พลังประชารัฐแห่ ‘บิ๊กตู่’ ชิงนายกฯ รวม 251 เสียง จัดตั้งรัฐบาล

อดีต 4 รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ประกาศลาออกจาก “คณะรัฐบาลทหาร” เพื่อเดินหน้าสู่การทำงานการเมืองในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เต็มตัว

30 วัน ภายหลังเดินออกจากทำเนียบรัฐบาล ทั้ง “อุตตม สาวนายน-สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์-สุวิทย์ เมษินทรีย์” เดินสายลงพื้นที่-ไฮด์ปาร์กบนเวทีลบภาพลักษณ์ ผู้ก่อการปฏิวัติของ พล.อ.ประยุทธ์-แคนดิเดตนายกฯ

ล่าสุดเปิดตัวหนังสือ “ประชารัฐ สร้างชาติ” หนังสือกึ่งอัตชีวประวัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของ พปชร.

จุดประสงค์เพื่อให้ผู้สมัคร ส.ส. 350 เขต-ปาร์ตี้ลิสต์ 120 คน ใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการสื่อสารต่อ voter ที่ พปชร.ต้องการให้ “จดจำ” ทั้งชีวิต-ความคิด-ตัวตนและผลงาน เพื่อล้าง “ภาพจำ” เผด็จการทหาร ของ “พล.อ.ประยุทธ์”

ในช่วง “โค้งสุดท้าย” ของการเลือกตั้ง ก่อนถึงวันหย่อนบัตร 24 มี.ค. 62 พปชร.ต้องฝ่ามรสุมทางการเมือง 2 ลูกใหญ่

ลูกที่ 1 การ “สืบทอดอำนาจ” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้ พปชร. จะอธิบาย-แก้ต่างอย่างไร แต่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้า คสช. ถูกเสนอชื่อเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรค จึงอธิบายได้ยาก

“สนธิรัตน์” เลี่ยงที่จะตอบโต้-พูดแย้งวาทกรรมความเป็นประชาธิปไตย หรือไม่เป็นประชาธิปไตย โดยให้เหตุผลว่า “เพราะเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งตั้งแต่เริ่มต้นของการเข้าสู่การเลือกตั้ง”

“พปชร.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลไกของการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองที่ผ่านมา แต่เมื่อระบอบประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่าง ๆ เกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศ พปชร.เดินตามกลไก ตามระบอบ ไม่มีอะไรที่ไม่เป็นประชาธิปไตย”

ลูกที่ 2 ส.ว.สรรหา 250 คน ซึ่งสรรหาโดย “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้า คสช.

“สนธิรัตน์” ปฏิเสธคำโจมตีที่ว่า ส.ว. 250 คน เป็น “แต้มต่อ” ของ พล.อ.ประยุทธ์-แคนดิเดตนายกฯของ พปชร.ว่า “ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรค” แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่า กลไก 250 ส.ว. เป็นความชอบธรรมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะได้รับความเห็นชอบจากการลงประชามติของประชาชน 13.9 ล้านเสียง

“เป็นคำถามพ่วงที่ได้รับการเห็นชอบจากประชาชนในการลงประชามติ 13.9 ล้านคน เพื่อให้มีกลไก ส.ว. 250 คน เลือกนายกรัฐมนตรี ในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

“แกนนำในพรรคทุกคน” ตระหนักดีว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีจากการ “ปิดฟ้า” ด้วยฝ่ามือของ 250 ส.ว. รัฐบาลหลังการเลือกตั้งไม่สามารถยืนระยะได้ครบเทอม และด้วยรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาไม่ให้มีพรรคการเมืองได้เสียงข้างมาก-รัฐบาลผสม จึงต้องตั้งเป้ารวบเสียง-รวมพรรคและพวกให้ได้ทะลุ 250 เสียง เพื่อหนีกับดัก “รัฐบาลเสียงข้างน้อย”

“พรรคมีจุดยืนเห็นว่า รัฐบาลต้องมีเสียงข้างมากหรือมากกว่ากึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร เพราะการดำเนินการในสภาเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล”

จังหวะก้าวของ “คีย์แมน” ในโค้งสุดท้าย คือ การเดินหน้าปราศรัย-หาเสียง เพื่อเป็น “พรรคอันดับหนึ่ง” เพื่อมีสิทธิ์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือให้ได้เสียงมากที่สุด เพื่อรวบรวมสมัครพรรค-พวกให้ได้เสียงในสภาผู้แทนฯ “เกินกึ่งหนึ่ง” หรือ 251 เสียง จาก 500 เสียง

ส่วนจำเป็นหรือไม่-มารยาททางการเมืองต้องให้สิทธิ์ “พรรคอันดับหนึ่ง” ที่ได้เสียงมากที่สุด “ตั้งรัฐบาลก่อน” หรือพรรคอันดับที่ 2 พรรคอันดับ 3 สามารถ “ตั้งรัฐบาลแข่ง” กับพรรคอันดับ 1 ได้ ?

“สนธิรัตน์-ว่าที่ผู้จัดการรัฐบาล” ยังพลิ้ว-ไม่ฟันธงชัด ๆ ว่า “ใครจะเป็นรัฐบาลต้องมีเสียงกึ่งหนึ่งของสภา” เพราะถ้าไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใดได้คะแนนเสียงชนะเด็ดขาด ? “ก็อยู่ที่ว่าใครรวบรวมได้ (251 เสียง) ก่อน แค่นั้นเอง”

“โดยมารยาทก็ต้องให้พรรคอันดับ 1 จัดตั้งก่อน พรรคเคารพหลักการประชาธิปไตย จุดยืนของพรรค คือ ใครก็ตามที่มีเสียงในสภาล่างเกิน 251 ก็เป็นรัฐบาล”

“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” คนสำคัญของ พปชร. เคยประกาศเมื่อครั้งเปิดตัวอดีต ส.ส.ย้ายพรรคบนเวทีเปิดตัวว่า ต้องชนะ 3 คูหา และ 2 ใน 3 หลักชัย คือ ต้องชนะเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อย 150 ที่นั่ง และการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

เมื่อกระแสในตัว “ทักษิณ” ถูกจำกัด-ตีกรอบด้วยกฎหมายต้องห้าม “คนนอกพรรค” ชี้นำ-ครอบงำ ยิ่งพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคเครือข่าย โดยเฉพาะไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่เพลี่ยงพล้ำด้วยวาระ “มิบังควร”

ประกอบกับ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เคยอ่านเกมขาดดัง ๆ ว่า “รัฐธรรมนูญถูกดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ทั้งหมดจึงเป็นปัจจัยบวกที่ พปชร.-พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาอีกคำรบ