7 พ.ย.- 7 มี.ค.เส้นทาง 120 วัน “ไทยรักษาชาติ” สู่นาที “โคม่า”

หากถามผู้สมัคร – นักเลือกตั้งในพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ว่า พรรคเป็นที่รู้จักของชาวบ้านร้านถิ่น คนทั่วไป ที่ไม่ใช่ “คอการเมือง” หรือ Active citizen ตั้งแต่ตอนไหน

คำตอบที่ได้เป็นเสียงเดียวกันคือ เหตุการณ์การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 อันนำไปสู่ฉากประวัติศาสตร์ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชงศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีราชโองการสำคัญตอน 5 ทุ่ม

คนถึงรู้จัก ทษช.กันทั้งบ้านทั้งเมือง

แต่ ทษช.คนการเมืองเรียกขยายความว่า “ทักษิณชิน” – “ทักษิณชัวร์”

เปิดตัวเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2561 ให้คนทั่วไปเห็นหน้าเห็นตา ภายใต้ยุทธการ “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” แยกตัวมาจากพรรคเพื่อไทย “แก้แทคติก” ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่บัตรใบเดียวเลือก ส.ส. เขต และเอาคะแนนเลือกตั้งในระบบเขตไปทำการคำนวณว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จำนวนกี่คน

ตัวเลขชนะเลือกตั้งที่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เคาะกันที่ 7-8 หมื่นแต้ม ต่อการได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน แต่ในการเลือกตั้งปี 2554 พรรคเพื่อไทยดันชนะในเขตส่วนใหญ่เฉลี่ยที่ 5 หมื่นแต้ม ถือว่า..ชนะแบบขาดทุน

นักคณิตศาสตร์การเมืองเพื่อไทยประเมินว่าหากมีพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวลงสู้ศึกการเลือกตั้ง จะไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว จึงแตกพรรค ทษช.ออกมา เพื่อรวบรวมคะแนนให้ได้มากที่สุดเพื่อชิงเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์แทนเพื่อไทย

ทษช.รวบรวมบรรดาคนรุ่นใหม่ จากทายาทคนการเมืองรอบตัว “ทักษิณ ชินวัตร” คนแดนไกลมากบารมี กับคนใกล้ชิด “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ที่ติดชนักคดีจำนำข้าว

โดยมี “ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” ที่มีคุณสมบัติอายุไม่ถึง 40 และพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง เป็นหัวหน้าพรรค

หลังการเปิดตัว 7 พฤศจิกายน ทษช.ต้องรวบรวมกำลังพลเพื่อมาเติมเต็มขุมกำลังในการเลือกตั้ง

ดึงผู้เล่นหน้าเก่า แต่เก๋าอย่าง “จาตุรนต์ ฉายแสง” จากเพื่อไทย มาเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค  ดึง “ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ” เลขาธิการ นปช.มาเป็นประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ขนาบข้างกลุ่ม นปช.ที่ยกทั้งแก๊งมาเข้า

ทษช.ลบภาพพรรคความเป็นเด็กน้อย – คนรุ่นใหม่ มาเป็นพรรคที่มีภาพพรรคที่มีจุดยืน “ประชาธิปไตย” แข็งขัน

ยังไม่นับบุคคลระดับอดีตประธานวุฒิสภา อย่าง “นิคม ไวยรัชพานิช” อดีตรัฐมนตรี สุชาติ ธาดาธำรงเวช – เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช – วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล

วาง Position ของพรรคไว้ในตำแหน่ง “พรรคที่ชี้ขาดชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย”

หลังจาก จตุรนต์ – ณัฐวุฒิ ถอดเสื้อคลุมเพื่อไทย หันมาจับไมค์ไฮปาร์กในนาม ทษช. ก็เกิดอุบัติแคนดิเดตนายกฯ “มิบังควร”

นับตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 8 กุมภาพันธ์ สภาพภายใน ทษช.ไม่อาจกลับมา “คึกคัก” เหมือนตอนเปิดตัวใหม่ๆ

ความอึมครึมเข้ามาแทนที่ แม้บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งในนาม ทษช.ยังคงหาเสียง

จาตุรนต์ – ณัฐวุฒิ ยังคงนำทีมปราศรัย ส่วน “ร.ท.ปรีชาพล” และกรรมการบริหารพรรคอีก 13 คน ซักซ้อมแถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ศาลนัดลงมติ

จาก 8 กุมภาพันธ์ ถึง 7 มีนาคม เป็นเวลากว่า  1 เดือนเต็ม ที่เส้นทางของ ทษช.ไต่เส้นด้ายยุบพรรค

7 พฤศจิกา 61 คือจุดเริ่มต้นของ ทษช.

แต่ 7 มีนา 62 อาจเป็นวาระสุดท้ายของพรรคที่กำเนิดเพียง 120 วัน

คำตอบอยู่ที่มติของศาลรัฐธรรมนูญ