“จาตุรนต์” ชีวิต 6 วิกฤตการเมือง ขึ้น chapter ใหม่ หลังแผ่นดินไหว ทษช.

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

เมื่อยานแม่ฝ่ายประชาธิปไตย ชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง ถล่มล่มลงอย่างไม่เป็นท่า “จาตุรนต์ ฉายแสง” กัปตันยานพาหนะ แม้รอดชีวิตมาได้ แต่ต้องจ่ายต้นทุนทางการเมืองไปแทบหมดหน้าตัก วาระของนักการเมือง เพื่อชัยชนะเลือกตั้ง เข้าสู่อำนาจ กลายเป็นปราสาททราย บทเรียนหลังเหตุการณ์ “แผ่นดินไหว” 8 ก.พ. 62 อาจเร็วไปที่จะสรุป เพราะอาฟเตอร์ช็อก อาจมีอีกหลายระลอก

“จาตุรนต์” ไปต่อ ไม่รออดีตตามไล่ล่า ต่อไปนี้คือ ความเคลื่อนไหวใหม่ ที่ไกลกว่าคำว่า “นักการเมือง” ?

เป็น Chapter ใหม่ ภารกิจใหม่ ที่ผูกเงื่อนไว้กับ “ผลการเลือกตั้ง” 24 มีนา 2562 บทบาทคล้ายกับรณรงค์ไม่รับ รัฐธรรมนูญ 2550 รณรงค์โหวตโนก่อน หลังจากนั้นไปช่วยหาเสียงบนเวทีร่วมกับ คุณสมัคร สุนทรเวช (หัวหน้าพรรคพลังประชาชน) ได้ 2 ครั้ง ทางพรรคกลัวว่าจะทำให้พรรคถูกยุบ จึงขอว่าอย่าไปขึ้นเวที การจัดเวทีครั้งนั้นไปช่วยพรรคพลังประชาชน เพื่อส่งต่อให้นักการเมืองพลังประชาชน แต่ครั้งนี้โจทย์ใหญ่ของ ทษช. คือ ฝ่ากับดักรัฐธรรมนูญ เพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจ ให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะแล้วตั้งรัฐบาลได้

เชื่อว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดีกว่า แต่ปัญหาเรื่องเขตเลือกตั้ง บางเขตมีหลายพรรค และมี 100 เขต ที่มีอดีตผู้สมัคร ทษช. แต่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.เพื่อไทย การจะไปสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด จึงคิดกันว่ารณรงค์ให้คนไปเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ส่วนในแต่ละเขต อดีตผู้สมัครจะไปหนุนใคร ไปใช้ดุลพินิจเอาเอง

chapter ใหม่เป็นนักเคลื่อนไหว ?

เวลานี้ยังคงเป็นนักการเมือง กิจกรรมนี้อาจจะดูเหมือนเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ตัวกระบวนการทำงานนี้ไปโยงกับการเลือกตั้งโดยตรง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไปออกเสียงเลือกตั้งในทางใดทางหนึ่ง ซึ่ง message ที่ปราศรัย คือ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ สนับสนุนพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่ปลุกระดมประชาชนขึ้นมาเพื่อยกขบวนกันไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล หรือที่ทำการ คสช. แต่เราเสนอว่าให้ไปใช้สิทธิวันที่ 24 มี.ค. ดังนั้น ไม่ใช่การเคลื่อนไหวมวลชน เมื่อจบภารกิจนี้ก็ถือว่าจบ เป็นเรื่องของนักการเมืองแต่ละคนว่าใครจะทำอะไรต่อไป

ภารกิจระยะยาว ?

คงไม่ใช้กลุ่มนี้ตัดสินใจดำเนินการทางการเมืองระยะยาว เวลานี้ไม่มีเวลาที่จะคิดว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร คิดแค่วันที่ 24 มี.ค. ไม่มีบรรทัดต่อจากนั้น ส่วนแผนระยะยาวต้องดูผลการเลือกตั้งแล้วค่อยมาประเมิน เพราะอาจจะบอกอะไรหลายอย่าง และเป็นเครื่องทดสอบด้วยว่าที่เราเข้าใจกฎกติกา รวมทั้งดูว่าการสืบทอดอำนาจของ คสช. และระบบที่ คสช.วางไว้ มีความเข้มแข็งมั่นคงแค่ไหน และพรรคการเมืองต่าง ๆ อยู่ในสภาพอย่างไร ควรทำความเข้าใจเสียก่อนน่าจะมีอะไรบ้าง ก่อนจะนำไปสู่การวางแผนข้างหน้า

ผลแผ่นดินไหวการเมือง?

