แคมเปญเด็ดเสร็จ “ไพ่ตาย” “ประชาธิปไตยสุจริต” รับสารพัดพิษ “อนุรักษนิยม”

ความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แบบ “สู้ไม่ได้” ทำให้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค 2 สมัย ครองตำแหน่งยาวนาน 14 ปี ต้อง “ปิดฉาก” ชีวิตหัวหน้าพรรคคนที่ 8 ด้วยตัวเลข ส.ส.ที่ไม่สวยหรูแต่สง่างาม

นอกจากการสรุป “บทเรียน” ถึงเหตุ-ปัจจัยแห่งความ “ล่มสลาย” ครั้งนี้แล้ว “โจทย์ใหญ่” ของ “พรรคเก่าแก่” คือ การกอบกู้ซากความเสียหาย-เรียกศรัทธากลับมาอีกครั้ง บนทาง “สองแพร่ง”

1.ยอมเป็น “พรรคอะไหล่” ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)-ตัวประกอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-หัวหน้า คสช. ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พปชร. กลับเข้าทำเนียบรัฐบาลอีกคำรบ

2.ยอมเป็น พรรคฝ่ายค้านเฉพาะกิจกับพรรคเพื่อไทย (พท.) และอนาคตใหม่ (อนค.) หากพรรคที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถรวบรวมเสียง-ชิงตัดหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้ แม้สุ่มเสี่ยง “พรรคแตก” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “งูเห่า” ภายในพรรคพร้อมจะฟักจากไข่ออกมาเป็นตัวอย่างแน่นอน

“ขณะนี้อย่าเพิ่งไปฟังใครทั้งสิ้น ใครจะพูดอะไรไม่ถือว่าผูกพัน ไม่เป็นมติพรรค ทุกคนอย่าเสียขวัญ มั่นใจในจุดยืนบนความสุจริต เดี๋ยวคนจะหาว่าเราหวั่นไหวว่า ถ้าอยู่ตรงนี้ ไม่เปลี่ยนแนวไปทำอย่างเขาก็ลำบาก”

“ค่านิยมคนแม้จะเปลี่ยนไป แต่ขอให้เชื่อมั่นในเรื่องความชอบธรรม ความถูกต้อง ไม่เช่นนั้นคนจะไขว้เขว หากวิธีไหนชนะเอาวิธีนั้น ประเทศคงไม่ปรารถนาให้เป็นอย่างนั้นแน่” นายชวน หลีกภัย ผู้มีบารมีของพรรคกล่าวเรียกสติพลพรรคสีฟ้า

สอดรับกับ “แกนนำอาวุโส” ภายใน ปชป. วิเคราะห์ “จุดพลิก” ที่ทำให้ ปชป.พ่ายแพ้ระดับหายนะ-ถึงกับ “เครียด-ช็อก” ว่า จุดพลิกที่ทำให้พรรคแพ้การเลือกตั้งในครั้งนี้ คือ การปูพรมซื้อเสียงอย่างน้อย 3 รอบ และการใช้อำนาจรัฐอย่างโจ๋งครึ่ม

“ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเราดีกว่าที่ผ่านมา นโยบายกินได้สัมผัสได้ กินอร่อยทุกคำ ไม่ว่าจะกินคำไหน อายุเท่าไหร่ก็ให้เลือกเอง เราหลอกตัวเองหรือเปล่าก็ไม่น่าจะใช่ เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาทำงานในพื้นที่อย่างหนัก มั่นใจ ดังนั้น โค้งสุดท้ายคือการใช้เงิน”

แกนนำอาวุโสคนเดิมวิเคราะห์ต่อว่า ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ทิศทางต่อไปของพรรคในอนาคต คือ การปฏิรูป-การรีแบรนด์พรรค แม้ที่ผ่านมาพรรคจะปฏิรูปตัวเองมาโดยตลอด แต่เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่ทำให้เคลื่อนลำบาก

ส่วนการร่วมรัฐบาล หรือยอมอดทนเป็นฝ่ายค้านจะส่งผลดี-ผลเสียในระยะยาวอย่างไรนั้น เขาระบุว่า คงไม่ได้มีเพียง 2 ทางเลือก และยังเร็วเกินไปที่จะพูดว่าจะเดินไปทางไหน ประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่ (มีจำนวน ส.ส.จำนวนมาก) มีข้อต่อรองเยอะแยะ จึงต้องคิดให้รอบคอบ

“จุดยืน อุดมการณ์คงเปลี่ยนไม่ได้ ต้องยืนอยู่จุดนี้ ไม่งั้นเราก็เหมือนคนอื่น เป็นไม้หลักปักขี้เลน หลักการไม่ผิดอะไร ไม่อยากจะพูดว่าต้องถ่ายเลือดใหม่ เพราะการผสมผสานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ต้องผสมผสานให้ลงตัว น่าจะเปลี่ยนจากวิกฤตเป็นโอกาสได้”

