“ปิยบุตร” ….. “นักการเมืองต้องทนได้ทุกอย่าง”

เส้นทางสายวิชาการของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เกิน 1 ทศวรรษ

ส่วนเส้นทางการเมืองของ “ปิยบุตร” แค่ 1 ขวบปี

แต่ใน 1 ขวบปีทางการเมือง “ปิยบุตร” กลับต้องตกเป็น “ผู้ต้องหา” และต้อง “พิมพ์ลายนิ้วมือ” ทั้ง 10 นิ้ว เป็นครั้งแรกในชีวิต

เขาบอกว่า “ผมสอนหนังสือมา 16 ปีไม่เคยคิดว่าจะถูกเป็นผู้ต้องหา แต่วันนี้มาทำงานการเมืองได้ไม่ถึง 1 ปีก็เจอเรื่องนี้ขึ้น”

“ปิยบุตร” เจอกับ 2 ข้อกล่าวหา ฐานดูหมิ่นศาล และนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ กรณีอ่านแถลงการณ์ปมยุบพรรคไทยรักษาชาติ

“ปิยบุตร” กล่าวถึง “ 2 ข้อกล่าวหา” ภายหลังเข้าพบพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งเขาตกเป็นผู้ต้องหาเต็มตัว ว่า ในช่วงการสอบสวน พนักงานสอบสวนทำเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษโดย คสช.มอบอำนาจ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมาย คสช.กล่าวโทษในสองความผิด 1.ความผิดหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

“ความผิดเรื่องดูหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มจาก คสช.ซึ่งหัวหน้า คสช.เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ คู่แข่งกันทางการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ แต่ คสช.กลับมอบอำนาจให้บุรินทร์กล่าวโทษผม จึงตั้งเป็นข้อสังเกตเรื่องดูหมิ่นศาล เรื่องเริ่มต้นจาก คสช.และหัวหน้า คสช.เป็นคู่แข่ง”

“ความเห็นของผมอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้รองรับไว้ว่าอำนาจเป็นของประชาชน และองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยคือ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ศาลจึงใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนในเรื่องตุลาการ ดังนั้น การตรวจสอบ การวิพากษ์วิจารณ์ถ้าเจ้าของอำนาจจะวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ ฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ส. ส.ว.ก็ถูกบุคคลทั่วไปวิจารณ์อยู่เสมอ ดังนั้น องค์กรตุลาการก็ควรอยู่ในระนาบเดียวกันให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นศาลที่ตัดสินในเรื่องผลลบทางการเมือง ยิ่งต้องสามารถวิพากษ์ วิจารณ์ได้”

“ระบบที่สำคัญที่สุดให้สาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัย คำพิพากษา ซึ่งผมทำหน้าที่นี้มาโดยตลอด แต่สอนหนังสือมา 16 ปีไม่เคยคิดว่าจะถูกเป็นผู้ต้องหา แต่วันนี้มาทำงานการเมืองได้ไม่ถึง 1 ปีก็เจอเรื่องนี้ขึ้น”

“ปิยบุตร” ชี้ช่องโหว่ของกฎหมายอาญาที่ คสช.ใช้มาเอาผิดตัวเขา ว่า เทียบเคียงเรื่องดูหมิ่นศาลกับการดูหมิ่นบุคคลที่ 3 โดยปกติคนที่ถูกกล่าวหาให้เสียชื่อเสียงต้องเป็นผู้ริเริ่มดำเนินคดี แต่กรณีนี้มาจากฐานความผิดศาลไปอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดต่อแผ่นดิน ใครก็ได้สามารถไปร้องทุกข์กล่าวโทษให้หมด เรื่องนี้เปิดช่องทางในการร้องได้หมด จะเป็นปัญหาต่อไป

