ทักษิณ เดินหมากอันตราย เกมเสี่ยงยุบไทยรักษาชาติ สะเทือนเพื่อไทย !!

รายงานพิเศษ

ผลของแผ่นดินไหวการเมืองที่ พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ยังไม่จบสิ้น อาฟเตอร์ช็อกลามไปถึง พรรคเพื่อไทย และพรรคในเครือข่ายของ ทักษิณ ชินวัตร

ให้หลังเหตุการณ์เสนอแคนดิเดตนายกฯ และมีพระราชโองการสำคัญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ กกต. เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ระบุว่า

“ไม่ประกาศพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เพราะพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ทรงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใด ๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ ตามพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560”

เป็นการ “ลงดาบ” ครั้งที่ 1 จาก กกต. ภายหลัง ทษช.ออกแถลงการณ์ 4 ฉบับ และ “ทักษิณ” ลุกปลุกใจลูกพรรคผ่านทวิตเตอร์ให้เชิดหน้าและเดินต่อ

อย่างไรก็ตามในวันเดียวกับที่ กกต.ลงดาบครั้งที่ 1 ทษช.เตรียมเปิดทางที่จะถอยเป็นสัญลักษณ์ แต่ก็อ้างว่าเป็นการปรับปรุงสถานที่

2 คำร้องชี้ชะตา ทษช.

แม้เป็นพรรคที่ก่อตั้งเพียง 90 วันเศษ แต่ ทษช.ก็พาตัวเองไปอยู่ในเส้นทางอันตราย เพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวทางการเมือง อาจทำ ทษช.ส่อแท้งยกก๊วน

คำขอให้ยุบ ทษช. จึงถูกยื่นผ่านมือ 7 เสือกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะการ กระทำดังกล่าวถูกตีความว่า เข้าข่ายฝ่าฝืนระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561

ข้อ 17 ระบุว่า ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง 

กระทั่งมีคำร้องถึง 2 คำร้อง มายัง กกต. คำร้องแรก คนร้องคือ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ทษช.ย่อมต้องมีการนำพระนามของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ ไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งของ ทษช. อันเป็นการเข้าข่ายลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ตามระเบียบ กกต. ข้อ 17.ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง จึงขอเสนอความเห็นมายัง กกต.วินิจฉัย เชื่อว่า กกต.จะวินิจฉัยโดยเร็ว

คำร้องที่สอง “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อคืนวันที่ 8 ก.พ. 2562 ว่า มิให้ “ทูลกระหม่อมหญิงฯ” ลงเล่นการเมือง เนื่องจากเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์ รวมทั้งขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ โดย ทษช. จึงเป็นการเสนอผู้ที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 13 วรรคสอง ประกอบมาตรา 14 (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561

ที่สำคัญ เป็นการดำเนินการที่ละเมิดต่อข้อ 17 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. 2561 โดยชัดแจ้ง อันเข้าข่ายองค์ประกอบมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 จึงเห็นว่า กกต.ควรจะต้องนำกรณีดังกล่าวเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรค ทษช.

เงื่อนไขยุบพรรคทักษิณ

ทั้งนี้ การยุบพรรค ทษช.ตามเงื่อนไข มาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2562 มีอยู่ 2 เงื่อนไข 1.กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

และ 2.กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถ้า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามข้อ 1 หรือ 2 สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งยุบพรรคการเมืองนั้น หรือตามมาตรา 93 ถ้า กกต.ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ แต่ความปรากฏต่อนายทะเบียน (เลขาธิการ กกต.) ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อ กกต.เพื่อพิจารณา โดยไม่จำเป็นจะต้องมีผู้ร้อง

เนื้อความในพระราชโองการ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลในทางกฎหมาย ผูกพันทุกองค์กร กลายเป็นสิ่งที่นายทะเบียน-กกต.นำมาชี้ขาด เส้นทางการเมืองของพรรค ทษช. เหมือนที่มีมติไม่ประกาศรับรองแคนดิเดตนายกฯ

ซ้ำด้วย “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามเมื่อถูกถามว่า ถ้าการตัดสินใจของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ มีคนนอกมีส่วนตัดสินใจจะเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคหรือไม่

“ถ้าอย่างนั้นจะผิดมาก ไม่สุ่มเสี่ยง แต่เลยคำว่าเสี่ยงไปแล้ว”

จุดเปลี่ยนการเมืองก่อนเลือกตั้ง จึงอยู่ที่ กกต.จะพิพากษา ทษช. อย่างไร

บรรทัดสุดท้าย ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ “ยุบพรรค” กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี

14 กก.บห.เสียวโดนหางเลข

สำหรับกรรมการบริหารพรรค ทษช. มีจำนวน 14 คน ได้แก่ 1.ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช 2.นายฤภพ ชินวัตร (ลูกนายพายัพ ชินวัตร) รองหัวหน้าพรรค คนที่ 1 3.นางสุณีย์ เหลืองวิจิตร รองหัวหน้าพรรค คนที่ 2 4.นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองหัวหน้าพรรค คนที่ 3 5.น.พ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล รองหัวหน้าพรรค คนที่ 4 6.นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค 7.นายต้น ณ ระนอง รองเลขาธิการพรรค คนที่ 1 8.นายวิม รุ่งวัฒนจินดา รองเลขาธิการพรรค คนที่ 2 9.นายคณาพจน์ โจมฤทธิ์ รองเลขาธิการพรรค คนที่ 3 10.นายพงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ โฆษกพรรค 11.นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นายทะเบียนสมาชิกพรรค 12.นางวรรษมล เพ็งดิษฐ์ เหรัญญิกพรรค 13.นายรุ่งเรือง พิทยศิริ และ 14.นายจุลพงศ์ โนนศรีชัย กรรมการบริหารพรรค

