สนช.จ่อถกงบปี 61 วงเงิน 2.9 ล้านล้าน วาระสาม 31 ส.ค.นี้ ติงกห.ควรแจงความจำเป็นจัดซื้ออาวุธให้ปชช.เข้าใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้นัดประชุมสนช.วันที่ 31 สิงหาคมนี้เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีงบประมาณจำนวน 6 รายการ ที่ได้รับงบฯเพิ่มเติมรวมเป็น 22,163,095,000บาท ดังนี้ 1.งบกลาง ได้รับเพิ่ม 21,257,187,600บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน 2.หน่วยงานรัฐสภา ได้รับเพิ่ม 414,016,600 บาท แบ่งเป็นของ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 71,930,600 บาท และของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 342,086,000 บาท ส่วนนี้เพื่อการก่อสร้างที่ทำการรัฐสภาแห่งใหม่ และแก้ไขปัญหาอาคารสถานที่คับแคบไม่เพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา และเจ้าหน้าที่

3.หน่วยงานของศาล คือ สำนักงานศาลปกครอง ได้รับเพิ่ม 96,769,800 บาท 4.หน่วยงานอิสระของรัฐ ได้รับเพิ่ม 385,841,400 บาท แบ่งเป็น ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) 241,155,900 บาท สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) 61,534,000 บาท สำนักงานอัยการสูงสุด 83,151,500 บาท 5.กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน คือ กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ได้รับเพิ่ม 7,689,600บาท 6.งบประมาณสำหรับแผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้รับเพิ่ม 1,590,000 บาท

ขณะเดียวกัน คณะกมธ.วิสามัญฯยังได้จัดทำข้อสังเกตเพื่อเสนอต่อที่ประชุมสนช.เกี่ยวกับภาพรวมการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 61ในหลายด้าน อาทิ การกำหนดเป้าหมายของกระทรวงและหน่วยงาน ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และนโยบายสำคัญของรัฐ โดยจัดลำดับความสำคัญของภารกิจ โดยเฉพาะองค์การมหาชนที่มีภารกิจ พันธกิจซ้ำซ้อนกับส่วนราชการอื่น ไม่มีผลดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ขอให้พิจารณายุบเลิก เช่น องค์การมหาชนที่ดำเนินการด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ควรคัดเลือกเฉพาะหน่วยงานที่สนองนโยบายรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมประชาสัมพันธ์ ควรมีการบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาช่องทางการสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนรับทราบข่าวสารข้อมูลภาครัฐที่ถูกต้องและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาการบิดเบือนข่าวสารและประเด็นอ่อน ส่วนกระทรวงกลาโหม ควรประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจให้ทราบถึงความจำเป็นว่าเพราะเหตุใดกองทัพจะต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

 

ที่มา มติชนออนไลน์