ตั้งรัฐบาล “เดดล็อก” ชงล้มเลือกตั้ง องค์กรอิสระชี้ชะตา โมฆะรอบ 3

เกมชิงการจัดตั้งรัฐบาลเดินมาถึงทางตัน-เดดล็อก งัดข้อกันไม่ลง ไม่ว่าขั้วเพื่อไทย-พลังประชารัฐ ได้รวบรวมเสียงจากพันธมิตรตั้งรัฐบาล ก็ได้เป็นรัฐบาล “ปริ่มน้ำ”

พรรคเพื่อไทยถึงขั้น “กัดฟัน” ยอมเป็นฝ่ายค้าน เพราะเสียงไม่พอที่จะเปิดประตูทำเนียบรัฐบาล ส่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เข้าตึกไทยคู่ฟ้า เนื่องจากรวมเสียงอย่างไรก็สู้เสียงขั้วพลังประชารัฐ + ส.ว.ลากตั้ง 250 ในกระเป๋าไม่ได้ 

เมื่อการเมืองเดินมาถึง “แดนอันตราย” นอกจากการโยนหินถามทางการตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” แล้ว คู่ขนานกันนั้นมีความเคลื่อนไหวของ “ขาประจำ” เดินสายร้อง-ล้มการเลือกตั้งให้มีอันเป็นไป-โมฆะ

บนสมมุติฐานว่าจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจกลายเป็นชนวนให้การเลือกตั้ง 62 เป็นการเลือกตั้งโมฆะ และลุกลามไปถึงการยื่นถอดถอน 7 กกต.

“ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 399 รายชื่อยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อถอดถอน กกต. 7 คนออกจากตำแหน่ง

กรณีจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อํานาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. 62 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ยังยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้เสนอความเห็นไปยังศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 62 เป็นโมฆะหรือไม่

“การนับคะแนนต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ห้ามหยุดพัก กกต.ยังระบุว่า ความคลาดเคลื่อนส่วนหนึ่งเกิดจากยังไม่ได้นำคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า รวมถึงเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอีกกว่า 2 ล้านใบมานับรวม จึงมีเหตุสมควรให้ผู้ตรวจส่งเรื่องให้ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว ก่อน กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 9 พ.ค.”

การยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะมาแล้ว 2 ครั้ง และลุกลามถึงขั้นถอดถอน กกต. จนถึงขั้นต้องรับโทษอาญา-ติดคุกเคยมีมาแล้ว 1 ครั้ง

ครั้งที่ 1 การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 49 “รัฐบาลทักษิณ” ประกาศยุบสภา 3 พรรคการเมือง ได้แก่ ปชป. พรรคชาติไทย (ชท.) และ พรรคมหาชน ประกาศ “คว่ำบาตร” การเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคไทยรักไทย (ทรท.) ไม่ร่วมลงสัตยาบันเพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 40 มาตรา 313 เพื่อให้มีคณะบุคคลที่เป็นกลางยกร่างรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งครั้งนั้นเกิดปรากฏการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้นมากมาย อาทิ ผู้สมัครได้คะแนนน้อยกว่าคะแนนผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน (โหวตโน) มีผู้สมัครจากพรรคอื่นมากกว่า 1 พรรค-จ้างพรรคเล็ก จนเป็นเหตุให้ ทรท.ถูกยุบในเวลาต่อมา

คูหาเลือกตั้งหันหลังออกทำให้สามารถมองเห็นการลงคะแนนได้โดยง่าย

นอกจากนี้ ยังมีข้อวิจารณ์การทำงานของ กกต.จำนวนมาก อาทิ การกำหนดวันเลือกตั้ง 2 เม.ย. 49 องค์ประชุมไม่ครบ การเลือกตั้งใหม่ 40 เขต ให้ผู้ที่เคยสมัครในการเลือกตั้งรอบแรกใช้หมายเลขเดิม

เปิดโอกาสให้ผู้ขาดคุณสมบัติสมัครลงเลือกตั้ง อาทิ เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ครบ 90 วัน เปิดโอกาสให้ผู้สมัครเวียนเทียนสมัครโดยขาดคุณสมบัติ

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 6 เสียง ว่าการดำเนินการของ กกต.ดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้มีการเพิกถอนการเลือกตั้ง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

นอกจากนี้ กรรมการ กกต.ยังถูกคำพิพากษาให้ “จำคุก” 

ครั้งที่ 2 การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประกาศยุบสภา ภายหลัง “นิรโทษกรรมสุดซอย” เป็นพิษ ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ต้องการให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลาออก-ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

กลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ในหลายจังหวัดได้ขัดขวาง-ปิดล้อมสำนักงานเขต-หน่วยเลือกตั้ง โดยเฉพาะ กทม.และภาคใต้ จนไม่สามารถเปิดการลงคะแนนได้ ทำให้ กกต.ไม่สามารถ “นับคะแนนภายในวันเดียวทั่วประเทศ” ของวันเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

ต่อมา 21 มี.ค. 57 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่สามารถเลือกตั้งให้แล้วเสร็จทั่วประเทศได้ภายในวันเดียวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง และเมื่อพระราชกฤษฎีกาในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย

และตอนปี 2557 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 โมฆะ เกมขยับมาที่องค์กรอิสระอีกครั้ง จะยื่น-ไม่ยื่นให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