รุ่งเรือง หนีตายคนแรก

แต่ปรากฏว่า “รุ่งเรือง พิทยศิริ” กรรมการบริหารพรรค ทษช. กลายเป็นกรรมการบริหารพรรคคนแรกที่ตัดสินใจ “สละเรือ” จากการวางหมากผิดพลาด โดยตอบว่าตัดสินใจลาออกมาตั้งแต่ ม.ค. เพราะครอบครัวไม่อยากให้เล่นการเมือง จึงช่วยงานพรรคอีกระยะ และลาออกเมื่อวันที่ 4 ก.พ. โดยไม่อยู่ลงมติรับรองแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

2 คดีหมายหัวเพื่อไทย

ไม่เพียงชะตากรรม ทษช.ที่อาจต้องยกธงพ่ายแพ้ ก่อนถึงวันชิงดำเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะคดีที่พรรคเพื่อไทย ถูกหมายหัว “ยุบพรรค” มาก่อนแล้ว คือ กรณีที่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลมายังแกนนำพรรคเพื่อไทย ประกาศว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ว่าด้วยการห้ามมิให้พรรคการเมืองยินยอมหรือมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ ชี้นำกิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือไม่

อีกเรื่องหนึ่ง เป็นกรณีที่ 8 แกนนำเพื่อไทย ประกอบด้วย ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2561 หัวข้อ “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาลและคณะ คสช. นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย” ทั้งสองเคสอยู่ในชั้นการพิจารณาของ กกต.

เครือข่าย พท.หืดขึ้นคอ

ด้าน “สติธร ธนานิธิโชติ” นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สถานการณ์ยุบ ทษช.จะมีผลกระทบอย่างไรต่อยุทธศาสตร์เลือกตั้งของพรรคเครือข่ายเพื่อไทย

“หากยุบก่อนการเลือกตั้ง ก็ชัดว่าในบัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อ และหมายเลขของ ทษช. คนก็เลือกได้ตามปกติ ถ้ายุบหลังเลือกตั้ง คนอาจไปเลือก ทษช. และเขตใดที่ ทษช.ชนะเลือกตั้งต้องเลือกใหม่ เขตไหนแพ้คะแนนที่จะกลายมาเป็นคะแนนตกน้ำก็หายไป มีผลต่อคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรค”

“หากยุบ ทษช. ผลคือ 100 เขตที่เพื่อไทยไม่ได้ส่งใครลงเลือกตั้ง เพราะหลีกทางให้ ทษช. คะแนนดังกล่าวจะไปเก็บมาอยู่ที่ใคร ต้องดูอารมณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีตั้งแต่โหวตโน หรือโหวตพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน ซึ่งยังมีอีกหลายพรรคที่ 350 เขต ต้องประเมินตัวเลขว่า คนจะสะวิงไปที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยพรรคไหน เพื่อไทย เพื่อชาติ เสรีรวมไทย หรืออนาคตใหม่ ส่วนโหวตสะวิงไปหาพรรคพลังประชารัฐ หรือประชาธิปัตย์คงยาก”

แต่ “สติธร” ยังไม่ฟันธงว่า เพื่อไทยจะเป็นฝ่ายค้านแน่ ๆ “ถ้าวิเคราะห์ว่าคะแนนไม่สะวิง ไม่ไป พปชร. ประชาธิปัตย์ หรือไปพรรคขนาดกลาง แต่คะแนนส่วนใหญ่ยังอยู่กับกลุ่มก้อนประชาธิปไตย ถ้ากระจายตัวไปที่อนาคตใหม่ 20 เพื่อชาติ 10 เสรีรวมไทย 10 ประชาชาติ 10 รวมแล้วอาจจะได้ ส.ส.ตามเป้าเดิมที่ ทษช.คาดว่าจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ดังนั้น สูตรเดิมอาจเป็น เพื่อไทย ทษช.บวกกันได้ 250 แต่ถ้า ทษช.ถูกยุบ เพื่อไทยก็ต้องหวังพึ่งเพื่อนฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน”

เพื่อไทย และพรรคเครือข่ายอาจตกที่นั่งลำบาก? “ต้องดูว่าเหนียวแน่นแค่ไหน ถ้ารวมกัน 250 ก็ยังฟันธงไม่ได้ว่า เพื่อไทยจะเป็นฝ่ายค้าน แต่จะลำบากกว่าเดิมเยอะ ไม่ง่ายเหมือนฐานเดียวกัน เพื่อไทย กับ ทษช.” สติธร กล่าวตามสูตรคณิตศาสตร์การเมือง

ในทางเลวร้ายที่สุด 24 มีนาคม อาจไม่มีช่องให้กา ทษช.

คลิกอ่านที่นี่.. “ทักษิณ” เคลื่อนไหวแล้ว ทวีต “ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!