เลขาฯกกต. ชี้สมัคร ส.ส.ต้องมีหลักฐานเสียภาษีปี’59-61 ผ่อนผันไม่ได้ ยันไม่ต้องลบ “ไลน์-เฟซบุ๊ก”

‘เลขาฯกกต.’ ชี้สมัคร ส.ส.ต้องมีหลักฐานเสียภาษี ‪2559-2561‬ ผ่อนผันไม่ได้ เตรียมถกผู้บริหารไลน์สัปดาห์หน้า สกัดข้อความผิดกฎหมาย ยันไม่ต้องลบแอคเคาต์เฟซบุ๊ก แค่ให้แจ้งต่อ กกต.ป้องกันถูกปลอมชื่อป้ายสี วอนผู้สมัครใจเย็นรอประกาศสถานที่ติด

เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 25 มกราคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กกต.ให้ใช้หลักฐานการยื่นการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปี (‪2559-2561‬) เป็นหลักฐานในการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ว่า กกต.ได้พูดคุยกันแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องของข้อกฎหมายซึ่งเรามีข้อกังวล แต่เนื่องจากกฎหมายนี้กำหนดให้ใช้หลักฐานการเสียภาษีถึงปีที่รับสมัคร จึงมีมติว่าหลักฐานภาษีที่จะใช้ต้องใช้ย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2559, 2560 และ 2561 ซึ่งการเสียภาษีของปี 2561 ทางกรมสรรพากรให้เสียภาษี‪ตั้งแต่ 1 มกราคม-31 มี‬นาคม 2562 ดังนั้น ผู้ที่จะสมัครสามารถยื่นเสียภาษีประจำปี 2561 ได้แล้ว และขอหลักฐานการเสียภาษีจากกรมสรรพากรเพื่อนำมายื่นสมัคร ส่วนที่มีบางคนอาจจะมีปัญหาในการรวบรวมหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ก็ให้ไปยื่นเสียภาษีประจำปีกับกรมสรรพากรก่อนเพื่อให้ได้หลักฐานใบเสร็จการเสียภาษีมายื่นสมัครต่อ กกต.ก่อน แล้วค่อยไปยื่นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย ภายหลังต่อกรมสรรพากร อย่างไรก็ตาม การเสนอให้ กกต.ผ่อนผันเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องที่กำหนดอยู่ในกฎหมาย

พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวถึงการหาเสียงทางโซเชียลมีเดียว่า ขณะนี้ใครที่มีเฟซบุ๊ก ไลน์ ก็ไม่ต้องลบแอคเคาต์ โดยสามารถแจ้งล่วงหน้าต่อผู้อำนวยการประจำเขตเลือกตั้งได้เลย แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการเปิดรับสมัคร แต่เมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว การหาเสียงต่างๆ ก็สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ระเบียบ กกต.ที่ออกมาในเรื่องดังกล่าวก็เพื่อที่จะปกป้องตัวของผู้สมัครที่จะใช้ช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน ให้ไม่ถูกผู้อื่นปลอมแอคเคาต์เพื่อใส่ร้ายป้ายสี และเพื่อ กกต.จะคำนวณเป็นค่าใช่จ่ายในการหาเสียง ยืนยันว่า กกต.ให้อิสระเสรีภาพในการหาเสียงเต็มที่ ทุกพรรคสามารถทำได้ตามปกติ เพียงแต่อย่าทำผิดกฎหมายก็แล้วกัน และขอให้เก็บใบเสร็จค่าใช้จ่ายไว้เป็นหลักฐาน ตอนนี้ กกต.ได้ประสานกับทุกมีเดีย ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ไปหารือกับผู้บริหารกูเกิลเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่าย และสัปดาห์หน้าก็จะไปคุยกับไลน์ประจำประเทศไทย เพื่อให้ความรู้ไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อความที่ผิดกฎหมาย

พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวถึงกรณีที่ผู้สมัครพรรคการเมืองตำหนิ กกต.ล่าช้าเรื่องการกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียงว่า กกต.กำลังเร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการรับสมัครจึงไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจนว่าแต่ละพรรคจะส่งผู้สมัครกี่เขต ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ผูกกับการคำนวณจำนวนป้าย และผู้ช่วยหาเสียง เช่น กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 10 ของจำนวนเขตที่ส่งสมัคร เรื่องการหาเสียงสามารถดำเนินการได้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่ายซึ่งเริ่มนับแล้ว

นอกจากนี้ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำบัตรเลือกตั้งว่า ในส่วนนี้มีการจัดงบประมาณสำหรับการพิมพ์บัตรเลือกตั้งแล้ว สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ในเว็บไซต์ของ กกต. แต่ยังไม่มีการทำสัญญาจัดจ้าง เพราะการดำเนินการจะต้องเริ่มเมื่อปิดรับสมัคร ซึ่งจะรู้จำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต เลือกตั้งล่วงหน้า และเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร แต่ขอให้มั่นใจว่ารูปแบบของบัตรจะมีหมายเลขผู้สมัคร ชื่อ และโลโก้พรรค เนื่องจากอยู่ในระเบียบที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ส่วนบัตรในแต่ละเขตจะมีกี่หมายเลขยังไม่สามารถตอบได้ เพราะจะต้องเป็นไปตามจำนวนพรรคที่ส่งสมัครในเขตนั้นๆ ขณะนี้มีพรรคการเมืองในระบบจำนวน 105 พรรค แต่ถึงเวลาปิดรับสมัครจะมีกี่พรรคไม่สามารถตอบได้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์