เปิดหน้า 5 ว่าที่นายกรัฐมนตรี หัวลวง-ตัวจริง ? ที่เห็นไม่ใช่ ที่ใช่ไม่เห็น

หากไม่มีอะไรพลิกล็อกถล่มทลาย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเปิดให้มีการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตได้ ภายในช่วงต้นค่อนไปทางกลางเดือน ก.พ. 2562

และช่วงเวลานั้นจะเป็น “เส้นตาย” สำหรับพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อยู่ในบัญชีของพรรค ต้อง “เปิดตัวนายกฯ” พร้อมแจ้งกับทาง กกต. ภายในวันสุดท้ายของวันเปิดรับสมัครเลือกตั้ง

ดังนั้น ไม่นานเกินรอจะเห็นหน้าค่าตาผู้ที่ถูกเลือกเป็นนายกฯ ในบัญชีพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคสาขา พรรคย่อย

หน่อย-ชัชชาติ คั่วนายกฯ พท.

เริ่มจากศึกชิงตั๋วนายกฯ ในบัญชีพรรคเพื่อไทย ขับเคี่ยวกันระหว่าง ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ 2 คน ที่ตีคู่กันมา

คนแรก-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่สู้อุตส่าห์ฝ่าฟันศึกในพรรค จนได้รับสถาปนาตำแหน่งให้เป็น ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรค แม้แต่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์คนเก่า ยังต้องหลีกทางให้ พ่วงกับการได้รับเลือกให้เป็น 1 ชื่อนายกฯในบัญชีพรรค ท่ามกลางแรงเชียร์ของ ส.ส.อีสานบางกลุ่ม-กลางตอนบน เหนือตอนล่าง และหัวเมืองกรุงเทพฯ

แต่แล้วก็กลับมีชื่อ แคนดิเดตคนที่สองขึ้นมาแข่ง-ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์คนในเพื่อไทย และเป็นที่เข้าใจได้มาตั้งแต่ต้น เพราะชื่อ “ชัชชาติ” ไม่เคยจางหายไปจากวงสนทนาเพื่อไทย และเริ่มแรงขึ้น ตั้งแต่ คสช.เปิดให้นักเลือกตั้ง ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองในเดือน เม.ย. 2561

ขณะที่ข่าวบางกระแสชี้ว่า ชื่อของ “ชัชชาติ” ถูกปล่อยออกมาให้ถูก “คัดค้าน” จากคนในพรรคบางกลุ่ม ที่ยัง “ฝังใจ” ว่า “ชัชชาติ” หายหน้า-หายตา ไปเป็น CEO บริษัทเอกชน ไม่ยอมร่วมชะตากรรมกับคนในพรรคหลังการรัฐประหาร แถมชื่อยังเคยปรากฏอยู่ในชื่อคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ของรัฐบาล คสช. จนต้องรีบปฏิเสธตำแหน่งในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

จู่ ๆ จะมา “ตัดหน้า” ชิงตำแหน่งนายกฯในบัญชี แบบลอยมา

หญิงหน่อยพ่ายเกมโชว์วิสัยทัศน์ 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการขึ้นเวทีคู่กันครั้งแรก บนเวทีชี้แจงจุดยืน-แนวทางพรรค ที่ “ชัชชาติ” โชว์สปีชแรก เมื่อ 21 ธ.ค. 2561 หลังกลับเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย โชว์ข้อมูลด้านเศรษฐกิจล้วน ๆ ก่อนที่ “คุณหญิงสุดารัตน์” ขึ้นพูดบนเวทีตามหลัง ชอตดังกล่าวถูกนำไปขยายในวงสนทนาแบบปากต่อปากของคนในพรรค ไม่ว่า “ฝ่ายเชียร์” หรือ “ฝ่ายชัง” ข้ามศักราชจาก 2561 มาเป็น 2562 จนถึงบัดนี้ยังมี ส.ส.เพื่อไทย ยังพูดถึงว่า “คุณหญิงสุดารัตน์” เพลี่ยงพล้ำให้กับ “ชัชชาติ” ตั้งแต่ยกแรก

เพราะ “คุณหญิงสุดารัตน์” ดันขึ้นเวทีหลัง แถมคุณภาพของเนื้อหาที่เตรียมไว้ยังด้อยกว่า “ชัชชาติ” ที่สุดแล้ว เมื่อกระแส “ชัชชาติ” คัมแบ็กติดตลาด คลิปวิดีโอที่เป็นสปีชแรกของ “ชัชชาติ” ก็ถูกปล่อยให้แพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดีย เบียดคู่คี่กับ “ภาพนิ่ง” เรียกเรตติ้ง

