คมเฉือนคม ปาร์ตี้ลิสต์นัมเบอร์วัน วัดดีกรี 10 ว่าที่รัฐมนตรีพรรคใหญ่

รายงานพิเศษ

 

24 มี.ค. 62 วันหย่อนบัตรเลือกตั้งเดินมาถึง “จุดตัด” บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้ง เมื่อ “นักแสดงนำ-นักแสดงแทน” ออกมาเปิดหน้าสวมบทบาทในฉากการเมืองไทย

ทั้งรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต 350 คน ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) 150 คน และผู้สมัคร ว่าที่ นายกรัฐมนตรีของทุกพรรคการเมืองถูกเปิดออก ได้เห็นหน้าตานักการเมืองทุกพรรค

เพื่อไทย-ทษช.ใกล้ชิด” ตระกูลชินฯ

สำหรับ 10 ชื่อปาร์ตี้ลิสต์ “เพื่อไทย” ไม่ผิดคาดมากนัก เพราะเป็นแกนนำที่คอการเมืองคุ้นหน้า และมี “บทนำ” ในพรรค ทั้งนี้ 10 อันดับแรกของพรรคเพื่อไทย พบว่า อันดับ 1.พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค อันดับ 2.คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้ง และแคนดิเดตนายกฯ 3.ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ 4.ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค 5.เสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรค 6.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานยุทธศาสตร์ปราศรัยหาเสียง 7.ปลอดประสพ สุรัสวดี คณะทำงานเศรษฐกิจ 8.โภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย 9.พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และ 10.เกรียง กัลป์ตินันท์ แกนนำกลุ่ม ส.ส.อีสานใต้

แม้ว่าแกนนำเพื่อไทยหลายคนไม่ติดอันดับ 1-10 แต่ไม่กังวล เพราะคาดหวังตำแหน่งรัฐมนตรีมากกว่า

ส่วนพรรคเครือข่าย “ไทยรักษาชาติ” (ทษช.) กลับมีปัญหา เมื่อ “นักเลือกตั้ง” ที่อยู่ในเสื้อคลุมของแกนนำ นปช. ยอมย้ายตัวเองมาเป็นฐานให้ ทษช. กลับต้องผิดหวังกับอันดับปาร์ตี้ลิสต์ เพราะตนเองมีชื่อไปอยู่ลำดับมากกว่าอันดับที่ 20 ทำให้โอกาสกลับไปนั่งเก้าอี้ผู้แทนฯมีจำนวนน้อยลงไป แม้ว่ากรรมการบริหารพรรคจะบอกว่า เซฟตี้โซนที่จะเป็น ส.ส.อยู่ใน 50 อันดับก็ตาม

ส่องอันดับ 1-10 ปรากฏชื่อ 1.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค 2.จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค 3.นายฤภพ ชินวัตร ลูกชายของพายัพ ชินวัตร น้องขายในไส้ของ “ทักษิณ” 4.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ในฐานะมือเปิดดีลตั้งพรรค ทษช. ต่อสาธารณะ 5.มิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค 6.ขัตติยา สวัสดิผล รองโฆษกพรรค คนสนิท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 7.ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) 8.คณาพจน์ โจมฤทธิ์ 9.พิชัย นริพทะพันธุ์ ประธานคณะทำงานฝ่ายเศรษฐกิจ 10.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล อดีตประธาน นปช.ราชบุรี

สามมิตร-กปปส. Win-Win

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ฝุ่นตลบที่สุดไม่แพ้ เพื่อไทย-ทษช. เพราะกว่า “บัญชีปาร์ตี้ลิสต์” ทั้ง 120 รายชื่อจะ “ลงตัว” ต้องวัดกำลังภายในพรรคจนอ่อนแรง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานยุทธศาสตร์ภาคอีสาน-อดีตแกนนำกลุ่มสามมิตร ออกมายืนหัวแถวสยบภาพเกาเหลาระหว่างกลุ่มสามมิตรกับอดีตแกนนำ กปปส. พร้อมกับยืนยันว่า อันดับ 1-40 ได้เป็น ส.ส.กันทุกคน

“พปชร.น่าจะได้ ส.ส.ทั้งหมด 150 คน กรณีได้ ส.ส.เขต 100 คน ก็จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 50 คน เพราะฉะนั้น ความแตกแยกของเราไม่มี”

สำหรับ 10 อันดับ-หัวตาราง ได้แก่ 1.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค-นายทุน-มือระดมทุนของพรรค 2.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์หาเสียงภาคอีสาน 3.พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ประธานยุทธศาสตร์หาเสียงกรุงเทพมหานคร (กทม.) 4.สมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานยุทธศาสตร์รณรงค์หาเสียง 5.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ 6.สันติ กีระนันทน์ 7.วิรัช รัตนเศรษฐ 8.สันติ พร้อมพัฒน์ 9.สุพล ฟองงาม 10.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ทั้งหมดเป็นแกนนำของพรรคในพื้นที่

