กกต.เตรียมจัดเวทีดีเบตนโยบายบริหารประเทศ ยัน “บิ๊กตู่” ร่วมดีเบตได้ด้วย

กกต.เตรียมจัดเวทีดีเบตนโยบายบริหารประเทศ ไร้พรรคจับได้นโยบายสาธารณสุข “รองเลขาฯ” ยัน “บิ๊กตู่” ร่วมดีเบตได้ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อจาก ”พปชร.” ได้ ระบุยังไม่เห็นคำร้องยุบ 12 พรรค ชี้ ผู้สมัครที่ศาลไม่คืนสิทธิลงเลือกตั้งอาจถูกดำเนินคดีมีโทษทั้งจำปรับ-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 กุมภาพันธ์ นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. เป็นประธานการประชุมพรรคการเมือง เพื่อจับสลากเลือกคำถาม ในการประชันนโยบายที่ กกต. จะจัดขึ้นให้กับ 54 พรรคการเมือง ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และแจ้งความประสงค์ที่จะร่วมเวทีประชันนโยบายของ กกต. โดยการจับคู่พิจารณาจากจำนวนการส่งผู้สมัครของพรรคการเมือง ซึ่งหัวข้อการประชันแบ่งเป็น 6 ด้าน คือ ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การเกษตร และสาธารณสุข ซึ่งพรรคการเมือง จะพบกันในลักษณะ 2 พรรค และ 3 พรรค จะเริ่มบันทึกเทปตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม และจะนำไปเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ 21 สถานี สถานีวิทยุ 7 สถานี และช่องยูทูบ ตั้งแต่วันที่ 15 – 21 มีนาคม โดยพรรคการเมืองสามารถส่งผู้แทนของพรรค หัวหน้าพรรค หรือผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อป็นแคนดิเดตนายกของพรรคเข้าร่วมดีเบตได้

ทั้งนี้ผลการจับคู่ ประชัน 6 นโยบายบริหารประเทศ 1.นโยบายด้านศึกษา คู่ที่ 1.พรรคพลังท้องถิ่นไท – พรรคประชานิยม คู่ที่ 2.พรรคแผ่นดินธรรม-กรีน คู่ที่ 3.พรรคมติประชา- พรรคคลองไทย คู่ที่ 4.พรรคภาคีเครือข่ายไทย – พรรครวมใจไทย

2.ด้านการเกษตร คู่ที่ 1.พรรคอนาคตใหม่ – พรรคประชาชนปฏิรูป คู่ที่ 2.พรรคประชาชาชาติ – พรรคไทรักธรรม คู่ที่ 3.พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล – พรรคกลาง คู่ที่ 4 พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย – พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย

3.ด้านสังคม คู่ที่ 1.รักษ์ผืนป่าประเทศไทย – พรรคเพื่อชาติ คู่ที่ 2.พรรคพลังประชารัฐ – พรรคประชาภิวัฒน์ คู่ที่ 3.พรรคภราดรภาพ – พรรคไทยธรรม คู่ที่ 4.พรรคทางเลือกใหม่ – พรรคประชากรไทย คู่ที่ 5.พรรคพลังรัก – พรรคพลังแรงงานไทย คู่ที่ 6.พรรคผึ้งหลวง – พรรคชาติพันธุ์ไทย คู่ที่ 7.พรรคประชาไทย – พรรคพลังไทยดี

4.ด้านเศรษฐกิจ คู่ที่ 1.พรรคภูมิใจไทย – พรรคเสรีรวมไทย – พรรคประชาธิปัตย์ คู่ที่ 2.พรรคเศรษฐกิจใหม่ – พรรคพลังชาติไทย คู่ที่ 3.พรรคเพื่อไทย – พรรคไทยศรีวิไลย์ คู่ที่ 4. พรรคพลังธรรมใหม่ – พรรคความหวังใหม่ คู่ที่ 5.พรรคคนงานไทย – พรรคไทยรักชาติ – พรรคเพื่อแผ่นดิน

5.ด้านความมั่นคง คู่ที่ 1.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน – พรรคชาติไทยพัฒนา คู่ที่ 2. พรรคประชาธรรมไทย – พรรคประชาธิปไตยใหม่ คู่ที่ 3.พรรคพลังปวงชนไทย – พรรคชาติพัฒนา คู่ที่ 4.พรรคพลังไทยรักชาติ – พรรคฐานรากไทย คู่ที่ 5.พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย – พรรคพัฒนาประเทศไทย คู่ที่ 6.พรรคพลังครูไทย – พรรคพลังสังคม 6.ด้านสาธารณสุข ไม่มีพรรคไหนจับได้

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐจะสามารถมาร่วมดีเบตในเวทีนี้ได้หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ห้าม

นายแสวงกล่าวถึงการตรวจสอบกรณีพรรคพลังประชารัฐถูกร้องเรื่องการจัดระดมทุนโต๊ะจีนว่า เรื่องการระดมทุน และการบริจาค กกต.มีมาตรฐานการตรวจสอบเดียวกันใช้กับทุกพรรค ซึ่งก็ต้องอาศัยเวลาตรวจสอบถึงที่มาของเงิน ใครบริจาคบ้างมีคนต่างชาติร่วมบริจาคด้วยหรือไม่ ส่วนที่ร้องว่า พล.อ.ประยุทธ์ ขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกเพราะเป็นหัวหน้า คสช.เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ก็ทราบว่า เป็นเรื่องที่มีผู้ร้องอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงาน ขณะที่กรณีพรรคอนาคตใหม่ลงประวัตินายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เกินความเป็นจริงนั้น ยังไม่ตรวจสอบว่ามีผู้ร้องมาแล้วหรือไม่ แต่ถ้าเป็นกรณีความปรากฏหรือมีเหตุสงสัย กกต.สามารถตรวจสอบเองได้ แต่ในชั้นนี้ขอยังไม่ให้ความเห็นว่าเป็นความผิดหรือยัง

รอวเลขาฯ กกต. ยังกล่าวว่า กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ และได้มีการแจ้งลบข้อความ และโพสต์ ที่ผิดกฎหมายและมีลักษณะต้องห้ามโดยออกคำสั่งไปแล้วหลายฉบับ เพื่อปกป้องผู้สมัครและพรรคการเมืองที่สุจริต ซึ่งมีจำนวนมาก แต่ที่ยากคือการโยงไปถึงผู้กระทำผิด และการลบข้อความในทันทีเพราะต้องประสานไปยังหน่วยงานของรัฐและเจ้าของเว็บไซต์ ซึ่งบางรายอยู่ในต่างประเทศ

นายแสวงกล่าวถึงกรณีที่พรรครวมใจไทยยื่นขอให้ กกต.พิจารณาเสนอศาลรํฐธรรมนูญสั่งยุบ 12 พรรคการเมืองที่มีการแก้ไขฐานข้อมูลสมาชิกพรรคเพื่อให้ผู้สมัครมีคุณสมบัติในการลงสมัครว่า ยังไม่เห็นเรื่อง และยังไม่ขอพูดเรื่องนี้ เมื่อถามต่อกรณีหากศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตาม กกต.ที่ไม่ประกาศรายชื่อผู้สมัครเนื่องจากขาดคุณสมบัติ ผู้สมัครรายนั้นจะมีความผิดหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า มีความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายกฎหมายที่จะต้องเป็นผู้พิจารณาหลังศาลฎีกามีคำพิพากษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปีปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสน และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 10 ปี

 

ที่มา : มติชนออนไลน์