ยามลงพื้นที่ของคุณหญิงสุดารัตน์ในจังหวะเดียวกันก็มีการ “ปล่อยข่าว” ว่า “ชัชชาติ” จะขึ้นอันดับ 1 ในบัญชีนายกฯ แทน “คุณหญิงสุดารัตน์” โดยมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ โทร.มาเคลียร์คนในพรรค เปิดทางให้ “ชัชชาติ” จนแกนนำพรรคต้องออกมาปฏิเสธกันอลหม่าน

เวลาเดียวกัน “คุณหญิงสุดารัตน์” ออกตัวว่าเป็นผู้ชวน “ชัชชาติ” มาทำงานด้วยตัวเอง ด้วยเหตุผลว่า “เคยทำงานในรัฐบาลที่แล้ว และเป็นคนทำงานดี มีความสามารถ”

ที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครเป็น “หัวจริง-หัวหลอก” ในพรรคเพื่อไทย ต่างต้องได้รับ “ตั๋วพิเศษ” จาก “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ตัวจริงของพรรคมาแล้วทุกคน เมื่อบุคคลที่ได้รับ “ตั๋วพิเศษ” มาลงแข่งกันในสนามเพื่อไทย ใครไร้พวกในพรรค ก็ย่อมพ่ายแพ้และเฟดตัวไปแบบเงียบ ๆ

ตัวอย่างที่มีให้เห็น คือ “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” อดีตรองหัวหน้าเพื่อไทย ที่แพ้ราบคาบไปตั้งแต่ยกแรก

 

ทษช.ทาบ ดร.โกร่ง 

ส่วนตำแหน่งนายกฯในบัญชีพรรค ของ “ไทยรักษาชาติ” (ทษช.) ถูกจัดอันดับว่าเป็นพรรคเครือข่ายของเพื่อไทย ไม่ได้มีปัญหาเรื่องวางตัวนายกฯ ในนามพรรคให้ยุ่งยาก เหมือนพรรคพี่-เพื่อไทย เบื้องต้นมีชื่อของ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ที่สวมบทเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค เป็นตัววางนายกฯในบัญชีพรรค หลังยอมย้ายชายคาจากเพื่อไทย มาอยู่ ทษช.

แต่เมื่อ “ที่ว่าง” ในบัญชีของพรรค ยังว่างอีก 2 ชื่อ จึงมีข่าวว่า “ทักษิณ” ทาบ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งมีความช่ำชองด้านงานเศรษฐกิจ เข้ามาเป็นตัว “ชูโรง” ให้กับ ทษช. เคียงข้าง “จาตุรนต์” มีภาพที่เป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

นอกจากนี้ “ดร.โกร่ง” ที่เคยนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และช่วงหลังรัฐประหาร 2557 “ดร.โกร่ง” ยังแวะเวียนไปที่พรรคเพื่อไทย เพื่อ “อัพเดต” สถานการณ์เศรษฐกิจให้กับแกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นครั้ง-คราว เช่นเดียวกับ “ชัชชาติ”

แหล่งข่าวจาก ทษช.คอนเฟิร์มว่า รายชื่อที่จะมาเป็นนายกฯในบัญชีพรรคจะต้องมีส่วนผสมระหว่างคนในพรรคและคนนอกพรรค ซึ่งคนในมีแนวโน้มว่าจะเป็นนายจาตุรนต์ เพราะเป็นบุคคลที่มีความสามารถ และเป็นประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ส่วนคนนอกต้องมีภาพของความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และเป็นชื่อที่สังคมยอมรับไม่ต่างกับนายชัชชาติของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง ทษช.ได้ทาบทามให้ ดร.วีรพงษ์ เข้ามาเป็นนายกฯ ในบัญชีของพรรค

แต่ที่สุดแล้ว ชื่อนายกฯในบัญชี “เพื่อไทย-ทษช.” จะลงตัวก็ต่อเมื่อได้สัญญาณพิเศษ จาก “ทักษิณ” เพราะจริง ๆ แล้ว ยังมี “ที่ว่างในบัญชีนายกฯ” ให้คนนอกมาเสียบเพิ่มได้อีก นอกจาก “ชัชชาติ-ดร.โกร่ง”

“ประยุทธ์-อุตตม-สมคิด” 

