‘ณัฏฐ์’ ปลุก ‘ประชาธิปัตย์’ ไม่หนุนพวกสืบทอดอำนาจ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นบุตรชายของนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการที่ปรึกษา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคปชป.และอดีตหัวหน้าพรรคปชป. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก @nutt.bantadtan ถึงความพ่ายแพ้ของพรรคปชป.และแนวทางการบริหารจัดการพรรค ภายหลังพรรคปชป.ไม่ได้อยู่ในหนทางที่ควรจะเป็น โดยระบุว่า

ประกาศไปเลยว่าจะอยู่ไปอีก 5ปี 10ปี ดีกว่าเอาความต้องการนั้นมาสอดไส้อยู่ในรัฐธรรมนูญ

คนอื่นในพรรคประชาธิปัตย์จะคิดอย่างไร อยากเป็นรัฐบาล อยากร่วมรัฐบาลหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ หน้าตารัฐธรรมนูญแบบนี้ ผมว่าเราควรเป็นฝ่ายค้านเพื่อให้แน่ใจว่านายกฯ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแบบครึ่งๆ นี้จะทำงานได้ดีและปลอดโกงจริง

ผมเคยแสดงความเห็นไว้แบบนี้เมื่อปี’59

มาถึงวันนี้ วันที่พรรคประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งแบบราบคาบ มันสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอในการเลือกตั้ง

เสียงส่วนใหญ่เขาเอาแนวทางของพรรคพลังประชารัฐ เขาเอาแนวทางของพรรคเพื่อไทย

ในขณะที่อุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์คือไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยที่ไม่ฟังเสียงข้างน้อย รวมถึงไม่สนับสนุนแนวทางการบริหารประเทศที่ไม่สุจริต

ครั้งหนึ่งเราเคยสนับสนุนพล.อ เปรม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง แต่นั่นเกิดขึ้นหลังจากการเลือกตั้งสิ้นสุดลงโดยชื่อของพล.อ เปรมถูกหยิบยกขึ้นมาภายหลัง นั่นไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ พล.อเปรม ไม่ได้เป็นนายกฯ ก่อนหน้านั้น ไม่ได้ถ่ายรูปติดป้ายหาเสียงกับผู้สมัคร ไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยกับพรรคการเมืองใด ที่สำคัญท่านไม่เคยแสดงพฤติกรรมแบบคุณประยุทธ์ว่า “ไม่อยากเข้ามา แต่อยากอยู่ต่อ” มีรัฐมนตรีรับเชิญในรัฐบาลของท่านออกไปตั้งพรรคการเมืองไว้รองรับ

ดังนั้นพฤติกรรมของคุณประยุทธ์และคณะคือการสืบทอดอำนาจ ซึ่งวันนี้จากผลการเลือกตั้งก็ได้ข้อสรุปว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางนี้

และเช่นเดียวกันกับคะแนนเสียงส่วนใหญ่อีกฟากหนึ่งที่ยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ทั้งๆที่เคยเกิดการเดินขบวนไล่กันมายกใหญ่ในปี’57 แล้วด้วยเรื่องทุจริตต่างๆ และการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

มากไปกว่านั้น เราไม่คิดที่จะย่ำอยู่กับอดีตหรือจมปลักอยู่กับประเด็นการเมือง พรรคประชาธิปัตย์มองไปยังอนาคต เราใช้เวลาในช่วง5ปีของรัฐบาลรัฐประหาร เดินหน้าทำงานหนัก เก็บข้อมูล ศึกษาปัญหาและแนวทางพัฒนาต่างๆ เพื่อให้ได้นโยบายที่ดี เป็นประโยชน์กับคนทุกกลุ่ม เป็นรูปธรรม ตามที่เราได้ร่างและนำเสนอมันออกไปผ่านกระบวนการหาเสียงเลือกตั้ง เรานำเสนออย่างเป็นขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผล พร้อมอ้างอิงถึงความสำเร็จที่เราเคยทำมาในอดีต

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อสรุปที่ทำให้ผมคิดว่า ระหว่างที่ใครต่อใครต่างช่วงชิงการจับขั้วตั้งรัฐบาลตามความต้องการของพวกเขา

หากเรากลับมาทบทวนทั้งอุดมการณ์พรรคฯ หลักการ ทั้งความไว้วางใจต่อเราให้เข้าไปบริหารประเทศของประชาชน รวมไปถึงเหตุผลที่ผมเคยพูดไปก่อนหน้านี้ในปี’59 ซึ่งนั่นก็มีเหตุการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่าในช่วงท้ายของรัฐบาลรัฐประหารเอง ที่ก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนี่ล่ะครับ ก็ยังมีข้อกังขาเรื่องการปราบโกง องค์กรอิสระที่มีหน้าที่เฉพาะเรื่องปราบทุจริตก็ยังมีมติที่กังขาคนทั้งประเทศในบางเรื่อง นี่ยังไม่นับผลเลือกตั้งที่เริ่มจะมีข้อสงสัยกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยังประกาศผลไม่ได้

ผมมองไม่เห็นว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงควรจะไปอยู่ในวงจรของการตั้งรัฐบาลที่มีที่มาและที่ๆจะไปขัดกับอุดมการณ์พรรคฯขนาดนั้น


ผมคงต้องยืนยันเหมือนเดิมว่า “คนอื่นในพรรคประชาธิปัตย์จะคิดอย่างไร อยากเป็นรัฐบาล อยากร่วมรัฐบาลหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ด้วยสถานการณ์แบบนี้ ผมว่าเราควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล อย่างเข้มแข็งบนหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง ของระบอบประชาธิปไตย”