“พล.อ.บุญสร้าง” ผ่าตัดตำรวจ “คสช.ขีดเส้นไว้แล้วว่า…ปฏิรูปได้แค่ไหน”

ระงมไปด้วยเสียงร้องด้วยอารมณ์ผิดหวังของภาคประชาชนในนามเครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) POLICE WATCH ต่อคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ที่มี “พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์” อดีตผู้บังคับบัญชาทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธาน

เสียงยี้…อาจไม่ได้เป็นเพราะ “พล.อ.บุญสร้าง” มานั่งเป็นหัวโต๊ะปฏิรูปวงการสีกากี ทว่ากลับเป็นเสียงสะท้อนจากโปร์ไฟล์กรรมการปฏิรูปตำรวจในโควตาของข้าราชการตำรวจ 15 คน ที่ไม่เคยมีผลงานปฏิรูปเป็นที่ประจักษ์

“พ.ต.ท.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร” อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งความหวังต่อคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ 36 คน ว่า คงหวังได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะรายชื่อที่ออกมามีสัดส่วนของข้าราชการตำรวจอยู่ถึง 15 คน โดยเฉพาะคนที่ยังรับราชการอยู่ถือเป็นผู้มีประโยชน์ทับซ้อน ไม่น่าจะแต่งตั้งเข้ามา และที่ผ่านมาไม่เคยมีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปตำรวจ จึงเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะปฏิรูปองค์กรตำรวจให้เล็กลง อำนาจน้อยลง ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกจะมีกี่คนที่เข้าใจบทบาทหน้าที่ตำรวจเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจอย่างแท้จริง

“สำหรับ พล.อ.บุญสร้าง ถึงแม้ท่านจะเป็นประธาน เป็นตัวของตัวเองสูง แต่โดยกฎหมายก็เป็นเพียงเสียงหนึ่งและต้องรับผิดชอบต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน แต่เวลาโหวตเพื่อลงมติในเรื่องสำคัญ ก็ผลักดันได้ยาก”

ยิ่ง “พล.อ.บุญสร้าง” เป็น “เพื่อนเลิฟ” พล.อ.ประวิตร ผู้มีบารมีใน คสช. กำกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นอาจารย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ทำให้อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ สปช. เชื่อว่า การปฏิรูปครั้งนี้ผู้มีอำนาจได้ขีดเส้นไว้แล้วว่า ต้องการปฏิรูปแค่ไหน

“การปฏิรูปต้องไม่ขีดเส้น แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญมาตรา 258 แนวทางการปฏิรูปตำรวจ 10 ด้านต้องมองข้ามไปบ้าง”

“พ.ต.ท.วิรุตม์” ชี้ว่า หัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ คือ 1.แยกตำรวจออกจากงานสอบสวน 2.อัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมสำนวนคดีสำคัญ 3.ตำรวจต้องสังกัดจังหวัด ผวจ.มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้าย

การที่ “คนนั่งหัวโต๊ะ” ชื่อ “พล.อ.บุญสร้าง” ผู้ได้ขนานนามว่าเป็นนายทหารเต็มขั้น ดีกรี “ด็อกเตอร์” และยังได้รับบารมีจาก พล.อ.ประวิตร “เพื่อนร่วมรุ่น ตท.6” และได้รับเครดิตจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นถึง “อาจารย์”

งานนี้จึงไม่ง่ายที่นายพลสีกากีที่อยู่นอก-ร่วมวงปฏิรูปจะกอดอำนาจไว้ ไม่ยอมปล่อย ถึงจะมีทัศนคติลึก ๆ ว่า จะให้ทหารมาปฏิรูปตำรวจได้อย่างไร

สำหรับภารกิจของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ประกอบด้วย 3 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.ปฏิรูปโครงสร้าง อำนาจและหน้าที่ 2.ปฏิรูประบบการสืบสวนและสอบสวน 3.ปฏิรูปการแต่งตั้ง-โยกย้ายตำแหน่ง ภายในระยะเวลา 9 เดือน

โดยเฉพาะระบบการแต่งตั้ง-โยกย้าย ที่สร้างวิกฤตศรัทธาในวงการสีกากี และยกเครื่องระบบป้องกันไม่ให้ถูกนักการเมืองล้วงลูกการแต่งตั้ง-โยกย้าย ภายหลังรัฐบาล-คสช.คืนอำนาจ ได้รัฐบาลใหม่

การให้ “พล.อ.บุญสร้าง” ซึ่งเป็นทหารอาชีพ อาจยกเครื่องวงการสีกากีโดยใช้รูปแบบการบริหารเป็น “สภากลาโหม” และอาจล้างระบบการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการตำรวจชั้นนายพล ให้เป็นรูปแบบเดียวกับ “คณะกรรมการกลาโหม” ก็เป็นได้

“พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” อดีต ผบ.ทบ. หัวหน้าปฏิวัติ 19 กันยาฯ เคยให้ความเห็นไว้ถึงการปฏิรูปตำรวจว่า ควรมีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจให้เหมือนระบบทหาร-ยึดความเป็นอาวุโสเป็นที่ตั้ง

พลิกประวัติ “พล.อ.บุญสร้าง” ขณะเป็นรอง ผบ.สส. เคยอยู่ร่วมในคืนยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 แต่มิใช่ฝ่ายกองกำลังปฏิวัติ เพราะตัวเขาไม่อยากให้มีการปฏิวัติ

อันเป็นที่ 3 คีย์แมนสำคัญในรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ไปรวมตัวตั้งหลักเพื่อจะตั้งกองบัญชาการสู้ที่ฐานบัญชาการกองทัพไทย ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ

ทว่า เขาเป็นคนหย่าศึกระหว่างทหารด้วยกันเอง เพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือดจนได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษ 19 กันยา”

ทัศนคติการเมือง “พล.อ.บุญสร้าง” เบื้องลึกฐานความคิดยังเป็นทหารฝ่ายประชาธิปไตยที่เชื่อว่า “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง” ไม่ใช่ “การปฏิวัติ” แต่ที่ผ่านมามองว่า “ทหารคือเหยื่อ”

ปัจจุบันเป็นทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมการและที่ปรึกษาในคณะกรรมการเพื่อเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ป.ย.ป.ที่มี พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน

จากโปรไฟล์-คนข้างหลังและทัศนคติทางการเมือง “พล.อ.บุญสร้าง” อาจเป็นคนที่ไว้ใจได้มากที่สุดในสถานการณ์ปฏิรูปตำรวจ ของรัฐบาล-คสช.