ด้านพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แม้จะเป็นพรรคที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะอยู่ในบัญชี “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรค เนื่องจากมีภาพ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สวมบทบาทเป็นแกนนำของพรรค ยิ่งเพิ่มน้ำหนักความ “เป็นไปได้” มากยิ่งขึ้น

ทว่า…ทำไปทำมา “พล.อ.ประยุทธ์” กลับ “ตีตัวออกห่าง” เพราะนโยบาย “หั่นราคา” พรรคคู่แข่ง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มักออกอาการหัวเสีย-ปรามพรรคการเมืองให้หยุดขายฝัน

เกิดความ “ไม่เสถียร” ในกระแสความนิยมของพรรค จน “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” ที่ควบทั้งรองเลขาฯนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง-กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) พปชร. ต้องออกมากระชากเรตติ้งของพรรคอีกครั้ง

สุดท้ายแล้ว ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบรับ “เทียบเชิญ” ขึ้นบัญชีนายกฯของพรรค พปชร. ก็ยังมี “ตัวเลือก” ที่อยู่ในบัญชีนายกฯ ทั้ง “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรค แม้กระทั่ง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี แม่ทัพเศรษฐกิจรัฐบาล-คสช. ก็ฆ่าชื่อทิ้งออกจากสารบบไม่ได้

แหล่งข่าวจากแกนนำ พปชร.ระบุว่า นายกฯในบัญชีพรรค มีได้ 2 แบบ 1.พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในบัญชีพรรคเพียงคนเดียว กับแบบที่ 2 มีทั้ง “พล.อ.ประยุทธ์-สมคิด-อุตตม” ขายเป็นแพ็กเกจ

“ชวน” ตีคู่ “อภิสิทธิ์”

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แม้ลูกมือ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ต้องการเสนอชื่อ “อภิสิทธิ์” เป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ในบัญชีพรรคเพียงคนเดียว

ทว่าอดีต-ผู้สมัคร ส.ส.ภาคใต้ ต้องการเสนอชื่อ “ชวน หลีกภัย” ผู้มีบารมีในพรรค-ภาคใต้ “ตีคู่” ไปกับ “อภิสิทธิ์” เนื่องจากสนามเลือกตั้งปักษ์ใต้แข่งกันดุเดือดเลือดพล่าน-ตัดแต้มกันแหลกลาญ จากพรรคของนายสุเทพ-รปช. และพรรคประชาชาติแกนนำ ปชป.ภาคใต้จึงมองว่า การใส่ชื่อ “ชวน” ไว้ในบัญชี “แคนดิเดตนายกฯ” จะเป็น “แต้มต่อ-ตัวช่วย” ให้กับพรรค โดยเฉพาะผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้

หรืออีกทางเลือกหนึ่ง “อภิสิทธิ์” อยู่ในบัญชีนายกฯของพรรคแต่เพียงผู้เดียว ส่วนชื่อของ “นายหัวชวน” ถูกเก็บไว้ต่อรอง เป็นนายกฯ ก๊อก 2 หรือที่เรียกว่า “นายกฯคนนอก” หากเกิดอุบัติเหตุในการเลือกนายกฯจากพรรคการเมืองในรอบแรก

ภูมิใจไทยแบเบอร์อนุทิน

ส่วน “อนุทิน ชาญวีรกูล” คือ นายกฯในบัญชีพรรคภูมิใจไทย แบบ “แบเบอร์” ไม่ต้องแข่งกับใคร หลังจากสิ้นเสียงการเปิดตัวผู้สมัคร-นโยบายพรรค อย่างยิ่งใหญ่ต่อหน้าธารกำนัลที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต เมืองบุรีรัมย์

“ขอประกาศเป็น ศัตรูอันดับหนึ่งของความยากจน เอาเปรียบ เหลื่อมล้ำ ขออาสาทลายทุกข้อจำกัด ลดอำนาจรัฐเพื่อปากท้องประชาชน”

และถ้อยคำที่ “อนุทิน” ประกาศตัวพร้อมเป็นนายกฯ คือ “มันต้องเป็นแล้ว หมูไม่กลัวน้ำร้อนแล้ว และผมจะทลายทุกข้อจำกัด เพื่อลดอำนาจรัฐเพื่อปากท้องประชาชน”

สถานการณ์นายกฯในบัญชีพรรคแต่ละพรรคยังขับเคี่ยวจนวินาทีสุดท้าย ที่ใช่อาจไม่ใช่-ที่จริงอาจไม่จริง 

เดือนกุมภาพันธ์จะมีคำตอบว่าใครคือตัวจริง