วิกฤตนายกฯคนใหม่

คอลัมน์สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

อีกไม่น้อยกว่า 2 เดือน จึงจะเห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่ (ถ้ามี)

เดือนเมษายน 62 ทั้งเดือน คือเดือนแห่ง “สุญญากาศ”

แม้เวลานี้จะมีผลการเลือกตั้ง “อย่างไม่เป็นทางการ” แบบ 100% แล้วก็ตาม

แต่จะเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรกได้ต้องอาศัยผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เพื่อรับรองการเป็น ส.ส.จำนวน 475 คน หรือ 95% ของ 500 คน

โดยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้

หากผลการเลือกตั้งเป็นไปตามไทม์ไลน์ปกติ คาดว่าหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สักระยะหนึ่งจึงจะเข้าสู่กระบวนการ

คู่ขนานกับปฏิบัติการของขั้วการเมือง 3 ก๊ก เตรียมโหวตเลือกประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล

ตัวเลขการเลือกตั้งที่ปรากฏทำให้เกิดการมัดขั้วรัฐบาล 2 ขั้วหลักประจันหน้า กับอีก 1 ขั้วตัวแปรที่ยังไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ขั้วแรก พลังประชารัฐและพวก 122 เสียง ที่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 1 สมัย

ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.116 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย โดย สุเทพ เทือกสุบรรณ 5 คน และพรรคประชาชนปฏิรูป 1 คน

ขั้วที่สอง พรรคเพื่อไทย และพรรคแบงก์ย่อยที่แตกจากแบงก์พัน รวม 7 พรรค 246 เสียง

ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.เขตทั้งหมด 137 คน พรรคอนาคตใหม่ ส.ส.ทั้งหมด 80 คน พรรคเสรีรวมไทย ส.ส. 10 คน พรรคประชาชาติ ส.ส.เขต 7 คน

และพรรคที่ได้เฉพาะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออีก 3 พรรค คือ พรรคเพื่อชาติ ส.ส. 5 คน พรรคพลังปวงชนไทย ส.ส. 1 คน และพรรคเศรษฐกิจใหม่ ส.ส. 6 คน

ขั้วที่สาม ที่นับว่าสำคัญที่สุด เป็นปัจจัยชี้ขาดให้การเมือง-การบริหารราชการแผ่นดิน ไปต่อหรือเข้าเขต “เดดล็อก-วิกฤตการเมือง”

เป็นขั้วตัวแปร-ขั้วเดดล็อกของพรรคขนาดกลางถึงเล็ก 119 เสียง ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 52 คน พรรคภูมิใจไทย ส.ส. 51 คน พรรคชาติไทยพัฒนา ส.ส. 10 คน พรรคชาติพัฒนา ส.ส. 3 คน

อีก 2 พรรคเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.เฉพาะระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท ส.ส. 3 คน และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน

นอกจากนี้ ยังมีพรรคขนาด 1 คน อีก 11 พรรค ที่อาจจะถูกขั้วที่ 1 และขั้วที่ 2 เทกโอเวอร์ เหมาโหล ประกอบด้วย พลังชาติไทย ประชาภิวัฒน์ พลังไทยรักไทย ไทยศรีวิไลย์ ประชานิยม ครูไทยเพื่อประชาชน ประชาธรรมไทย พลเมืองไทย ประชาธิปไตยใหม่ พลังธรรมใหม่ ไทยรักธรรม

ทั้ง 3 ขั้วมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ไม่เพียงพอต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

จึงมีความพยายามที่จะ “พลิกเกมใหม่” ด้วย “เปรมโมเดล 2019” หรือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก-ตามรัฐธรรมนูญที่ออกแบบรองรับไว้

โดยมี “พรรคขั้วตัวแปร” เป็นเนื้อเสียงหลักรวมกับ “ขั้วพลังประชารัฐ และพวก” เจรจาด้วยเงื่อนไขใหม่ จบที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อาจจะไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อก้าวพ้น “ศูนย์กลางความขัดแย้ง”

เป็นสูตรรัฐบาลกึ่งชั่วคราว เพื่อประคับประคองให้ประเทศเปลี่ยนผ่านไปต่อได้ จากนั้นล้างไพ่-ถอนพิษรัฐธรรมนูญเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่

แต่ถ้าขั้วใด-ขั้วหนึ่งไม่ยอมรับเงื่อนไข การเมืองไทยก็จะเดินเข้าสู่ “วิกฤต” พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ คู่ขนานกับแนวต้านที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดฤดูฝน

สูตรนี้จะเป็นเกมเสี่ยงที่นำไปสู่ก่อนวิกฤตการเมือง “ตุลาอาถรรพ์+พฤษภาทมิฬ”