“คสช.” โต้ แอมเนสตี้ ยัน กระบวนการยุติธรรมไทย เป็นหลักสากล ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิสู้คดี

“คสช.” ชี้ กระบวนการยุติธรรมไทย เป็นหลักสากล ระบุ ไม่มีวิธีการใดเป็นการ “ปิดปาก”อย่าที่ กล่าวหาทางการไทย ชี้ การเรียกร้องสิทธิ์ตามองค์กร ขอหลีกเลี่ยงการสร้างให้สังคมไทยแตกแยก ย้ำจนท.ใช้กระบวนการตามกฎหมาย ดำเนินคดีตามเหตุแห่งพฤติกรรม

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ “แอมเนสตี้” ออกมาเรียกร้องในคดี นายธนาธรณ์ จึงรุ่งเรื่องกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุใช้กระบวนการยุติธรรม เพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้ามการเมืองนั้น ว่า อาจเป็นความเข้าใจที่สับสน การดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายกติกาสังคม ไม่น่าใช่การจะไปปิดหรือเปิดปากใคร เท่าที่เห็นการพูดแสดงความเห็นในเรื่องใดๆ ก็ยังทำได้ปกติ และด้วยลักษณะเฉพาะตัวของหลายๆบุคคล เชื่อว่าไม่มีปัจจัยใดเลยที่จะไปบีบบังคับใครได้ การให้ความเห็นของบางองค์กรจากต่างประเทศ อาจมีลักษณะเฉพาะตามธรรมเนียมองค์กร ที่ได้รับข้อมูลมาแบบจำกัด ไม่ต่างจากอดีต เชื่อว่าส่วนใหญ่คุ้นชิน

“ยืนยันผู้ถูกกล่าวหาได้รับสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ เช่นการใช้พยานหลักฐานในการพิสูจน์ความจริง การแก้ข้อกล่าวหา การใช้กลไลในกระบวนการสืบสวนสอบสวน การได้รับสิทธิคุ้มครองตามหลักกฎหมาย ไม่แตกต่างจากการดำเนินคดีของบุคคลอื่นๆในคดีอื่นๆ ในศาลเฉพาะทางอื่นๆเชื่อว่า จนท.ดำเนินคดีตามหลักกฎหมาย เคารพในสิทธิเสรีภาพของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดี”รองโฆษกคสช. กล่าวและว่า

การดำเนินคดีเป็นไปตามเหตุแห่งพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองท่านใดฝ่ายใด หากเจ้าหน้าที่มีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีการกระทำผิด. ก็เป็นเรื่องที่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ตามกระบวนการสากล

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับการพิจารณาคดีในอำนาจของศาลทหาร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผลการพิจารณาคดีที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรากฏพบข้อกังขาใดๆ ทุกอย่างล้วนเป็นไปตาม พยานหลักฐาน ที่ปรากฎ

“ขอยืนยันเป็นกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ทุกฝ่ายได้พิสูจน์ความจริง เป็นสิ่งที่เป็นหลักสากล ไม่มีวิธีการใดเลยที่เป็นการ”ปิดปาก”อย่าที่ แอมเนสตี้ใช้คำนี้กล่าวหาทางการไทย ขอเรียนว่า สังคมไทยเป็นหนึ่งเดียว แม้จะมีหลากหลายในความคิดเห็นทางการเมือง คนไทยทุกคนก็ยังได้รับการปฎิบัติในมาตรฐานเดียวกัน ส่วนผู้ที่กระทำผิดกฎหมายก็ต้องถูกดำเนินการตามหลักนิติรัฐ เพื่อความสงบสุขของสังคมไทย”พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าว

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวว่า การเรียกร้องสิทธิตามบทบาทขององค์กร ก็ว่ากันไป แต่ควรหลีกเลี่ยงการสร้างให้สังคมไทย เกิดการแบ่งฝ่าย และขอให้รับฟังกระแสสังคมไทยส่วนใหญ่ต่อประเด็นดังกล่าวด้วย เพื่อวางบทบาทขององค์กรในจุดที่พอเหมาะพอควรต่อไป

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์