‘ยุทธพร อิสรชัย’ วิเคราะห์ 3 สูตรตั้งรัฐบาล พร้อมปม ‘นายกคนนอก’

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562  รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์แนวทางการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้

แนวทางการจัดตั้งรัฐบาล ทั้ง 3 สูตร คือ สูตรที่ 1 พรรคที่คะแนนอันดับ 1 ได้สิทธิในการรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆไม่ได้กำหนดไว้ว่าพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดจะได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในระบอบรัฐสภา จะต้องให้สิทธิกับพรรคที่ได้เสียงมากที่สุดจัดตั้งรัฐบาลก่อน หากสามารถรวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง แต่ถ้ารวบรวมไม่ได้ก็จะไล่ตามลำดับ ซึ่งสูตรนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และได้รับการยอมรับจากประชาชน

สูตรที่ 2 คือ พรรคที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง คือ มากกว่า 251 เสียงขึ้นไปจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องพิจารณาว่าพรรคนั้นได้เสียงมากที่สุดหรือไม่ สูตรนี้มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะอาจมีการจับกลุ่มกันของ ส.ส.เพื่อให้ได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง แต่จะแสดงว่าเจตจำนงของประชาชนที่ถูกส่งผ่านในการเลือกตั้งไม่ได้มีความหมายเท่ากับคณิตศาสตร์การเมืองในสภา เพราะเป็นเรื่องของการต่อรองและการจัดกลุ่มทางการเมืองภายใต้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ เช่น โควต้ารัฐมนตรีกระทรวง เกรดเอ เกรดบี เกรดซี จึงเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะไม่ได้รับการยอมรับและขาดความชอบธรรมทางการเมือง

ประชาชนจะตั้งคำถามต่อความล้มเหลวของรัฐสภา จะมีการออกมาเคลื่อนไหว จนเกิดการชุมนุมได้ถ้าหากใช้สูตรนี้

ส่วนสูตรที่ 3 ที่พรรคอนาคตใหม่ ได้เสนอเรื่องการปิดสวิตช์ 250 ส.ว. ถ้าทำได้จริงก็จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริงไม่ง่าย เนื่องจากจะต้องมีเสียงที่สนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามแนวทางของพรรคลำดับที่ 1 ไม่เกิน 124 ที่นั่งเท่านั้น โดยหากประเมินที่นั่งของพรรคการเมืองในขั้วอุดมการณ์ต่างๆ จะพบว่าแต่ละขั้วมีจำนวนเสียงที่ไล่เลี่ยกัน และพรรคที่แนวทางยังไม่ชัดเจน เช่น ประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ได้เกิน 124 เสียงแล้ว

ดังนั้นจึงไม่ง่ายที่จะปิดสวิตซ์ ส.ว. แต่ถ้าทำได้จริงก็จะทำให้เสียงของ ส.ส.มีความสำคัญ และ ส.ว.จะไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะ 376 เสียงในสภาฯ ก็เพียงพอในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแล้ว

นอกจากนี้ ถ้าพรรคสกุล “เพื่อ” รวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่ง ก็มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลได้ 2 แนวทาง คือ 1.พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีมาจาก 3 รายชื่อของพรรค แต่เสียงค่อนข้างที่จะปริ่มน้ำ เพราะพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอาจรวมกันได้มากสุด เกิน 250 เสียง แต่ไม่ถึง 300 จึงขาดเสถียรภาพ และ แนวทางที่ 2 คือ ฝ่ายประชาธิปไตยรวมตัวกันแล้วสนับสนุนว่าที่นายกฯของพรรคอนาคตใหม่ แต่เชื่อว่าเสียงจะปริ่มน้ำเช่นกัน เพราะหากจะมีเสถียรภาพต้องได้ 270 เสียงขึ้นไป ซึ่งยากที่พรรคขนาดกลาง เช่น ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา มาร่วมแล้วได้ถึง 270 เสียง

ดังนั้นสูตรที่ 1 จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด รัฐบาลจะได้รับการยอมรับ และยังเป็นสูตรที่สามารถสะท้อนเจตจำนงของพี่น้องประชาชนอีกด้วย

แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดนายกคนนอก เพราะการจัดตั้งรัฐบาล มี 4 สถานการณ์ คือ 1.สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้และจัดตั้งรัฐบาลได้ 2.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากเสียงในสภาฯได้ไม่เกิน 251 เสียงขึ้นไป ซึ่งจะเกิดปัญหา เพราะได้เฉพาะนายกฯแต่ไม่มีคณะรัฐมนตรีและไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลที่จะทำให้เกิดเสถียรภาพในสภาฯ 3.รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนได้ แต่ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ เพราะ ส.ว.ไม่ได้ร่วมในการเลือกด้วย ทำให้มีเสียงไม่ถึง 376 เสียง 4.เกิดรัฐบาลแห่งชาติ เพราะไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อาจมีการขอปลดล็อกเพื่อเลือกนายกฯคนนอก ซึ่งจะต้องใช้ถึง 376 เสียง และในขั้นตอนที่ 2 จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 คือ 500 จาก 376 เสียง เพื่อเลือกนายกฯ

ซึ่งผลดีของนายกคนนอก คือ จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งในรัฐสภายุติลง มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง มีโอกาสที่จะได้แก้รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายยอมรับ และนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ แต่ข้อเสียคือรัฐบาลแห่งชาติไม่ได้ยึดโยงกับการเลือกตั้งที่มาจากเจตจำนงของประชาชน จึงอาจถูกตั้งคำถามถึงปัญหาของระบบรัฐสภา

ทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ต้องตระหนักว่าท่านคือผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้เช่นนี้ ดังนั้นการตัดสินใจโหวตนายกฯ ต้องคำนึงถึงเจตจำนงของประชาชนที่สะท้อนผ่านการเลือกตั้งอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องของการคำนวณคณิตศาสตร์การเมืองในสภา เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นหลังการเลือกตั้งจะถูกตั้งคำถามต่อความล้มเหลวของระบบรัฐสภา และสังคมไทยจะไม่สามารถทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่จะนำบ้านเมืองออกจากความขัดแย้งได้

ที่มา:มติชนออนไลน์