5 พรรคดีเบตปมเยาวชน ชี้การศึกษาไทยฐานง่อนแง่น ชูปฏิรูปข้อสอบ-หนุนคิดนอกกรอบ

5 พรรคลุยสยาม ดีเบตปมเยาวชน ชี้การศึกษาไทยฐานง่อนแง่น ชูปฏิรูปข้อสอบ ลดขนาดห้องเรียน หนุนคิดนอกกรอบ

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ลานแอลจี สยามสแควร์วัน เขตปทุมวัน กรุงเทพ มีการจัดเวทีแสดงนโยบายด้านเด็กและเยาวชน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หัวข้อ “มุมมอง นิวเจ็น พรรคการเมือง กับเรื่องปิดเทอมสร้างสรรค์“ ดำเนินรายการโดยนายสืบสกุล พันธุ์ดี

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ความสำคัญของเด็กและเยาวชนพูดกันมานานว่า เด็กไทยคือหัวใจของชาติ แต่ไม่มีสมัยไหนสำคัญเท่าสมัยนี้ เพราะกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เราจะก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ในโลกที่หมุนไวขึ้น การแข่งขันมากขึ้น ศักยภาพเด็กและเยาวชนจึงสำคัญมาก

“รัฐบาลไทยทุ่มเทให้การศึกษาสูง ไม่แพ้ชาติใดในโลกแต่ผลยังไม่น่าพอใจนัก การศึกษาในระบบ ลดความสำคัญลงเรื่อยๆ ปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยในอเมริกาปิด 400 แห่ง ไม่ใช่เพราะเด็กเกิดใหม่ลดลงเท่านั้น แต่คนเรียนรู้นอกโรงเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ไอดอลคนสำคัญของโลกก็ไม่จบปริญญาเยอะ สำหรับเด็กไทย 13 ล้านคนมีเวลาราว 3 เดือนในฤดูร้อน ช่วงปิดเทอม ควรใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด จากงานวิจัยพบว่า เด็กยังรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่สำหรับสร้างสรรค์มากพอ 70 เปอร์เซนต์ใช้เวลาอยู่หน้าจอ เล่นเกม ถ้ามีทางเลือกมากกว่านั้นน่าจะดี วันนี้ได้รับเกียรติจากคนรุ่นใหม่ใน 5 พรรคการเมืองมานำเสนอนโยบาย ซึ่งคงเป็นพื้นฐานให้แลกเปลี่ยนกัน” ดร.สุปรีดา กล่าว

จากนั้น สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ขึ้นกล่าวประกาศเจตนารมณ์ มีเนื้อหาขอให้พรรคการเมืองที่จะเข้าบริหารประเทศเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ขอให้มีการให้ความสำคัญในทักษะการใช้ขีวิตให้ได้พัฒนาทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ให้ได้เป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์

ต่อมา เข้าสู่ช่วงการนำเสนอนโยบายและความเห็นจาก 5 พรรค โดยนางสาวเยาวภา หรือ วิว บุรพลชัย โฆษกพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า พรรคชพน. มีนโยบายทั้งในด้านการศึกษาและการกีฬา ปัญหาสำคัญคือความเหลื่อมล้ำที่มีมาก คนจนกับรวยได้โอกาสไม่เท่าเทียม รวมถึงเด็กด้อโอกาสและเด็กพิเศษซึ่งแท้จริงแล้วมีศักยภาพแต่กลับไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เท่าที่ควร นอกจากนี้ช่องว่างของครอบครัวก็สำคัญมาก

“การให้การศึกษาดีๆ กับลูกต้องใช้เงิน ทุกวันนี้ต้องแข่งกันสูง พ่อแม่หาเงินนอกบ้าน ไม่มีเวลาให้ลูก จึงเกิดปัญหาสังคมตามมา ติดเกม แว้น ท้องวัยเรียน ทางพรรคจึงมีนโยบาย 4 ข้อ ได้แก่ 1. สนับสนุนการเรียน 2 และ 3 ภาษา 2. มีทุนครูเทคโนโลยี อำเภอละ 1 ล้านบาท ให้ครูไปเรียนแล้วกลับมาพัฒนาท้องถิ่น 3. ฝึกได้เด็กเป็นนักปฏิบัติ 4. ส่งเสริมอุทยานการเรียนรู้ ส่วนนโยบายการกีฬา จะจัดให้มีมินิฟิตเนส เพราะกีฬาสร้างคน และคนสร้างชาติ” น.ส.เยาวภา กล่าว

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปชป. ให้ความสำคัญมาก การลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนที่สุดคือการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นการสร้างคน สร้างชาติ โดยตั้งเป้าหมาย 7 ข้อ

