หมอวรงค์ ชี้ การต่อสู้คดี “ยิ่งลักษณ์” เป็นเรื่องทุจริตเทียบ “อองซาน ซูจี” ไม่ได้

หมอวรงค์ ระบุการต่อสู้คดียิ่งลักษณ์เป็นเรื่องทุจริตเทียบอองซานซูจีไม่ได้ ย้ำอนาคตการเมืองต้องคิดนโยบายเพื่อสร้างความยั่งยืน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางการเมืองหลังจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่เดินทางมาศาล และมีการออกหมายจับว่า ก่อนหน้านี้คนของพรรคเพื่อไทยก็ออกมายันตลอดว่าเขาจะมาฟังผลคำพิพากษา และนางสาวยิ่งลักษณ์ก็ปรากฏตัวผ่านสื่อตลอดจนไม่รู้สึกว่าจะไม่มาศาล

ผมคิดว่าเขาคงไม่มั่นใจในผลของการต่อสู้ในคดีที่ผ่านมา เหมือนการทำข้อสอบ คนทำข้อสอบก็จะรู้ตัวเองว่าทำได้ดีหรือไม่ ถ้าใครทำข้อสอบไม่ได้ก็ไม่อยากไปฟังผลสอบ

ที่สำคัญ การต่อสู้ในคดีนี้ไม่ใช่คดีการเมือง หรือถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ที่ฝ่ายเพื่อไทยพยายามไปเปรียบเทียบกับอองซานซูจี แต่การต่อสู้ครั้งนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับการทุจริต ถ้าผลออกมาผิด ก็ไม่ง่ายที่จะบิดเบือนประเด็นว่านี่คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะประชาชนมีความเข้าใจการทุจริตของโครงการรับจำนำข้าวกันมากขึ้น รวมทั้งประชาชนมีการใช้สื่อออนไลน์ที่ประชาชนมี ช่วยกันเผยแพร่ข่าวสาร

สิ่งที่น่าเห็นใจคือ พี่น้องประชาชนที่ถูกพามาที่ศาล คล้ายๆกับถูกพามาให้เสียเวลา จึงไม่แปลกใจที่เมื่อวานนี้ ยิ่งลักษณ์โพสต์เฟสให้รอฟังผลที่บ้าน เพราะคงรู้อยู่ในใจแล้วว่าจะมาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์คงอยากฟังคดีนายบุญทรงก่อนด้วยว่าจะเป็นอย่างไร จะได้ประเมินคดีของตนเองได้ถูก เนื่องจากคดีมีความเกี่ยวพันกัน และอัยการได้นำคดีของนายบุญทรงอยู่ชุดเดียวกับคดียิ่งลักษณ์ด้วย

ส่วนการดำเนินการของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ผมคิดว่า 27 ก.ย. แทบจะไม่ต้องไปคิดแล้วครับ เพราะอีกหนึ่งเดือน ทางพรรคคงไม่มีอะไร เป็นเรื่องกระบวนการของกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่พรรคต้องทำนั่นคือการชี้แจงความจริง ถ้ามีการบิดเบือนเกิดขึ้น

ต่อประเด็นว่า ล่าสุดมีข่าวว่าเป็นการเปิดทางให้น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีนั้น นพ. วรงค์กล่าวว่าอย่างน้อย ถ้ามองในรูปคดีจำนำข้าว เขาคงสู้ไม่ได้

นพ.วรงค์ กล่าวถึงทิศทางการวางนโยบายสินค้าเกษตรไทยหลังผลตัดสินคดีนี้ว่า คดีรับจำนำจะมีผลอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการรับจำนำสินค้าเกษตร ในราคาที่สูงกว่าตลาด เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาได้รับการพิสูจน์แล้วว่า จะนำไปสู่ความเสียหาย และการทุจริตที่สูงมาก ผลประโยชน์จะถึงมือเกษตกรไม่เต็มที่ แต่จะมีกระบวนการที่มาแสวงหาผลประโยชน์

ถ้าหากรัฐบาลใช้จังหวะให้ประชาชนได้เห็นผลเสียของนโยบายดังกล่าว แทบจะกล่าวได้ว่าการกำหนดนโยบายทางการเมืองที่เกี่ยวกับการรับจำนำสินค้าเกษตรแทบจะปิดประตู และไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก การวางแผนนโยบายทางการเมืองจะนำไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น แต่ถ้ารัฐบาลไม่ฉวยจังหวะ ปล่อยไปตามธรรมชาติ นานๆไปให้คนลืม การรับจำนำก็มีโอกาสกลับมาได้ เพียงแต่ปรับรูปแบบ และวิธีการ

ส่วน แนวทางของพรรคการเมืองจะวางนโยบายหาเสียงอย่างไร เพื่อบาลานซ์ให้ได้ทั้งคะแนนเสียงและต้องรับผิดชอบนโยบายที่วางไว้ให้ปฏิบัติได้จริง นั้น นพ. วรงค์มองว่า ต่อไปคงยากมากที่จะกลับไปหาจำนำ การค้นนโยบายที่ให้เกิดความยั่งยืนน่าจะได้เห็นในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ขณะเดียวกัน นโยบายในการช่วยเหลิอเฉพาะหน้าก็ยังมีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ผลของนโยบายจำนำที่เกิดขึ้น เป็นจังหวะที่ดีมากของประเทศ ที่จะร่วมกันรณรงค์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่เพียงแต่เรื่องทางการเกษตร แต่หมายถึงการปฏิรูปด้านอื่นๆด้วย เพราะประชาชนคงเบื่อหน่ายกับปัญหาหลายๆด้านของประเทศที่เกิดขึ้น เพียงแต่รัฐบาลต้องฉวยจังหวะให้เป็น และเดินให้ถูกทิศทาง ประกอบกับใช้พลังในการขับเคลื่อนให้เป็นเท่านั้น