ปชป.เชือดนิ่ม คนแปรพักตร์

ขณะที่บัญชี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาแบบ “เชือดนิ่ม ๆ” เพราะทั้งหมดคือคนที่ทำงานให้กับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง ได้แก่ 1.อภิสิทธิ์ 2.ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค 3.บัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานสภาที่ปรึกษาพรรค4.เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ 5.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 6.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 7.กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค-ประธานนโยบาย 8.จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค 9.องอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค และ 10.ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู

รปช. “เหล่าธรรมทัศน์” พรึ่บ

ขณะที่พรรคใหม่-คนหน้าเดิม อย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) 10 อันดับแรก-กว่าครึ่ง คือ คนในตระกูล “เหล่าธรรมทัศน์”-ผู้ที่ทำงานอยู่เบื้องหน้า-เบื้องหลังในการก่อร่างสร้างพรรค ได้แก่ 1.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรค 2.เพชรชมพู กิจบูรณะ 3.เขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์-“ลูกชาย” ของ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์”

4.อนุสรี ทับสุวรรณ 5.ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เลขาธิการพรรค 6.จุฑาทัตต เหล่าธรรมทัศน์ เหรัญญิกพรรค-เป็น “คนถือถุงบริจาค” ให้กับ “สุเทพ เทือกสุวรรณ” เมื่อครั้งการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.

7.สุริยะใส กตะศิลา อดีตแกนนำ กปปส. 8.สุเนตตา แซ่โก๊ะ 9.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และ 10.น.ส.ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ

บัญชีนายกฯครั้งประวัตศาสตร์

นอกจากบัญชี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ทุกพรรคการเมือง “หยั่งเชิง” พรรคการเมือง “คู่แข่ง” แล้ว บัญชีรายชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ในการเลือกตั้งครั้งประวัตศาสตร์ ขับเคี่ยวแบบคมเฉือนคม จนนาทีสุดท้าย

โดยเฉพาะ ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กว่าจะได้บทสรุปต้องรอถึงวินาทีสุดท้าย

24 ชั่วโมงระทึก “บิ๊กตู่” 

หมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับไปก่อนถึง “เส้นตาย” ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ท่ามกลางกระแสข่าวลือ-ลวงหนาหู V.I.P. ของ ทษช. ที่จะเป็น “บิ๊กเซอร์ไพรส์” จนส่งผลต่อการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์

“อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรค พปชร. ปิดหูข้างหนึ่ง-ข่มความหวั่นไหว ด้วยเสียงดัง-ฟังชัด “มั่นใจ” ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะตอบรับเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรค

“ผมตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่ากระแสที่ว่า คืออะไร เป็นเรื่องภายนอกพรรค เราไม่ได้ให้ความสนใจตรงนั้น แต่ทำในส่วนของเรา เชิญท่านประยุทธ์ไปแล้วก็รอคำตอบ และเราก็เดินตาม”

“ท่านคงจะพิจารณาในประเด็นอื่นด้วย ประเด็นหลักที่ว่า ถ้าท่านมาแล้ว ท่านจะสามารถทำงานให้ประเทศชาติได้ต่อไป ถ้าเป็นเช่นนั้น พรรคพลังประชารัฐเหมาะสมใช่ไหม”

“อุตตม” ถอยเพื่อรุก

ก่อนถึงเวลายื่นใบสมัคร 12 ชั่วโมง “อุตตม” ออกแถลงการณ์ สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพียงชื่อเดียว “เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการแสดงเจตนารมณ์ของผมที่อยากเห็นการบริหารชาติบ้านเมืองโดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายในทุก ๆ ด้านให้มีความต่อเนื่อง ราบรื่นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ ดังนั้นผมขอใช้โอกาสนี้ประกาศสนับสนุนให้เสนอท่าน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวแทนของพรรคเพียงรายชื่อเดียว”

“สมคิด” ชู “บิ๊กตู่” คนเดียว

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี-1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร. สนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” สุดตัว ให้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เพียงชื่อเดียว

“ผมเคยประกาศไว้ว่า ภายใต้สถานการณ์ของประเทศในขณะนี้ ในสถานการณ์ที่จำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนเชิงนโยบายการปฏิรูปที่ต่อเนื่อง ให้บังเกิดผล ผมสนับสนุนท่านประยุทธ์ ให้ปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น”

“ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน พปชร.ควรเสนอชื่อเดียว คือ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะผมสนับสนุนช่วยเหลือท่านอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องมีชื่อผม สรุปให้เสนอชื่อท่านประยุทธ์ คนเดียว”

กลิ่น “รัฐบาลแห่งชาติ” คลุ้ง

ด้าน “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) อดีตประธานรัฐสภา มองการเมืองหลังวันที่ 24 มี.ค. 62 ว่า มีโอกาสเกิดเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ”

“มีโอกาส ถ้ามีอะไรที่ทำให้บ้านเมืองมีความสามัคคีปรองดอง ไม่มีความขัดแย้ง บ้านเมืองต้องการสิ่งนี้มากที่สุด ควบคู่ไปกับประชาธิปไตย”