หาดใหญ่โพลเผยคนใต้ เห็นว่า ‘พปชร.’ มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากสุด

หาดใหญ่โพลเผยโค้งสุดท้าย 14 จว.ใต้ส่วนใหญ่เห็นว่า’พรรคพลังประชารัฐ’มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากที่สุด ต่างจากก่อนหน้าที่เห็นว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสมากกว่า

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลาแจ้งว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม2562  หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวใต้”คิดอย่างไรกับการเมืองก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 “กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้เป็นประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 400 คน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถาม จำนวน 100 คน และด้วยวิธีแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 300 คน ระหว่างวันที่ 1 – 12 มีนาคม 2562 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 52.50) อายุในช่วง 26-35 ปี (ร้อยละ 43.00) รองลงมา ช่วงอายุ 36-45 ปี (ร้อยละ 37.00) และช่วงอายุ 18-25 ปี (ร้อยละ 12.50) ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท/ลูกจ้าง (ร้อยละ 37.25) รองลงมา มีอาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 20.00 ,15.75 และ 11.00 ตามลำดับ

รองศาสตราจารย์ทัศนีย์ ประธาน ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผล การสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 85.00 เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติมีการฮั้วการทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 57.00 ไม่เชื่อว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีการเจตนาปลอมประวัติในการรับสมัครรับเลือกตั้ง และร้อยละ 40.00 เชื่อว่าหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มีการเจตนาปลอมประวัติในการรับสมัครรับเลือกตั้ง และร้อยละ 3.00 ที่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับการปลอมประวัติของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

“ประชาชนร้อยละ 45.50 เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากผลการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ที่ประชาชนเห็นว่า พรรคเพื่อไทย มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มากที่สุด”

ประชาชนร้อยละ 43.50 พิจารณาเลือก สส. จากนโยบายของพรรคการเมือง มากที่สุด รองลงมา คือ คุณภาพของผู้สมัคร และ พรรคการเมืองที่สังกัด คิดเป็นร้อยละ 34.25 และ 16.25 ตามลำดับ ทั้งนี้ประชาชนร้อยละ 38.25 เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐมีแนวนโยบายประชานิยมในการหาเสียงเลือกตั้ง มากที่สุด รองลงมา คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคเพื่อไทย คิดเป็นร้อยละ 13.25 11.75 และ 11.50 ตามลำดับ

ประชาชนร้อยละ 59.50 เห็นว่า วิธีการหาเสียงของพรรคการเมืองมีความเหมาะสม ร้อยละ 40.50 ที่เห็นว่า การหาเสียงของพรรคการเมืองไม่มีความเหมาะสม นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 50.75 เห็นว่า การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในช่วงเลือกตั้งไม่เหมาะสม มีเพียงร้อยละ 24.25 ที่เห็นว่าการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในช่วงเลือกตั้งมีความเหมาะสม และร้อยละ 25.00 ไม่แน่ใจในประเด็นดังกล่าว

 

ที่มา:มติชนออนไลน์