นาทีสุดท้าย ต้องมี 57,143-101,100 เสียง/ส.ส.1คน ตัดเชือกชัยชนะ ที่ส.ส.เขตเท่านั้น! เพื่อชนะ 3 คูหา จัดตั้งรัฐบาล

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 เป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ที่ประชาชนต้องกากบาท บนบัตรเลือกตั้ง เพียงใบเดียว

พวกพรรคใหญ่ตัวเก็ง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทั้งพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ จึงระดมหาเสียง-ปราศรัยโค้งสุดท้าย ด้วยคีย์เวิร์ด “เลือก ส.ส.ระบบเขตให้ชนะถล่มทลาย-ขาดแม้แต่คะแนนเดียวไม่ได้ เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล”

นับตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2544-2554 เป็นต้นมา ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้ใช้สิทธิ ในบัตรลงคะแนน แบบ 2 ใบ แบ่งเป็น ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ มาโดยตลอด

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51.41 ล้านคน จะต้องกากบาทบนบัตร 1 ใบ แต่ได้ผลถึง 3 เด้ง

เด้งที่ 1 ได้เลือก ส.ส.ระบบเขต

เด้งที่ 2 ได้คะแนน สำหรับ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

เด้งที่ 3 ได้คะแนน สำหรับโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในบัญชีของพรรค

ในบัตรเลือกตั้งจะมีรายละเอียดของผู้เสนอตัวเป็น ส.ส. ประกอบด้วย หมายเลขผู้สมัคร, ชื่อพรรค และโลโก้พรรค

คำนวณจากการไปใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 62 กกต.ระบุว่า มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิไว้กว่า 2.63 ล้านคน โดยกรุงเทพมหานครมีผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ามากที่สุดกว่า 928,000 คน

ผลของผู้มาใช้สิทธิล่วงหน้าทั่วประเทศสูงถึง 80% ในกรุงเทพมหานคร ทุกเขตมีผู้มาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 80%

ดังนั้น ในวันเลือกตั้งทั่วไป นักสถิติการเมือง คาดว่าจะมีผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ 4 ระดับ คือ 75-80-90 และ 95%

สูงกว่าผู้ออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (2554) ซึ่งมี 75.03% จำนวน 35.22 ล้านคน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46.9 ล้านคน

หากใช้ฐานจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 51.41 ล้านคน จะมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิตัวเป็นๆ ตั้งแต่ 38.56 ล้านคน ถึงสูงสุด 49.31 ล้านคน และจะส่งผลต่อการคำนวณตัวเลข ส.ส.พึงมีเฉลี่ย ตั้งแต่ 77,129 คะแนน ถึง 98,623 คะแนน

เมื่อนำคะแนน “ทุกคะแนน” ที่ได้จากทั้งการชนะ และการแพ้ ทุกเขตทั่วประเทศ 350 เขต รวมกัน แล้วหารได้ จำนวน ส.ส.ทั้งสภา 500 คน จะได้ผลคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน ดังนี้

1.มีผู้มาใช้สิทธิ 75% จำนวน 38.56 ล้านเสียง จะได้เป็น ส.ส. 1 คน ต้องมีคะแนนเฉลี่ย 77,129 คะแนน

2.มีผู้มาใช้สิทธิ 80% จำนวน 41.13 ล้านเสียง จะได้เป็น ส.ส. 1 คน ต้องมีคะแนนเฉลี่ย 82,271 คะแนน (ตัวเลขนี้มีความเป็นไปได้สูงสุด)

3.มีผู้มาใช้สิทธิ 90% จำนวน 46.29 ล้านคน จะได้ ส.ส. 1 คน ต้องมีคะแนนเฉลี่ย 92,555 คะแนน

4.มีผู้มาใช้สิทธิ 95.9% จำนวน 49.31 ล้านเสียง ส.ส. 1 คน ต้องมีคะแนนเฉลี่ยถึง 98,626 คะแนน

ก่อนหน้านี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เคยวิเคราะห์ “สูตรการนับคะแนน” และการเลือก ส.ส.เชิงยุทธศาสตร์ไว้ว่า หากต้องการให้พรรคไหนชนะ ต้องเลือก ส.ส.ระบบเขต ให้ได้ให้มากที่สุด

โดยใช้สมติฐานว่า พรรคเพื่อไทย จะชนะเป็นอันดับที่ 1 และจะส่งผลต่อคะแนนชนะ ของ ส.ส.ระบบเขต ของทุกพรรค

โดยมีสูตรคำนวณที่ใกล้เคียงกับการคำนวณตามหลักการ “ส.ส.พึงมี” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560

กรณีผู้มาใช้สิทธิที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ 80% คือ 41.13 ล้านเสียง หารด้วย ส.ส. 500 คน จะได้เป็น ส.ส. ต้องมี 82,260คะแนน

ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 350 เขต มาใช้สิทธิจำนวน 80% คาดว่าจะมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเขตละประมาณ 114,285 เสียง

ในแต่ละเขตมีผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคหลักแข่งกัน 3 คน ถ้าได้คะแนน 50% ของ 114,285 เสียง ก็เท่ากับ 57,143 คะแนน จึงจะชนะ ส.ส.ระบบเขต 1 คน

กรณีพรรคที่ชนะอันดับ 1 เป็นพรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.ถึง 250 คน

หากเพื่อไทยชนะระบบเขต 250 เขต คูณด้วย 57,143 จะได้ 14.28 ล้านเสียง

จากนั้นจึงเอาจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศ 41.13 ล้านเสียง ลบด้วยคะแนนเพื่อไทย 14.28 ล้านเสียง เหลือ 26.85 ล้านเสียง

ดังนั้นตัวเลข ส.ส.เฉลี่ยต่อ 1 คน จะต้องมีคะแนนถึง 107,400 เสียง (มาจาก 26.85 ล้านเสียง หารด้วย ส.ส.ที่เหลือ 250คน)

กรณีพรรคเพื่อไทยชนะ ส.ส.ระบบเขต 200 เขต คูณด้วย 57,143 เสียง จะได้ 11.4 ล้านคน บวกกับเขตที่ ส.ส.เขตแพ้ อีก 50 เขต คาดว่าจะได้คะแนนรวม 12.57 ล้านคน

เมื่อนำจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศ 41.13 ล้านเสียง ลบด้วยคะแนนเพื่อไทย 12.57 ล้านเสียง เหลือ 28.40 ล้านเสียง

ดังนั้นตัวเลข ส.ส.เฉลี่ยต่อ 1 คนจะต้องมีถึง 94,666 เสียง (มาจาก 28.40 ล้านเสียง หารด้วย ส.ส.ที่เหลือ 300 คน)

กรณีที่ 3 พรรคเพื่อไทยชนะ ส.ส.ระบบเขต 150 คน คูณด้วย 57,143 เสียง จะได้ 8.50 ล้านเสียง บวกกับเขตที่ ส.ส.เขตแพ้อีก 100 เขต คาดว่าจะได้คะแนนรวม 10.80 ล้านเสียง

เมื่อนำจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศ 41.13 ล้านเสียง ลบด้วย 10.80 ล้านเสียง เหลือ 30.33 ล้านเสียง

ดังนั้น ตัวเลข ส.ส. เฉลี่ยต่อ 1 คน ต้องมีถึง 101,100 คน (มาจาก 30.33 ล้านเสียง หารด้วย ส.ส.ที่เหลือ 150 คน)


นาทีสุดท้ายทุกพรรคจึงหาเสียง-ชิงชัย ตัดเชือกชี้ขาดชัยชนะ ที่คะแนน ส.ส.ระบบเขต เท่านั้น!!!!