พรรคตัวแปร ล็อกเสียงรัฐบาลใหม่ พลิกเกมต่อรอง-ขั้วอำนาจพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ตัวเลข 121 ที่นั่ง ฝั่งพรรคตัวแปรขนาดกลาง คือเสียงของพรรคที่ยังไม่ตัดสินใจใด ๆ พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 52 คน พรรคภูมิใจไทย ส.ส. 51 คน พรรคชาติไทยพัฒนา ส.ส. 10 คน พรรคชาติพัฒนา ส.ส. 3 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท ส.ส. 3 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน

บวก 11 เสียงของขั้วพรรคเล็ก จาก 11 พรรค ที่แท็กทีมต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกับขั้วพรรคใหญ่ ประกอบด้วย พลังชาติไทย ประชาภิวัฒน์ 1 พลังไทยรักไทย ไทยศรีวิไลย์ ประชานิยม ครูไทยเพื่อประชาชน ประชาธรรมไทย พลเมืองไทย ประชาธิปไตยใหม่ พลังธรรมใหม่ ไทยรักธรรม

ทั้งขั้วพรรคกลาง+ข้างพรรคเล็ก 132 เสียง หากสะวิงไปฝ่ายใดย่อมทำให้ฝ่ายนั้นชนะเลือกตั้งโดยปริยาย

ไม่ว่าพรรคการเมืองขั้วเพื่อไทย 7 พรรค ที่เคลมตัวเลข 255 เสียง หรือพรรคซีกพลังประชารัฐ ประกอบด้วยพรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคประชาชนปฏิรูป ที่วันนี้มีแค่ 122 เสียง ทั้ง 2 ขั้วยังต้องใช้เสียงจาก “ขั้วตัวแปร” รวมถึงจะต้องใช้บริการของ “งูเห่า” จากพรรคเพื่อไทย-อนาคตใหม่ หากพลังประชารัฐรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล

2 ขั้ว ปชป.หนุน-ต้าน “บิ๊กตู่”

ทั้งนี้ หาก “วัดพลัง” ขั้วตัวแปร-พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังคงแบ่งออกเป็น 2 ก๊ก-1 กั๊ก ระหว่างร่วม-ไม่ร่วมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในสมการ-ศึกชิงจัดตั้งรัฐบาลระหว่างฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์-พลังประชารัฐ (พปชร.) และรัฐบาลพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย-พรรคเพื่อไทย (พท.)

ว่าที่ ส.ส. 52 ที่นั่งในมือพรรคเก่าแก่ 7 ทศวรรษ ถึงแม้วันนี้อดีตพรรคใหญ่ 100 ที่นั่ง กลับกลายเป็น “พรรคตัวแปร” ทว่า ไม่ได้จนตรอกถึงกับสิ้นไร้อำนาจต่อรอง

คำวิเคราะห์ของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” กรรมการสภาที่ปรึกษา-ผู้นำทางความคิดหมายเลข 2 เคยทำนายทิศทาง-อนาคตของพรรคสีฟ้า “ข้ามชอต” ก่อนเลือกตั้งและกำลังจะเป็นพรรคที่เปลี่ยนหัวหน้าพรรค-ถือธงนำในสนามการเมืองถึง 2 คนในรอบ 4 เดือนกับ 22 วัน

“ไม่ว่าตัวหัวหน้าพรรคจะมีจุดยืนในใจตัวเองอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ภาคภูมิใจได้อยู่เสมอ คือ อุดมการณ์พรรคและหัวหน้าพรรคจะหยั่งความรู้สึกของบรรดาสมาชิกทั้งหลายที่ให้การสนับสนุนว่า คิดอ่านกันอย่างไรต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่”

“ปชป.จะไม่ฝังอยู่ในอดีตจนกระทั่งไม่สนใจความเป็นจริงในปัจจุบัน และสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต ความจริงยุคหลัง ๆ มันพิสูจน์ให้เห็นว่าพรรคมีความคิดอ่านเป็นเสรีประชาธิปไตยมากกว่าอนุรักษนิยม”

แม้วันนั้นกับวันนี้-บริบททางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป แต่คำตอบที่ “คาดเดาได้ง่าย” แต่ “ไม่ง่ายที่จะตอบ” แทนแฟนพันธุ์แท้ว่า พร้อมจะจับมือกับ “พรรคเครือข่ายทักษิณ” 

แต่จะให้ฟันธงว่า ต้องจับมือกับทหาร-พล.อ.ประยุทธ์แห่งพลังประชารัฐ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน…แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ !!!

