พท.-ปชป.ระทึก! ไพรมารี่โหวต แม่น้ำ 3 สาย หักดิบพรรคการเมือง

ถึงแม้ว่าเสียงคัดค้านของพรรคการเมือง ทั้งขาใหญ่-ขาเล็ก จะไม่ค่อยเต็มถ้อยเต็มคำนักต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ…. เพราะ “ผู้ร่างกติกา” ผลิตวาทกรรม “การมีส่วนร่วม” ของ “โหวตเตอร์” ทว่านักการเมือง ที่เป็น “ผู้เล่นหลัก” มองว่ากำลังฉุดรั้งพรรคการเมืองให้ดำดิ่งลงก้นหุบเหว

โดยเฉพาะการนับคะแนนแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ตามกติกาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และระบบการคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเบื้องต้น หรือ “ไพรมารี่โหวต” ทั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต-ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

พรรคเพื่อไทย (พท.) ออกแถลงการณ์ว่า หลักการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในทางการเมืองเป็นสิ่งที่ดีและเป็นไปตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ข้อสำคัญคือ วิธีการดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับสภาพของความเป็นจริงของสภาพการณ์ทางการเมืองและระบบพรรคการเมืองที่เป็นอยู่ และต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาและส่งผลกระทบต่อการส่งผู้สมัครของพรรคการเมือง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ร่อนจดหมายเปิดผนึกยาวเหยียด 7 หน้ากระดาษ ถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตั้งคำถามถึง “ความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ” ตามร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองเลือกคนผู้สมัครต้องมีโอกาสชนะ

“นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ” รองหัวหน้า ปชป. วิเคราะห์ว่า ข้อดีของระบบไพรมารี่ คือ ทำให้ประชาชนที่เป็นสมาชิกพรรคมีส่วนร่วม-ตื่นตัวในทางการเมืองตามระบบพรรคการเมืองมากขึ้นแต่ก็จำกัดเฉพาะสมาชิกพรรคในเขตนั้น ๆ เท่านั้น แต่จะมีปัญหาตามมาเพราะสมาชิกพรรคที่จะมาโหวตเลือกตัวแทนพรรคของเขตนั้นจริง ๆ มีน้อย ด้วยข้อจำกัดในเรื่องการเดินทางและค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้สมาชิกถูกแทรกแซงได้ง่ายและไม่ได้ตัวแทนพรรคของเขตนั้นอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะสามารถโหวตเลือกจนได้ตัวแทนเขตของพรรคที่เป็นคนดีเข้ามาจริง ๆ แต่อาจยังไม่ดีพอที่จะเป็นคู่แข่งกับพรรคฝ่ายตรงข้ามได้

“พรรคจึงต้องเลือกให้ได้ทั้งคนดีและคนที่มีโอกาสชนะพรรคคู่แข่งในการเลือกตั้งได้ด้วย”

สำหรับการให้สาขาพรรคและตัวแทนประจำจังหวัดมีอำนาจเหนือกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค “บอกได้เลยว่าเจ๊ง”

“สมมุติเปรียบพรรคการเมืองเป็นบริษัทเอกชนจะให้อำนาจสาขาเหนือสำนักงานใหญ่ได้อย่างไร”

การเมืองแตก-แบ่งภาคร้าวลึก

ขณะที่ระบบไพรมารี่โหวต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นอกจากจะ “สุ่มเสี่ยง” ต่อการ “ขัดรัฐธรรมนูญ” เนื่องจากไม่คำนึงถึงความหลากหลาย-ความทัดเทียมระหว่างเพศของผู้สมัครแล้ว ปัญหาใหญ่ที่ตามมา คือ

“เวลา ปชป. โหวตเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ คนปักษ์ใต้ก็จะเลือกแต่คนปักษ์ใต้ ไม่มีทางเลือกคนอีสานขึ้นมาให้มีลำดับต้น ๆ ในบัญชีรายชื่อของพรรค”