(นิ่งคิด) พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องกรณียุบพรรค หรือกรณีที่นำไปสู่การยุบพรรค เพราะไม่ต้องการให้เรื่องนี้และการต่อสู้คดีของ ทษช. มาโยงกับกิจกรรมทางการเมืองในช่วงการหาเสียง เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนซับซ้อนหลายแง่มุม ให้พ้นจากช่วงการเลือกตั้ง เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้มามีผลในการวิเคราะห์ วิจารณ์ ที่มีผลได้ผลเสียทางการเมือง

แน่นอนว่านักการเมือง นักต่อสู้ ควรจะสรุปบทเรียน ส่วนช่วงที่เกิดขึ้นมีผลต่อดุลกำลังทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายผู้มีอำนาจ หรือภายในฝ่ายประชาธิปไตยควรวิเคราะห์ทำความเข้าใจ แต่ยังไม่ถึงเวลาอธิบาย

ไม่ปิดโอกาสกลับเพื่อไทย ?

มีอดีตผู้สมัครบางคนที่แยกย้ายไปสมัครพรรคเพื่อไทยกันบ้างในช่วงสั้น ๆ นี้ และจะกลับไปอีก ส่วนผมทำภารกิจช่วงเลือกตั้งให้เสร็จแล้วค่อยไปคิดกัน เพราะต้องการดูสภาพเงื่อนไขหลาย ๆ อย่าง ผลการเลือกตั้งคงบอกอะไรได้พอสมควร ว่ากับดักมีจริงไหม

มีขนาดไหน และมีช่องทางในการรับมือกับมันอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องไปคิดกัน คนพูดกันเยอะว่า เลือกตั้งครั้งนี้สภาอาจจะอยู่ไม่นาน ใครจะคิดอะไรก็อาจจะต้องรีบคิด แต่ก็ยังไม่แน่ ถ้าฝ่าย คสช.ได้เสียงมาก ได้พรรคการเมืองไปหนุน โดยระบบกลไกที่เขาวางไว้ก็จะทำให้อยู่นานต้องเผื่อทั้งสองแบบ ทั้งแบบอยู่นานและอยู่ไม่นาน

ถ้า พปชร.แพ้ แต่ได้จัดรัฐบาล ?

เรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตยจะยังอยู่กับประเทศนี้ไปอีกนาน ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญ และอื่น ๆ ดังนั้น ภารกิจในการต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจะยังมีไปเรื่อยจนกว่าจะหมดแรงกันไป ต้องทำต่อแน่นอน แต่สำหรับผม วิธีการต่อสู้ที่ทำประโยชน์ได้มากกว่าอย่างอื่น ยังคงใช้กลไกพรรคการเมืองประสบการณ์ที่สะสมมายังมองว่าการเมืองไทยยังพัฒนามาถึงในจุดที่ 20 ปี ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับประชาชนมีมากขึ้น ทำให้พรรคการเมืองสามารถเชื่อมโยงกับประชาชนจำนวนมาก

เชื่อมโยงนโยบายในการแก้ปัญหาประเทศ และการเลือกตั้งทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของพรรคการเมืองในรัฐสภา กลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ อย่างที่ผมเริ่มต้นการเมืองเมื่อ 10-15 ปี ไม่มี ซึ่งพัฒนาการนี้ทำให้ระบบพรรคการเมืองมีพลัง เมื่อเป็นนักการเมืองก็ควรใช้ประโยชน์จากตรงนี้เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นประชาธิปไตย พัฒนาก้าวหน้า ตั้งใจตั้งแต่เริ่มเป็นนักการเมือง

ชีวิตในวิกฤตการเมือง 6 ครั้ง ?

จุดที่ได้รับผลกระทบเสียหายมากที่สุด ตอนพรรคไทยรักไทยถูกยุบ เพราะถูกเพิกถอนสิทธิไม่สามารถลงคะแนนให้ใครได้ ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งการเมืองใด ๆ อีกได้เลย 5 ปี พอรัฐประหาร 2557 ผลทั้งหลายยังอยู่กับผม เพียงแต่เกิดขึ้นกับประชาชนทั้งประเทศด้วย คราวนี้… อาจจะมีผลกระทบต่อตัวบุคคลไม่เท่า แต่ก็ไล่เลี่ย อาจมีลักษณะพิเศษกว่า ที่บอกว่าพิเศษกว่า เพราะยังนึกคำไม่ออก แต่รู้ว่าพิเศษ อันนี้ไม่เกี่ยวกับดวง แต่เนื่องจากชีวิตผมเข้ามาเกี่ยวกับการเมืองของประเทศ และได้รับผลจากการเมืองตั้งแต่อายุ 20 ค่อนข้างแปรผันไปตามสภาพการเมืองของประเทศ ครั้งแรกยึดอำนาจปี 2519 เป็นเผด็จการเต็มที่ ผมก็ระหกระเหินไป

ครั้งสอง ต่อมาบ้านเมืองพอจะเข้าที่เข้าทางพอสมควร เปิดโอกาสให้คนกลับเข้ามาได้ ผมก็กลับมาเรียนหนังสือ พอเริ่มจะพ้นประชาธิปไตยครึ่งใบก็มาเป็นนักการเมือง พอพ้นจากรัฐธรรมนูญ 2521 นายกฯมาจากพรรคการเมือง ผมก็จะเป็นนักการเมืองในพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยครึ่งใบอีกแล้ว พรรคการเมืองมีบทบาทมากขึ้น ทำอะไรได้มากขึ้น พอยึดอำนาจอีกก็ว่างงาน