“ในอดีตพิสูจน์มาแล้วว่า เราไม่เคยจับมือกับเขาง่าย ๆ เว้นแต่มีเหตุผลพอสมควรต่อสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ทุกครั้งที่ไปร่วม สิ่งที่ ปชป.จะยืนยันอย่างชัดเจน คือ ไปร่วมกับเขาแล้วสามารถทำในสิ่งที่เราอยากจะทำได้หรือไม่ มันไม่ง่ายทั้ง 2 ด้าน”

“คนกล่าวอ้างว่าเป็นพรรคการเมืองแล้วต้องมีอำนาจรัฐ ถ้าไม่มีอำนาจรัฐแล้วจะเอาอุดมการณ์ นโยบายมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนได้อย่างไร แต่บางส่วนเห็นว่า ไปร่วมแล้วทำอย่างนี้ได้แน่หรือ”

ดังนั้น หาก ปชป.ต้องตัดสินใจเลือกข้าง-เลือกฝั่ง ปชป.ต้องดูว่า นโยบายที่พรรคพูดไว้กับประชาชนจะได้รับการปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน แต่หาก ปชป.ต้องตัดสินใจเลือกอยู่กับ “ลุง” คนใดคนหนึ่ง ไม่แน่ว่าอาจจะมีลุงเกิดขึ้นอีกคน ที่ไม่ใช่ “ลุงตู่” ก็เป็นได้…

รมต. 2 กระทรวง เงื่อนไข ภท.

ภูมิใจไทย (ภท.) ที่มี “อนุทิน ชาญวีรกูล” กุมบังเหียนเป็นหัวหน้าพรรค เก็บตัวเงียบตั้งแต่หลังปิดหีบเลือกตั้ง เดินสายเรียนหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รอผลเลือกตั้งจาก กกต.อย่างเป็นทางการ-ไม่ขอพูดประเด็นการเมือง

แม้ถูกทาบทามจากทั้ง 2 ขั้ว คือ ทั้งขั้วเพื่อไทย และขั้วพลังประชารัฐ

ข้อเสนอพิเศษที่ขั้วเพื่อไทยมอบให้ คือ “เก้าอี้นายกรัฐมนตรี” ซึ่งมีค่ามากกว่าเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ หรือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ

ทว่า…ตำแหน่งนายกฯ จากฝั่งเพื่อไทย อาจมีคู่แข่งหลายคน ทั้ง “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้ง ที่แท้จริงแล้ว เส้นทางการเมือง 27 ปี เดินไปไกลมากกว่าตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์ เพราะตำแหน่งในใจของ “แม่ทัพหญิง” ตั้งแต่แรกคือการก้าวไปสู่แคนดิเดตนายกฯของพรรค ที่วันข้างหน้าอาจไม่ใช่แค่แคนดิเดต ยังไม่นับ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” แห่งอนาคตใหม่ พันธมิตร-ผู้สนับสนุนหลักเพื่อไทย

แต่ condition ภายใต้การร่วมรัฐบาลของ ภท. 1.ตำแหน่งว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง ภท.เคยครอบครองมาก่อนในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ โดย มท.1 ในวันนั้นคือ “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” ผู้เป็นพ่อของ “อนุทิน” และยังมี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรค ภท. เคยนั่งเป็นประธานคณะทำงาน มท.1 เชื่อมโยงการเมืองชาติ-ท้องถิ่น มีแพลนจะขยาย “บุรีรัมย์โมเดล” ออกสู่จังหวัดอื่น ๆ