ตรงข้ามกับ พท. ที่ผู้สมัคร ส.ส.ในบัญชีรายชื่อ อาจจะเลือกแต่คนอีสาน-คนเหนือ ไม่มีคนจากภาคใต้ กลายเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมือง 2 พรรค ที่เกิดจากการแบ่งภาคของประชาชนอย่างชัดเจน-ร้าวลึก จนเกิดวิกฤตความแตกแยกทางความคิด

“ไพรมารี่โหวตจึงเป็นระบบในอุดมคติที่ยังคิดไม่สุด”

อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของนักการเมืองถึงแม้ว่ากติกาจะถูกเล่นแร่แปรธาตุและนำมาใช้กับการเลือกตั้งครั้งหน้าจริง “นิพิฏฐ์” บอกว่า พรรคการเมืองต้องปรับตัว เตรียมทางเลี่ยง เพราะพรรคไม่มีทางปล่อยให้สมาชิกพรรคออกไป “ฟรีโหวต” เดินไปเลือกคนที่ไม่รู้จัก-เลือกคนที่รู้ว่าส่งลงสนาม (จริง) เลือกตั้ง ก็ “สอบตก” แน่นอน

“สุดท้ายแล้วพรรคก็ต้องเลือกคนที่ได้รับคะแนนมากที่สุดเพื่อโอกาสในการชนะพรรคฝ่ายตรงข้ามในการเลือกตั้ง”

แห่ลง ส.ส.เขต หนีปาร์ตี้ลิสต์

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เตรียมทางหนีทีไล่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่า ขณะนี้พรรคกำลังปรับตัวให้เข้ากับระบบไพรมารี่โหวตที่จะเกิดขึ้น โดยเลือกคนที่เกาะติดพื้นที่จริง ประชาชนในพื้นที่รักจริง ๆ ส.ส.เขตจึงเหมือนเป็นหัวคะแนนของพรรค

“ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คนที่มีชื่อเสียง แต่คนในพื้นที่ไม่รู้จัก จะไม่ได้รับเลือกให้ลงสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต”

ด้วยการนับคะแนนแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ทำให้การคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ อิงกับคะแนน ส.ส.ระบบเขต ซึ่งพรรคที่ได้คะแนนรวมของ ส.ส.เขต “เต็มเพดาน” ที่พรรคหนึ่งได้รับ จะทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ สอบตกกันทั้งกระบิ

“พรรคการเมืองใหญ่ที่ทะเลาะกันอยู่ตอนนี้เพราะแย่งกันลง ส.ส.เขตกันหมด ไม่มีใครอยากลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ”

การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ใช้ระบบ “บัตรใบเดียว” ทำให้การลงคะแนนได้ “เลือกคนที่เรารัก แถมพรรคที่เราไม่ชอบ” หรือ “เลือกคนที่ไม่รัก แต่แถมพรรคที่เราชอบ”

พรรคทหารติดกับดักไพรมารี่

“นิพิฏฐ์” ฟันธงว่า ระบบไพรมารี่โหวตนี้จะสร้างปัญหาให้กับพรรคทหาร เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องหาผู้สมัครที่จะลง ส.ส.ระบบเขต ที่มีฐานเสียงในพื้นที่แน่นจริง ๆ แต่ต้องยอมรับว่าทหารลงพื้นที่ได้ไม่เก่งเท่านักการเมืองแน่”

พท.เกาะติดพื้นที่กันเหนียว

ฟาก พท.หลังทีมกฎหมายพรรคสุมหัวศึกษากฎเกณฑ์ไพรมารี่โหวตจนตกผลึก จึงส่ง “ชูศักดิ์ ศิรินิล” หัวหน้าฝ่ายกฎหมายออกมาชำแหละข้อเสียของไพรมารี่โหวตเป็นข้อ ๆ และมีการจับตาการแก้ปมไพรมารี่โหวตอย่างใกล้ชิด

แต่ฝ่าย ส.ส.เจ้าของพื้นที่ยังคงยึดพื้นที่เดิมอย่างเหนียวแน่น เพราะเชื่อว่าแม้จะใช้ระบบไพรมารี่โหวต แต่บรรดา ส.ส.ของพรรคก็ยังเชื่อว่าพรรคต้องหาวิธีส่งเจ้าของพื้นที่ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่เช่นเดิม ถึงแม้ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม

