ถ้าไม่ระวังอาจถูกจับแพ้ฟาวล์ตั้งแต่ยกแรก