ครั้งที่สาม พอปฏิรูปการเมืองอยู่กับพรรคการเมืองที่ระบบเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ผมก็เป็นรัฐมนตรี และฝ่ายค้านที่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ครั้งที่สี่ พอใช้รัฐธรรมนูญเต็มที่ ตั้งแต่ปี 2544บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยค่อนข้างมาก

ผมก็อยู่ในจุดนั้น เป็นรัฐมนตรี รองนายกฯ ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ พอมายึดอำนาจผมก็แย่อีก ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งพร้อมนักการเมืองคนอื่น ๆ ส่วนครั้งที่ห้า คือการยึดอำนาจ 2557

เพียงแต่ครั้งนี้ ครั้งที่หก ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ บ้านเมืองจะมีเลือกตั้ง อาจมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็ได้ แต่ผมมาอยู่ในจุดที่เสียหายมากกว่าค่าเฉลี่ย เพราะเปิดโอกาสให้ชีวิตจะมีหน้าที่การงาน มีบทบาทมากขึ้นถ้าประชาชนสนับสนุน แต่มาถูกตัดสิทธิให้ประชาชนสนับสนุนไปก่อน

เป็น รมต.ไทยรักไทยคือกำไร ?

ไม่มีกำไรในแง่มุมนี้ หมายถึง วิธีคิดไม่มี การเป็นรัฐมนตรีต่อเนื่องกันตั้งแต่ปี 2544 ถึงยึดอำนาจปี 2549 เราได้ทำให้บ้านเมืองพัฒนา เป็นส่วนหนึ่งของจุดมุ่งหมายการมาเป็นนักการเมือง แต่การเป็นรัฐมนตรีแล้วทำให้มีเกียรติ มีฐานะทางเศรษฐกิจ ร่ำรวย มั่นคงไหม…ก็ไม่ใช่ แต่ได้ทำงานแก้ปัญหาเรื่องโน้นเรื่องนี้ท่ามกลางความเครียดว่าทำอย่างไรถึงไม่ถูกปลดออก กดดันไปอีกแบบรัฐประหารแต่ละครั้ง ตั้งแต่ปี”34 ปี”49 ปี”57 พวกหมอดูอาจจะพูดว่านี่คือช่วงดวงตก ดาวนั้นทับดาวนี้ทำให้เดือดร้อน แต่ผมมองว่าเป็นช่วงการต่อสู้ จนกลายเป็นวิถีชีวิตที่ควบคู่สลับกัน ระหว่างการสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย หรือการทำหน้าที่เป็นรัฐสภา หรือรัฐบาล เพื่อจะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองในสถานะของนักการเมือง ส.ส. และรัฐมนตรี ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เวลานี้ตัวชี้วัดจะเป็นเรื่องสุดท้าย คือ สามารถทำให้บ้านเมืองสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตยได้แค่ไหนมากกว่า

หากเลือกตั้งแล้วยังเผด็จการ?

หนีไม่พ้นการเป็นนักการเมือง สังกัดพรรคการเมืองและผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต่อไป ผมมีจิตวิญญาณ 2 แบบมาตลอด เป็นนักการเมือง และเป็นคนคนหนึ่งที่ต้องการต่อสู้ให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย เห็นว่าตัวเองมีสถานะเป็นนักการเมืองในระบบพรรคการเมืองที่ควรจะใช้สถานะนี้ ผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและเจริญก้าวหน้า

ยังมีหวัง ?

บทสัมภาษณ์ผมตอนมาสมัครรับเลือกตั้งปี 2529 ไม่แตกต่างกัน คนถามผมว่าต้องการเป็นนักการเมืองเพราะอะไร ผมตอบว่า ผมต้องการเปลี่ยนแปลง ให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย และให้บ้านเมืองพัฒนา เพียงแต่ผ่านไป 30 ปี ได้เรียนรู้ว่าบางช่วงเราเข้าใจว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว เราต้องการใช้เสรีภาพให้เต็มที่ในการพัฒนาบ้านเมือง เสร็จแล้วเราก็มาเข้าใจว่า ไม่ใช่นะ…

บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะยังมีการยึดอำนาจได้อีก และเราต้องมาต่อสู้ให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ขณะนี้ยิ่งเห็นชัดว่าปัญหาใหญ่มากของประเทศไทย คือ ความไม่เป็นประชาธิปไตย เพียงแต่โยงกับปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้สองเรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกัน

สู้มาค่อนชีวิตแล้วยังต้องสู้อีก…ไม่ใช่แค่นั้นนะ สู้มาค่อนชีวิตแล้วมาพบว่าเรื่องการเป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นประชาธิปไตย ช่วงที่ผ่านมา กลับพิสูจน์ว่าถอยหลังกว่าเดิม


ดังนั้น เรื่องที่ต้องทำเพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยยังมีอยู่แน่นอน ถึงโดนแบบนี้ก็ยังไม่ตาย ยังไม่หมอบราบคาบแก้วสยบกันไป เจียมเนื้อเจียมตัวไปหลบอยู่ในมุมไหน