“รัฐบาลแห่งชาติ” ภายใต้รัฐธรรมนูญ

แม้ว่าเทศกาลมหาสงกรานต์จะทำให้หลายภาคส่วน “พักผ่อน-พักงาน” เป็นโบนัสชีวิตช่วงวันขึ้นปีใหม่ของไทย

ทว่าการเมืองกลับไม่มีคำว่า “พัก”  

วาระการเมืองเรื่อง “รัฐบาลแห่งชาติ” กระแสมาพีคเอาช่วงที่ชาวบ้านร้านถิ่นสาดน้ำกันชุ่มฉ่ำถ้วนหน้า ในจังหวะที่ 3 ก๊กการเมืองกำลังวัดพลังในการจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างพันธมิตรพรรคเพื่อไทย กับ ฝ่ายก๊กพลังประชารัฐและพวก และฝ่ายกั๊กอย่าง “ประชาธิปัตย์”

ทั้งที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดเอาไว้ล่วงหน้าก่อนวันหยุดยาวว่า

“อยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน ดังนั้นการจะพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติ จึงยังเป็นไปไม่ได้ เพราะขั้นตอนยังไม่จบ ต้องไปดูวัตถุประสงค์อะไรในการออกมาพูดในลักษณะนี้ ไม่ใช่ใครอยากจะกำหนดกติกาอะไรก็ได้ ขอให้ไปดูกฎหมายและทำความเข้าใจให้ดี”

แต่ในจังหวะที่สถานการณ์ของทั้งสองฝ่ายไม่มีฝ่ายใดได้เสียงข้างมากเพียงพอ ถึง 270 เสียงที่จะตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้

 “เทพไท เสนพงศ์” ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ก็ปล่อยมุข “รัฐบาลแห่งชาติ” ขึ้นมาให้สังคมการเมืองแตกตื่น 

พร้อมโยน 4 ชื่อแคนดิเดต “ว่าที่นายกฯ ในรัฐบาลแห่งชาติ”

1.พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ.  

2.นายพลากร สุวรรณรัฐ  

3.นายศุภชัย พานิชภักดิ์  

4.นายชวน หลีกภัย  

เพียงแค่ 1 วันหลังจาก “เทพไท” โยนมุขรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาบนโต๊ะก็ถูกถล่มอย่างหนักทั้งจากขั้วพันธมิตรเพื่อไทย จากฝั่งพลังประชารัฐที่หนุน “พล.อ.ประยุทธ์”

และถูกมองว่าเป็น “มุข” ของผู้แพ้ ในยามที่ประชาธิปัตย์กำลังแตกเป็น 2 ก๊ก เข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ หรือ ยอมเป็นฝ่ายค้าน

กับเป็น “มุขเสี้ยม” ที่สกัด ไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ รอบสอง

อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนเลือกนายกฯ เพื่อนำไปสู่การ “ตั้งรัฐบาล” ไม่ว่าจะ “แห่งชาติหรือไม่” มีอยู่ 2 ขั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 และ 272 กำหนดชั้นตอนว่า   

1.เลือกจากบัญชีนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอ ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ โดยให้เลือกนายกฯ เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภา ไม่น้อยกว่า 25 คน หรือร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ สภาผู้แทนราษฎร  

การเสนอชื่อตามต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมด เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ในการลงมติคนที่จะได้เป็นนายกฯ จะต้องได้รับเสียงโหวตกึ่งหนึ่งของรัฐสภา (ส.ส.และ ส.ว.) คือ 376 เสียง

ซึ่งเป็นทางที่ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ เชื่อว่าการตั้งนายกฯ –ฟอร์มรัฐบาลจะเกิดตามสูตรนี้  ไม่มีรัฐบาลแห่งชาติ ไม่มี “ทางตัน” ในการหาตัวนายกฯ คนที่ 30

“หากเราสังเกตดูจะเห็นว่า คนที่คิดถึงรัฐบาลแห่งชาติ คือคนในกลุ่มหรือฝ่ายที่มีคะแนนเสียงที่ไม่มั่นคง ไม่ถึง 250 ใช่หรือไม่ จึงพยายามชวนไปหารัฐบาลแห่งชาติ แต่สถานการณ์คงไม่เป็นไปถึงทางตันเช่นนั้น และจะมีการจัดตั้งรัฐบาลปกติได้

“รัฐบาลแห่งชาติที่พูดกันอยู่เชื่อว่าไม่มี เพราะสุดท้ายแล้วพรรคการเมืองที่มีอยู่จะปรับตัวเข้าหากันได้ ไม่มีใครอยากถอยกลับไปสู่ความวุ่นวายขัดแย้ง ทุกคนพร้อมทำงานเพื่อบ้านเมือง”

แต่ถ้าการโหวตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองถึง “ทางตัน” จะต้องควานหาตัวนายกฯ นอกบัญชีพรรค ซึ่งอาจจะนำมาสู่รัฐบาลแห่งชาติได้

ซึ่งจะเข้าสู่การเลือกนายกฯ ในแบบที่ 2  ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 272  โดยขั้นตอนขอให้มีการโหวตเลือกนายกฯ คนนอก มี 2 ขั้นตอน

ในขั้นที่ 1 จะต้องมีเสียงในขั้นแรก 376 เสียง จากที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส.- ส.ว.) เพื่อขอยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาของดเว้นไม่ต้องเลือกนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมือง

ขั้นที่ 2 ต้องใช้เสียงสนับสนุนอย่างต่ำๆ จากทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 คือ 500 เสียง เพื่อขอให้งดเว้นการโหวตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมืองได้ จากนั้น ส.ส.- ส.ว.จะยกมือโหวตนายกฯ คนนอก ซึ่งจะต้องได้รับเสียงขั้นต่ำ 376 เสียง ถึงจะได้เป็นนายกฯ  

ซึ่งนายกฯ คนนอก อาจจะไม่ใช่ “พล.อ.ประยุทธ์” เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง – แก้เดดล็อกการเมือง

เมื่อตามกลิ่นแนวคิด “รัฐบาลแห่งชาติ” 5 ปี หลังสุด

มีการพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติ – นายกฯ คนกลาง ก่อนที่ “พล.อ.ประยุทธ์” นำกำลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เสียอีก

และคนที่ชูประเด็น “นายกฯ คนกลาง – รัฐบาลแห่งชาติ” มีมากมายหลายคน

อาทิ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” อดีตนานยกฯ “เสนาะ เทียนทอง” ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย “พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ชื่อที่เคยปรากฏอยู่ใน “ลิสต์” นายกฯ เฉพาะกิจรัฐบาลแห่งชาติ ที่เคยถูกโยนออกมามีทั้ง “กิตติพงษ์ กิตยารักษ์” อดีตลัดกระทรวงยุติธรรม “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ.

แต่สิ่งที่ต้องจดจำคือ ตลอด 87 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีสภาผู้แทนราษฎร มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน

ไม่เคยมีครั้งใดที่ไม่มีฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เท่ากับว่าไม่เคยมีรัฐบาลแห่งชาติ ในกรณีที่ฝ่ายรัฐบาล – ฝ่ายค้านจับมือกันเป็นรัฐบาลเฉพาะกิจ

เว้นแต่เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเท่านั้น