“กกต.”จ่อยกร่างแนวทางปฏิบัติขรก.การเมืองช่วงเลือกตั้งฉบับใหม่ ชงครม.สัปดาห์หน้า

วันนี้ (31 มกราคม) เวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าหารือกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ถึงแนวทางการวางตัวของข้าราชการการเมืองช่วงการเลือกตั้ง ว่า ข้อเท็จจริง กกต. ได้ขอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเกี่ยวกับการวางตัวของข้าราชการ โดยในที่ประชุมจะเชื่อมโยงไปยังปีเก่าๆจำนวนมาก ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ปฏิบัติต้องไปเปิดเอกสารแนวทางการปฏิบัติจำนวนมาก จึงจะมีการยกร่างในเรื่องดังกล่าวขึ้นมาใหม่ โดยนำข้อมูลจากของเดิม และกกต. จะนำเสนอ ที่ประชุมครม.พิจารณา คาดว่าจะเป็นในสัปดาห์หน้า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ซึ่งในส่วนของกกต.มีเรื่องที่รับผิดชอบเพียงเท่านี้ สวนเรื่องอื่นๆที่ยังมีข้อสงสัยนั้นในที่ประชุมกำลังพิจารณากันอยู่ เพราะกกต.ไม่มีหน้าที่

รองเลขาฯกกต. กล่าวว่า ส่วนการพิจารณาถึงบทบาทของนายกรัฐมนตรี หลังจากตอบรับการเสนอชื่อว่าอะไรทำได้หรือไม่ หากกกต. จะต้องหารือ เป็นไปตามที่กฎหมายเปิดช่องให้ ส่งหนังสือให้กกต.พิจารณาเป็นทางการ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม กกต. อย่างไรก็ตามในที่ประชุม ได้มีการพูดถึงกรณีที่กกต. หรือผอ.กกต.ประจำจังหวัด หรือกรรมการการเลือกตั้งประจำเขต ร้องขออะไรไปยังส่วนราชการ ก็ขอให้ให้การสนับสนุน รวมถึงเรื่องการติดป้ายหาเสียง ซึ่งกฎหมายให้กกต.กำหนด ก็ได้มีการออกระเบียบ เพื่อขอให้ส่วนราชการให้การสนับสนุนในการติดตั้ง ซึ่งในส่วนนี้จะได้ขอให้ครม. ออกเป็นมติ เพื่อเป็นการกำกับส่วนราชการอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ส่วนราชการเกิดความสบายใจ

เมื่อถามว่า การลงพื้นที่หรือการประชุมครม.สัญจรยังคงทำได้หรือไม่ รองเลขาฯกกต. กล่าวว่า นายวิษณุกำลังหารือในเรื่องนี้อยู่ ตนไม่สามารถตอบอะไรได้ และกกต.ก็ไม่เคยหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาหารือ ทั้งนี้พรรคการเมืองที่เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกในบัญชีพรรคจะต้องระวังอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ในกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ตอบรับนั้น พรรคดังกล่าวไม่ต้องระวังอะไร อย่าทำผิดกฎหมายก็พอ เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองขณะนี้ก็ดีขึ้นเยอะ สามารถหาเสียงได้ โดยไม่พูดพาดพิงถึงคนอื่น หรือหากไม่มั่นใจ เพราะเห็นว่าผู้สมัครรายใดหรือพรรคการเมืองใดทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต หรือฝ่าฝืนกฎหมายสามารถยื่นคำร้องต่อกกต.ได้เลย จะได้ดำเนินการ สืบสวนไต่สวนตามกระบวนการ

รองเลขาฯกกต. กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายหารือกับกกต.ว่าอะไรทำได้หรือไม่นั้น ตนได้ปฏิเสธแล้ว เพราะกกต.ไม่รับหารือ เนื่องจากการกระทำผิดบางเรื่องอยู่ในอำนาจกกต.พิจารณา แต่บางเรื่องอยู่ในอำนาจศาลจะพิจารณา หากมีผู้ร้องต่อศาลศาลจะวินิจฉัย ดังนั้นกกต. จะไม่วินิจฉัยก่อนจนมีการร้องขึ้นมา เมื่อเคสยังไม่เกิด กติกามันหยุมหยิมมาก รอให้เคสเกิดขึ้นมาค่อยว่ากัน ซึ่งกกต.มีแนวทางการทำงานแบบนี้

 


ที่มา  มติชนออนไลน์