การเมือง “เดดล็อก” ตั้งรัฐบาลไม่ได้ “บิ๊กตู่” อยู่ต่อ ระทึก ! นายกฯนอกสภา

เพราะกติกาการเมืองพิสดาร ส่งผลให้การเมืองหลังเลือกตั้งผิดธรรมชาติ เดินหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้

เมื่อพรรคการเมืองที่คิดว่าตัวเองชนะ ต่างฝ่ายต่างเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางคะแนนเสียงที่ยังไม่นิ่ง และสารพัดปมปัญหาที่จะตามมาเป็นลูกระนาด ประกอบกับหลายปัจจัย-ตัวแปรในโครงสร้างอำนาจ ที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลและการชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ยากยิ่งกว่ายาก

เมื่อวัดสมการของฝ่ายชนะ ด้วยจำนวน ส.ส.ลำดับที่ 1 กับลำดับที่ 2 ยังอยู่ในมือของ 2 ขั้วหลัก

ขั้วหนึ่งเป็นฝ่ายอำนาจปัจจุบันที่ยึดโยงกับคณะ คสช. และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียืนตระหง่าน รอเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย

ขั้วหนึ่งเป็นฝ่ายพรรคเพื่อไทย ที่ได้เสียง ส.ส.ระบบเขต 138 คน และพวกพรรคตระกูล “เพื่อ” ที่เกิดจากยุทธศาสตร์แตกแบงก์พัน

หลังปิดหีบเลือกตั้ง 24 ชั่วโมง นักวิเคราะห์การเมืองไทย-เทศ ยังคงเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์มีแต้มต่อ-ตัวช่วย ทั้งที่มองเห็นเป็นตัว ส.ส. และตัวช่วยที่มองไม่เห็น จะเป็นสปริงบอร์ดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์คืนทำเนียอีกวาระ

ในแง่จำนวนเสียงโหวตที่มาจากเสียงประชาชน 7.9 ล้านเสียง เบียดเพื่อไทยขึ้นเป็นอันดับ 1 แต่เมื่อนับจำนวน ส.ส.ระบบเขต 96 ที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 21 คน รวม ส.ส. 117 ที่นั่ง ถือว่าเป็น “พรรคอันดับ 2”

แต่กระนั้นก็ยังมีความเสี่ยงที่ พล.อ.ประยุทธ์จะไปไม่ถึงดวงดาว เพราะเงื่อนไขอยู่ที่จำนวน ส.ส.ของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ที่อาจต้องใช้บริการ 2 พรรคขนาดกลางเป็นกำลังสำคัญ

พรรคหนึ่งคือ ประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค เคยประกาศหนักแน่นไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่บัดนี้มีเงื่อนไขใหม่-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ต้องตัดสินใจ นำทัพ 33 ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 21 คนรวม 54 ที่นั่งเข้าร่วมรัฐบาล หรือจะไปยืนเป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ เพื่อรักษาอุดมการณ์พรรค

อีกพรรคหนึ่ง เป็นเสียงสำคัญต่อรัฐบาล “พลังประชารัฐและพวก” คือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล หรือ “เสี่ยหนู” หัวหน้าพรรค ที่เล่นการเมืองสไตล์ไม่ขัดแย้งกับใคร มีแนวทางเป็นตัวของตัวเอง ภายใต้เงาของ “เนวิน ชิดชอบ” ที่เคยลั่นวาจาถึง “ทักษิณ ชินวัตร” ไว้ว่า “มันจบแล้วครับนาย”

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้ง 2 ขั้ว ชิงตัวพรรค “เสี่ยหนู” และ ส.ส.ระบบเขต 39 เสียง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 13 คน รวมเป็น 52 ที่นั่ง เพื่อเป็นเสียงชี้ขาดชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาล จึงเกิดเหตุข่าวปล่อยแบบหวังดี-ประสงค์ร้าย “เชิดอนุทิน” เป็นนายกรัฐมนตรีในขั้วเพื่อไทย

เพราะขั้วพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกลุ่มอำนาจเก่า ต้องการเป็นแกนนำ โดยแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แต่ก็ดันพลิกล็อก-สอบตกตามกติกาใหม่ ไม่ได้เป็น ส.ส.

ด้วยชัยชนะการเลือกตั้งที่ทำสถิติตกต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคของ “ทักษิณ” ด้วยจำนวนเสียง 7.4 ล้านเสียง ต่ำกว่ายุค “ยิ่งลักษณ์” ถึง 50% ได้ ส.ส.ระบบเขตเพียง 138 ที่นั่งเท่านั้น เป็นครั้งแรกที่ไม่มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

สมมุติฐานการจัดตั้งรัฐบาลชิงตัวนายกรัฐมนตรีของทั้ง 2 ขั้วมีทั้งเป็นไปได้-และเป็นไปไม่ได้

ด้วยจำนวนเสียงที่มีการเจรจาของ 2 ขั้วหลัก อยู่ในระดับปริ่มน้ำ คือทั้ง 2 ข้างมีแนวโน้มจะใกล้เคียงกัน

สูตรที่เป็นไปได้ ภายใต้การดีลของฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีทีม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ นาย
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร่วมวงเจรจา-วางตำแหน่งมัดจำไว้ล่วงหน้า 8 พรรค ได้เพียง 244 เสียงเท่านั้น ประกอบด้วย พลังประชารัฐ 117 เสียง กับพรรคประชาธิปัตย์ 54 เสียง พรรคภูมิใจไทย 52 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรครักษ์ผืนป่า 1 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไทย 2 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย ในเงาของสุเทพ เทือกสุบรรณ อีก 5 เสียง

ในขั้วนี้ยังต้องการ “ส.ส.งูเห่า” ที่แหกมติพรรคอื่น หรือต้องการพรรคขนาดกลางถึงเล็กอีกพรรคเข้าร่วมวง เพื่อฝ่าจำนวนเสียงให้เกิน 250 เสียง

อีกสูตรที่เป็นไปได้ในทางการเมืองภายใต้การดีลของคุณหญิงสุดารัตน์ และ นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขา
ธิการพรรค และมือที่มองไม่เห็นจากนอกพรรค-นอกประเทศ จาก 8 พรรค ได้ 256 เสียง ประกอบด้วย พรรค
เพื่อไทย 138 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 88 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 11 เสียง พรรคประชาชาติ 6 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง

หากทั้ง 2 สูตรเป็นไปไม่ได้ เกิด “เดดล็อก” มีเงื่อนตายที่ทั้ง 2 ฝ่ายแก้ไม่ตก ระหว่างรอเปิดสมัยประชุมรัฐสภา พร้อมกับวุฒิสมาชิกอีก 250 คน อาจเกิดสูตรใหม่

เป็นสูตร “นายกรัฐมนตรีนอกสภาตามรัฐธรรมนูญ” หรือสูตรที่นักการเมืองเรียกกันว่า “เปรมโมเดล 2019” เพื่อคลายจากการเมือง “เดดล็อก”

สูตร “เปรมโมเดล 2019” จะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ 2 สภา จำนวน 500 คน (วุฒิสภา 250 คน กับสภา
ผู้แทนราษฎร 500 คน) เพื่อลงมติเห็นชอบให้เปิดทางเลือกนายกรัฐมนตรีจาก “นอกสภา”

โดยเฟ้นหา “บุคคลที่เหมาะสม-ทุกฝ่ายยอมรับ” เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

ไม่ควรลืมว่า หากสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถเปิดสมัยประชุมเพื่อเลือกประธานรัฐสภา และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องนั่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป…จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง