เปิดบริสุทธิ์ พปชร.-ประชานิยมเอ็กซ์ตร้า โชว์สวัสดิการไม่ขายฝัน ชี้ขาดแพ้-ชนะ

โค้งสุดท้ายของเส้นทางสู่การเลือกตั้ง ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เคาะวันจัดการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62

หลายพรรคการเมืองใช้เป็น “จุดสตาร์ต” ในการหาเสียง-ขายนโยบายเพื่อเรียกคะแนนในช่วง 100 เมตรสุดท้าย…พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นหนึ่งในนั้น

4 สิ่งที่พรรคการเมืองต้อง “ถือธงนำ” ลงสู่สนามเลือกตั้ง คือ 1.ผู้สมัคร ส.ส.เขต 350 คน 2.ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน 3.บัญชีนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ และ 4.นโยบาย เมื่อกติกาเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี เข้มงวด-ติดดาบ อาทิ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นรายการเสียภาษีย้อนหลัง 5 ปี ทำให้พรรคการเมืองรวมถึง พปชร.ต้องสแกนกันละเอียดยิบ

“อุตตม สาวนายน” หัวหน้า พปชร.พร้อมกับอีก 3 รัฐมนตรี ที่ยอม “เสี่ยงตาย” ออกหน้าตั้งพรรคการเมืองใน-นอกทำเนียบ แทน “อาจารย์” –สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ท่ามกลาง “คำครหา” เป็น “นั่งร้าน” สืบทอดอำนาจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้า คสช. จนเกิด “ข้อกังขา” ของ “กรรมการ” ที่กลายมาเป็น “ผู้เล่น” ทำให้ถูกต้อง คำถามว่าจะกลายเป็น “คู่ขัดแย้ง” เสียเอง

“เหลืออีกโค้งสุดท้าย เข้าทางตรง ได้เห็นแน่นอนทั้งรายชื่อ ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรายชื่อนายกฯ 3 คน ไม่สืบทอดอำนาจให้ใครอย่างแน่นอน พรรคเกิดขึ้นมาได้อย่างไรเห็นกันอยู่ ในนี้มีใครติดยศไหม มีไหมที่ใครออกมายืนสั่งการ ไม่มี”

“จุดยืนก้าวข้ามความขัดแย้งชัดเจน สังคมไทยไม่สงบสุข พรรคถือว่าไปต่อไม่ได้ พรรคจะเสนอตัวนายกฯที่จะนำพาประเทศต่อไป ให้ประชาชนมาดูว่าเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำไหม ปรองดองไหม ยั่งยืนไหม ให้ประชาชนตัดสิน” 

สอดรับกับประกาศของพรรคเรื่อง “การเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรจะเสนอให้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” โดยเชิญชวนให้ กก.บห.ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด สมาชิก เสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรต่อ กก.บห.ในวันที่ 28 ม.ค. 62

ขณะที่นโยบาย พปชร.ที่มี 4 รัฐมนตรีใน “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” จึงถือว่าได้เปรียบพรรคการเมืองอื่น เพราะอิงแอบ-ล้อไปกับผลงานของรัฐบาล

“นโยบาย 7-7-7 ภายใต้ 3 พันธกิจหลักในวันนี้ วันหน้าอาจจะมากกว่านี้ เติมโอกาสที่คนไทยควรจะมีตั้งนานแล้วไม่มี วันนี้ต้องมี มีทั้งต่อยอด มีทั้งของใหม่ เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำได้จริง ไม่ขายฝัน”

นโยบาย 7-7-7 ภายใต้ 3 พันธกิจ คือ สวัสดิการประชารัฐ-สังคมประชารัฐ และเศรษฐกิจประชารัฐ ประกอบด้วย 7 นโยบายสวัสดิการประชารัฐ ได้แก่ 1.บัตรประชารัฐ 2.สวัสดิการรายกลุ่ม 3.สวัสดิการคนเมือง 4.หมดหนี้มีเงินออม 5.โครงการบ้านล้านหลัง 6.บ้านสุขใจวัยเกษียณ 7.สิทธิที่ดินทำกิน