“7 ข้อที่ตั้งไว้ คือ 1. ให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพแข็งแรง 2. มีทักษะการคิด วิเคราะห์ 3. พูดได้สองภาษา 4. มีทักษะการใช้ชีวิต 5. มีทักษะการใช้เทคโนโลยี 6. เติบโตอย่างมีจริยธรรม 7. เคารพสิทธิผู้อื่นในระบอบประชาธิปไตย เราสนับสนุนให้เรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องกระจายอำนาจ ปัจจุบันโรงเรียนมีอำนาจน้อยในการตัดสินใจใช้เงิน ซึ่งควรให้โรงเรียนตัดสินใจเองเพื่อให้สอดคล้องความค้องการของเด็ก” นายพริษฐ์กล่าว

ดร.ไกรเสริม โตทับเที่ยง ทายาทปุ้มปุ้ย ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การพัฒนาควรลองออกนอกโรงเรียน ต้องมองไปถึงการใช้ชีวิต การสร้างโอกาส เท่ากับการสร้างอนาคต รัฐตัองทำหน้าที่ให้เครื่องมือ ให้สังคมมีส่วนร่วม

ดร.ไกรเสริม ยังนำเสนอแนวคิด “ธนาคารเพื่อการศึกษา” โดยระบุว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้โดยต่างจากการกู้ยืมเงิน หนุนเอกชนนำเงินมาฝาก สร้างระบบที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เด็กไทยมีความฝัน แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไปให้ไปถึงความฝันนั้นได้ เพื่อไทยมีนโบายทำศูนย์พัฒนาเด็กอัจฉริยะ กว่า 20,000 แห่ง รวมถึงแนวคิด “คืนโรงเรียนสู่ผู้ปกครอง” โดยให้ครูและผู้ปกครองได้พูดคุยกันเหมือนโรงเรียนนานาชาติ เพราะครูใกล้ชิดเด็ก รู้ศักยภาพของแต่ละคน

“นโยบายในอนาคตคือ ลดขนาดห้องเรียนซึ่งมาตรฐานกระทรวงศึกษาธิการคือห้องละ 45 คน ซึ่งเยอะมาก แถมครูยังต้องทำงานธุรการ การเพิ่มคุณภาพครูคือสิ่งที่ต้องทำ ต้องให้ครูค้นหาตัวตนเด็ก นอกจากนี้ต้องกระจายอำนาจการศึกษา เพื่อไทยเคยทำทีซีดีซี และทีเคพาร์คมาแล้ว เราควรหาพื้นที่พิเศษให้เด็กเรียนรู้มากขึ้น ตัองสร้างศักยภาพเด็ก ซึ่งจริงๆ สอบกันคะแนนสูงมาก เก่งมาก แต่ความคิดยังอยู่ในกรอบ” นายตรีรัตน์ กล่าว

ว่าที่ ดร.กุลธิกา รุ่งเรืองเกียรติ จากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เราออกแบบนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันการศึกษาไทยตั้งอยู่บนฐานที่ง่อนแง่น เวลาพูดถึงการศึกษาเรามักไม่ค่อยนึกถึงเมกะโปรเจ็ค แต่คิดงานยิบย่อยที่เป็นภาระครู สิ่งที่ต้องทำให้แข็งแรงคือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เป็นสิ่งที่ต้องยกระดับ อนาคตใหม่มีนโยบายมอบเงินเดือนละ 1,200 บาทให้พ่อแม่ การได้เงินเป็นระบบต่อเนื่องจะทำให้คนวางแผนชีวิตได้ดี ไม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปและค่าใช้จ่ายอื่นๆหรือไม่ นอกจากนี้ สุขภาพสุขภาวะก็สำคัญ ควรมีการมอบเงินให้โรงเรียนไปพัฒนาห้องน้ำ ไวไฟ สร้างห้องสมุดที่ไม่ใช่ห้องเก็บหนังสือ แต่เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมได้ด้วย

ว่าที่ ดร.กุลธิดา ยังกล่าวถึงประเด็นอาหารกลางวัน และสุขภาพจิตของเด็ก ว่า “ถามว่า 20 บาทต่อหัวพอไหมสำหรับค่าอาหารกลางวัน มองว่า พอ แต่การขาดความรู้ในการจัดให้ถูกตามหลักโภชนาการ อาหารคือการเรียนรู้แบบหนึ่งให้เด็กเข้าใจการกินเพื่อสุขภาพ ต้องผลักดันนักโภชนาการทุกพื้นที่การศึกษา เพราะหากท้องหิวก็ไม่สามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับสุขภาพจิตเด็ก การศึกษาไทยเครียดมาก มีภาวะกดดันตลอดทั้งครอบครัวและโรงเรียน มีคนเสนอให้มีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน แต่ต้องฝึกบุคลากรระยะยาว หากเป็นแบบเร่งด่วนควรศึกคนในโรงเรียนให้เข้าใจสุขภาพจิตขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยมองเห็นความผิดปกติของนักเรียน เพื่อส่งต่อหน่วยงานที่กี่ยวข้องได้ ส่วนหลักสูตร ต้องปฏิรูปข้อสอบ” ว่าที่ ดร.กุลธิดา กล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์