“เฉลิมชัย ศรีอ่อน” อดีตเลขาธิการพรรค วิเคราะห์ว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้พรรคแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ หนึ่ง กระแสของคนรุ่นใหม่ เป็นปัจจัยแรงมาก สอง เงิน ทั่วทุกหัวระแหง และสาม กลัวนายทักษิณกลับมา

“วันนี้ท่านอภิสิทธิ์ลาออก ยังไงประชาธิปัตย์ก็ต้องเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ออกมาอยู่แล้ว ซึ่งไม่รู้ว่า กก.บห.ชุดใหม่จะเป็นใคร แต่ก็ต้องนำเหตุการณ์นี้ไปเป็นบทเรียนปรับปรุงพรรค ยังไงพรรคต้องเดินไปข้างหน้า”

“สิ่งแรกที่ประชาธิปัตย์ต้องทำ คือ การบริหารจัดการปัญหาภายในพรรคก่อน เพราะเรื่องการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลยังอีกนานมาก อย่างน้อย 45 วัน”

“อุดมการณ์ของพรรคไม่เปลี่ยนแปลง พรรคยอมรับในระบอบประชาธิปไตย ส่วนตัววันนี้เป็นประชาธิปไตยแล้ว เพราะการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว ส่วนการตัดสินใจของพรรคจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูแนวนโยบายของผู้บริหารชุดใหม่”

“ความเห็นส่วนตัวกรณีร่วม (รัฐบาล) กับเพื่อไทยคงจะเป็นไปไม่ได้ ส่วนจะร่วมกับ พปชร.หรือไม่ ต้องรอ กก.บห.ชุดใหม่ตัดสินใจ เพราะต้องเป็นฉันทามติว่าจะให้ใครมาบริหารพรรค”

การพ่ายแพ้แบบ “หมดทางสู้” ในศึกเลือกตั้ง ‘62 นอกจากเสียดินแดน-ชนชั้นเมืองหลวงแบบ “หมดรูป” พ่ายแพ้สนามกรุงเทพมหานคร (กทม.) ทั้ง 30 เขต 30 ที่นั่งแล้ว

ฐานที่มั่นอย่างภาคใต้ที่เคยครองแชมป์ระดับส่ง “เสาไฟฟ้า” ลงก็ชนะ ถึง “วันตกต่ำ” สุดขีด เมื่อได้เพียง 24 ที่นั่ง ส่วนภาคเหนือ-กลาง-อีสาน ที่หวังว่าจะได้ “คะแนนตกน้ำ” เป็นกอบเป็นกำก็ “แพ้ทุกประตู”

อดีตที่เคยยิ่งใหญ่ของพรรค 7 ทศวรรษ เคยสร้างเกียรติประวัติ มีหัวหน้าพรรคที่ขึ้นสู่จุดสูงสุด-นายกรัฐมนตรี 4 คน ผ่านการเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 2 ครั้ง พรรคร่วมรัฐบาล 4 ครั้ง พรรคฝ่ายค้าน 10 ครั้ง…

3 ใน 10 มี “อภิสิทธิ์” เป็นผู้นำ

“สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตผู้จัดการรัฐบาล ปชป. เคยวิเคราะห์การประกาศจุดยืนของ “อภิสิทธิ์” ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ ประชาธิปัตย์อาจจะถึงขั้น “สูญพันธุ์”

“จากการเดินสัมผัส ปชป.ตกต่ำมาก ภาพของนายอภิสิทธิ์ไม่สดใสซาบซ่าเหมือนเมื่อก่อน ปชป.ในกรุงเทพฯจะสูญเสีย แต่ไม่รู้ว่ามันจะหนักเหมือนปี 2522 ปี 2535 หรือเปล่า”

“ปี 2522 กรุงเทพฯ ประชากรไทยเอาไปหมดเลย เหลือถนัด คอมันตร์ คนเดียว ปี 2535 มีหนหนึ่งเหลืออภิสิทธิ์คนเดียว อีกหนเหลือ 4 คน ปชป.ถ้าเจอกระแสนี้เมื่อไหร่ ประชาชนกรุงเทพฯ 7 วันสุดท้ายใครทำนายไม่ได้เลย”


6 เมษายน 2562 จะเป็นวันเกิดครบรอบ 73 ปี จะเป็นงานแรกของ กก.บห.รักษาการ ก่อนจะมี กก.บห.ชุดใหม่ภายใน 60 วัน เพื่อตัดสินอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์บนทางสองแพร่ง