7 นโยบายสังคมประชารัฐ ได้แก่ 1.การศึกษา 4.0 มีโอกาส มีอนาคต 2.กระจายศูนย์กลางความเจริญสู่ภูมิภาค 3.สร้างเมืองน่าอยู่ ใกล้บ้าน มีงานทำ 4.เมืองอัจฉริยะสีเขียว เพื่อความสุขของทุกคน 5.ชุมชนประชารัฐ ร่วมพัฒนาบ้านเกิด 6.สังคมประชารัฐสีขาว 7.Bangkok 5.0

และ 7 นโยบายเศรษฐกิจประชารัฐ 1.ยกระดับความสามารถของผู้ผลิต 2.ก้าวสู่เกษตรประชารัฐ 4.0 3.กระจายรายได้ กระจายโอกาสด้วยการเกษตรชุมชน 4.ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจแบ่งปัน 5.สร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว (BCG) 6.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งอนาคต 7.ลดอุปสรรค เพิ่มโอกาสการดำเนินธุรกิจ

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รองหัวหน้า พปชร. “มือเขียนนโยบาย” ฉายภาพความแตกต่างระหว่างนโยบายประชารัฐกับประชานิยมว่า ประชานิยม คือ นโยบายที่ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงวินัยทางการเงิน-การคลัง

“เราพูดถึงหลักประกันสังคมถ้วนหน้า ทุกคนต้องได้ ต้องเข้าถึง ได้รับการบริการที่ดีพอ และบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตถ้าใช้หุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มเลย”

บางนโยบาย เช่น บัตรประชารัฐ บ้านล้านหลัง สิทธิที่ดินทำกิน ไปก๊อบปี้ผลงานของรัฐบาลหรือไม่ เขายอมรับว่า รัฐบาลนี้มีอะไรดี พปชร.ต่อยอด

“สิ่งที่เราจะเริ่มการเมืองชุดใหม่ คือ นโยบายชุดใหม่ จะต้องไม่ใช่นโยบายที่เอาของเก่ามาขาย แต่ต้องเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนและประเทศไทย”

“เรากำลังต่อยอดบัตรสวัสดิการประชารัฐ ขยายผลออกมาเป็นบัตรประชารัฐ ขยายจากคนรายได้น้อยไปสู่อีก 4 กลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ กลุ่มคนสูงวัย คนพิการ สตรีมีครรภ์ ผู้ใช้แรงงานและอาชีพรับจ้าง”

“หลักประกันสังคมถ้วนหน้า” จึงเป็นการต่อยอดจากนโยบาย “บัตรทอง” ซึ่งไม่ได้มีเพียงเรื่องสุขภาพเท่านั้น ยังขยายไปถึงเรื่องการศึกษา-รายได้

เมื่อถึงฤดูการเลือกตั้ง พรรค การเมืองมักงัดไม้ตาย-แจกเงิน ? “ไม่ใช่การแจกเงินเพราะในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีมาเร็ว โลกกำลังถูก disrupt ต้องป้องกันและสร้างสิ่งใหม่ คือ เสริมทักษะ สร้างอาชีพ มีรายได้ ส่วนจะคุ้มหรือไม่เป็นการใช้เงินในการรีไซเคิลมนุษย์เพื่อให้ทำงานต่อได้”

“เป็นเรื่องไกลตัวมาก ถ้าใช้ในการหาเสียงลำบาก แต่ทำให้ยั่งยืน เมื่อการเลือกตั้งคนก็เทไปที่นโยบายสวัสดิการเพราะจับต้องได้ เกี่ยวกับคนส่วนมาก แต่จะไม่พูดถึงเรื่องอนาคตก็ไม่ได้”

“นโยบายที่จะเป็นตัวชี้ขาดการแข่งกันของพรรคการเมือง คือ นโยบายสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจน แต่นโยบายของพรรคยังประกอบไปด้วยคน 3 กลุ่ม ทั้งคนฐานราก คนชั้นกลาง และคนรุ่นใหม่ เพื่อก้าวสู่ศตวรรษที่ 21”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!