“นิกร” หนุนยื่นศาลตีความปมวิธีคำนวณ ส.ส. หวั่นเลยเถิด กลายเป็นปัญหา “ทศนิยมไม่รู้จบ”

“นิกร” ระบุ ถูกต้องแล้วที่ กกต. ยื่นศาล รธน.ชี้ขาด ยอมรับ ไม่มีทางออกแล้ว วอนศาล รธน.รับวินิจฉัย บอกผลออกมาอย่างไรทุกคนต้องยอมรับ ลั่นอย่าให้กลายเป็น “ทศนิยมที่ทำให้ปัญหาไม่รู้จบ”

เมื่อวันที่ 12 เมษายน นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเอกฉันท์ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสูตรคิด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ว่า คงต้องขอบคุณ กกต.ที่ยอมเสียหน้า ยอมรับในปัญหาที่เกิดขึ้นโดยไม่ยอมปล่อยไว้ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาแบบทีเดียวเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผลจะออกอย่างไรก็ตามก็ไม่ได้เป็นปัญหาของ กกต. แต่เป็นปัญหาที่เนื้อหาของกฎหมายที่มีความคลุมเครือมาตั้งแต่ต้นแล้ว ซึ่งเมื่อครั้งที่ตนเป็น สปท.ได้เคยทักท้วง เพราะถ้าจะโทษก็ต้องโทษชุดกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ของ สนช.ที่ไม่เคยถามฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติเลยแม้แต่นิดเดียว จึงทำให้เกิดปัญหา เพราะเขานั่งคิดเอาเองโดยผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติ ไม่เคยใช้ แต่กลับคิดเอาเอง มโนเอาเอง แต่ขณะที่ทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกกฎหมาย เขายังเชิญนักการเมืองมาให้ข้อคิดเห็น

“ถือว่าถูกต้องแล้วที่ กกต.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ปัญหาก็จะอยู่ที่ศาลว่า จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าศาลน่าจะรับไว้ เพราะถ้ารับไว้พิจารณาตอนนี้ก็ยังทันมีเวลาก่อน 9 พฤษภาคม ไม่เช่นนั้นถ้ารอไปอีกกว่าถั่วจะสุกงาก็จะไหม้ แล้วถ้าเลยวันที่ 9 พฤษภาคมไปจะทำอย่างไร จึงอยากวิงวอนให้ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา เพราะมีปัญหาขึ้นแล้วคือการหาทางออกไม่ได้ เกิดการแย้งและขัดแย้งกันมากของหลายฝ่าย เช่น นักคณิตศาสตร์ นักวิชาการ ซึ่งถือเป็นความขัดแย้งที่สมบูรณ์อยู่ในตัว ยิ่งกว่ามีปัญหา ไม่มีทางออกแล้ว ศาลเป็นที่สุดท้ายและเมื่อตัดสินอะไรมาทุกคนก็ต้องยอมรับ เรื่องจะได้จบ ปัญหาที่รออยู่หลายปัญหา เช่น ด้านการเมือง ด้านกฎหมาย จะได้ไม่ลุกลามไปกันใหญ่ ระหว่างนี้ กกต.ก็ไปดูเรื่องเขตที่ยังต้องเลือกตั้งใหม่นับ คะแนนใหม่คะแนนยังไม่นิ่ง แต่ถ้าคะแนนนิ่งแล้วสูตรคิดไม่มีก็ยุ่งเลยทีนี้” นายนิกรกล่าว

ส่วนกรณีที่ยังมีข้อถกเถียงกันถึงเลขทศนิยม ที่น้อยกว่า 1 เช่น 0.8 จะถือว่าเกินกว่าจำนวน ส.ส.ที่พึงมีหรือไม่นั้น นายนิกรกล่าวว่า เรื่องสัดส่วนผสมนั้นถือเป็นหลักการใหม่ กกต.เสนอการนับแบบ 5% ทั้งที่เป็นของการเลือกตั้งครั้งก่อนๆแต่นำมาปนกัน ทั้งที่ปนกันไม่ได้ ดังนั้น การพูดถึงคะแนนตกน้ำจะบอกว่า ทุกคะแนนไม่ได้ แต่จะมีอยู่เพียงส่วนหนึ่งที่ต้องนำมาถูกคิด แต่ของพรรคการเมืองที่ได้ไปแล้วจะเอาไปไหน หลายหมื่นคะแนนอย่างนั้นถือว่า เป็นเสียงตกน้ำชิ้นใหญ่ เขาก็เลยไม่ยอมกัน แต่ตอนนี้มีจำนวน ส.ส.พึ่งมีอยู่ก็ต้องนำมาหาร ตามเจตนารมณ์ของการพึ่งมี ถือว่าเป็นคนละระบบกับเมื่อก่อน ดังนั้นถ้าระบบสัดส่วนผสม กับแบบสัดส่วนเดิมที่ 5% นั้น มันคล้ายกันแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ถ้านำมาคิดร่วมกันก็ถือว่ามั่วแล้ว จะกลายเป็นทศนิยมที่ทำให้ปัญหาไม่รู้จบ

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์