กกต. 50/50 จัดไพรมารี่สะดุด

“ศุภชัย สมเจริญ” ประธาน กกต.บอกว่า สอบถามผู้ปฏิบัติด้านกิจการพรรคการเมือง ด้านบริหารงานเลือกตั้งว่าทำได้หรือไม่ พนักงานผู้บริหารระดับสูงบอกว่าทำได้ ไม่มีปัญหา จึงไม่จำเป็นต้องไปคัดค้านอะไร

“แต่ก็ต้องมาดูตอนปฏิบัติอีกทีว่า เมื่อออกมาจริง ๆ แล้ว จะทำได้หรือไม่ได้ เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขในอนาคต ถ้ามีปัญหาก็ตามแก้ทีละจุด”

กกต.จึงมีมติว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560

กรธ. เตรียม 3 ปม งัดข้อ สนช.

สวนทางกับมติของ กรธ.เตรียมส่งเรื่องให้ สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย กรธ. 5 คน สนช. 5 คน และ กกต. 1 คน เพื่อหาข้อยุติไพรมารี่โหวต 3 ประเด็น

1.ที่พบว่าเนื้อหาไม่สมบูรณ์ 2.ที่อาจมีผลกระทบต่อระยะเวลาการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 3.การกระทบสิทธิของประชาชนและพรรคการเมืองต่อการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

นับจากนี้มีเวลาไม่ถึง 15 วันที่ กมธ. ร่วม 3 ฝ่ายจะหาข้อยุติ ทิศทางจะออกได้ 3 ทาง

ถก กมธ.ร่วม ออก 3 แนวทาง

ทางแรก สูตรประนีประนอม สนช. กกต. และ กรธ. สามารถตกลงหาข้อยุติกันได้ โดยมีการปรับแก้ระบบไพรมารี่โหวตให้ “ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น” ตามที่ กรธ.เสนอ ก่อนส่งให้ สนช.อนุมัติ

ทางสอง สนช.และ กกต. เป็นฝ่ายเสียงข้างมากยืนยันว่าไพรมารี่โหวตไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จะทำให้ กรธ. 5 คนกลายเป็นเสียงข้างน้อย 6 ต่อ 5 เสียง จากนั้นส่งไปให้ที่ประชุม สนช.เห็นชอบอีกครั้ง

“กรธ.จะไม่สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดได้ จนกว่าร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการบังคับใช้กฎหมายไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะมีอำนาจในการพิจารณา”

ทางที่สาม เป็นไปได้น้อยที่สุด คือ สนช. กกต. และ กรธ. ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยฝ่าย สนช.และ กกต.ถือเสียงข้างมาก และส่งร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองไปให้ สนช.อนุมัติ แต่ที่ประชุม สนช.ใหญ่ กลับเห็นด้วยกับเสียงข้างน้อย คือ กรธ. ซึ่งจะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 167 เสียง จาก 250 เสียง ของ สนช.ลงมติคว่ำร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ กรธ.ต้องไปร่างใหม่

หวยออกสูตร “ประนีประนอม”

ทว่าแหล่งข่าวจาก กรธ.เชื่อว่า ผลของการประชุม กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายจะได้ข้อยุติ ตามสูตรประนีประนอม เพราะเรื่องไพรมารี่โหวตไม่ได้เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง กรธ. กับ สนช. แต่เป็นเรื่องที่ กรธ.เห็นว่าต้องทำให้ไพรมารี่โหวตสมบูรณ์มากขึ้นและบังคับใช้ได้โดยที่ไม่มีปัญหาในอนาคต

แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว หากเสียงของ กรธ.กลับกลายเป็นเสียงข้างน้อย-ไพรมารี่โหวตไม่ถูกแก้ไข นักการเมือง ผู้เล่นหลัก คงต้องยอมรับชะตากรรม-หาทางหนีทีไล่เอาดาบหน้า