2.ตำแหน่งเสนาบดีคมนาคม ซึ่งเคยเป็นของ ภท.ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เช่นกัน “อนุทิน” หมายมั่นปั้นมือใช้โควตาคมนาคม ผุดโครงการเมกะโปรเจ็กต์ตามที่หาเสียงเอาไว้

“โครงการระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภท.เน้นให้มีถนน มีมอเตอร์เวย์ มีทางด่วน ขยายช่องทางจราจรมากขึ้น ให้คนไทยทั่วประเทศ ไม่ต้องพึ่งการขนส่งสาธารณะเพียงอย่างเดียว รถไฟความเร็วสูงอาจทำได้เพียงสายสั้น ๆ ขืนเอาเงินไปทิ้งตรงนั้นหมด กว่ารถไฟความเร็วสูงจะเสร็จ ประชาชนคงทนไม่ไหว”

ชพน.ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน

ด้านความเคลื่อนไหวของชาติไทยพัฒนา (ชพน.) “เทวัญ ลิปตพัลลภ” หัวหน้าพรรคชัดถ้อยชัดคำว่า ยังไม่ตัดสินใจจะไปอยู่ขั้วไหน ต้องรอการประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 9 พ.ค. ย้ำจุดยืน “no problem” ไม่ร่วมกับฝั่งที่สร้างปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติ

ส่วน “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ยอมรับว่า ผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเป้าหมายและการคาดการณ์ของแกนนำพรรค แต่ถือว่าเป็นที่น่าพอใจและยอมรับในผลการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน ก็มีภาพปรากฏว่า “สุวัจน์” กับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” กองเชียร์พรรครวมพลังประชาชาติไทย เดินเคียงคู่กัน แต่ปฏิเสธว่า ยังไม่ได้คุยว่าจะจับมือร่วมงานกับพรรคการเมืองใด

แม้วันนี้ “ชาติพัฒนา” มีพลังต่อรองแค่ 3 เสียง ลดลงจากเลือกตั้งปี 2554 ที่เคยได้ 7 เสียง แต่นักการเมืองด้วยกันย่อมรู้ดีว่า “ชาติพัฒนา” ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ประกาศใช้เป็นต้นมา

ชทพ.เจอตอ ก.เกษตรฯ

ฝั่งชาติไทยพัฒนา “กัญจนา ศิลปอาชา” เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.ทั้งเขตและบัญชีรายชื่อแค่ 10 คน

ลดจากเลือกตั้งเมื่อ 8 ปีก่อนถึง 9 ที่นั่ง แม้ว่ามีเสียงเพียงพอต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาลผสม แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โควตาเก่าแก่แต่กาลก่อนของชาติไทยพัฒนา อาจจะต้องเจอกับกระดูกชิ้นโตที่มา “ขวางทาง”

เพราะ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ประกาศทุกวงสนทนาทางลับ “จอง” เก้าอี้รัฐมนตรีเกษตรฯไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

แต่เดิมพันจับขั้วรัฐบาลครั้งนี้ เก้าอี้รัฐมนตรีอาจไม่สำคัญเท่าการที่ “ชาติไทยพัฒนา” ต้องทำตามสปอนเซอร์ใหญ่ ที่เป็นทุนรอนใช้ในช่วงสู้ศึกเลือกตั้ง

พรรคเล็กผนึกต่อรอง

ขณะที่พรรคเล็ก 11 พรรค รวมถึงพรรคพลังท้องถิ่นไท จะเป็นตัวต่อรองที่มีพลังสูง ซึ่งแนวโน้มตัดสินใจจะปรากฎหลัง กกต.ประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งวอร์รูมยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ หมายมั่นปั้นมือจะรวมเสียงพรรคเล็กยิบ ๆ ย่อย ๆ มาร่วมรัฐบาลให้ได้

คณิตศาสตร์การเมือง-การต่อรองกับขั้วอำนาจพิเศษ

ยังเป็นแค่เกม “ปั่นราคา” ต่อรองเก้าอี้และผลประโยชน์

คอการเมืองยังต้องกลั้นหายใจลุ้นจนกว่า กกต.ประกาศรับรองผล

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!