“ถ้าคดีนี้เดินเรื่องต่อไป และท้ายที่สุดผมมีความผิดขึ้นมาจริงๆ จะทำให้บรรทัดฐานการวิพากษ์วิจารณ์องค์ผู้ใช้อำนาจรัฐจะไม่ได้มาตรฐาน และต่อไปใครวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสิน อีกคนใครก็ไม่รู้เดินไปแจ้งความได้หมด ซึ่งเป็นจุดอ่อนของกฎหมายไทย แต่อย่างน้อยที่สุดที่ผมถูกกล่าวโทษในคดีนี้ให้เป็นบทเรียนว่าสภาพการใช้กฎหมายมีข้อบกพร่องอย่างไรที่กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชน”

อย่างไรก็ตาม “ปิยบุตร” มั่นใจกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยว่าจะไม่กลั่นแกล้งพรรคอนาคตใหม่

“มั่นใจในความเป็นกลางยืนอยู่บนหลักการความยุติธรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวน แต่กระบวนการที่เริ่มต้นต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะ คสช.มอบอำนาจให้มาริเริ่มกล่าวโทษตน สาธารณชนคงใช้วิจาณญาณได้ว่า เหตุใดพรรคอนาคตใหม่ตั้งมาได้ 1 ปี เจอเรื่องราวเหล่านี้ตลอดเวลา”

แต่ในฐานะตัวแทนประชาชน “ปิยบุตร” ยอมรับว่าต้องอดกลั้นต่อความเห็นต่าง

“ผมมาเป็นนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นตัวแทนประชาชน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องอดทนอดกลั้นกับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ถ้าไม่อดทนอดกลั้น สังคมประชาธิปไตยไปต่อไม่ได้ ทั้งนี้ ตนและนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค อดทนอดกลั้นต่อการแสดงความคิดเห็นต่างอย่างที่สุด หลายเรื่องที่เป็นการกล่าวเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีอันเป็นเท็จแต่ก็เข้าใจและอดทน

“ในเมื่อจะยืนหยัดเป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้องทนได้ทุกอย่าง อยากฝากว่านักการเมืองที่จะมาจากการยึดอำนาจต้องอดอดทนอดกลั้นด้วยเหมือนกัน รวมทั้งองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐต้องอดทนอดกลั้นต่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง เราเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้งยังทนได้ นักการเมืองที่มาจากการยึดอำนาจก็ต้องทนให้ได้เช่นเดียวกัน” นายปิยบุตรกล่าว

หลังจากนี้ “ปิยบุตร” และทีมทนายความ จะกลับไปเตรียมคำให้การและพยานหลักฐาน และมาพบ ปอท.ในวันที่ 25 เม.ย. ทั้งที่ทีมทนายขอเวลา 15 วันเตรียมคำให้การแต่กลับได้เวลาเพียง 9 วัน

“ปกติมีเวลาถึง 30 วัน แต่เนื่องจากคดีนี้ขอเร่งรัดกันมา สุดท้ายได้เป็นวันที่ 25 เม.ย.จะทำคำให้การและระบุพยานหลักฐาน ซึ่งผมในฐานะผู้ต้องหาเต็มตัวย่อมมีสิทธิในการให้การของผู้ต้องหา แต่ผมกลับมีเวลา 9 วัน ซึ่งตนเพิ่งได้รับทราบว่าโดนกล่าวโทษด้วยถ้อยคำไหน อย่างไร ข้อความต่างๆ ที่ คสช.กล่าวโทษตน อ่านแล้วหลายข้อความผมไม่ได้พูด”

เมื่อถามว่าใครเป็นผู้เร่งรัด เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ตอบว่า “ผมไม่ทราบเหมือนกัน สื่อมวลชนช่วยไปตามให้แล้วกันว่าใครเป็นคนเร่งรัด ลองไปตามสืบดูใครเป็นคนเร่งรัดทำให้ผมต้องทำภายในวันที่ 25 เม.ย.”

………………………….

ที่มา “กฎหมายห้ามวิจารณ์ศาล”

ทั้งนี้ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ออกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ได้บัญญัติข้อห้ามวิพากษ์ วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญเอาไว้ แม้กระทั่งมีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 และร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขึ้นมาเรื่องการ “ห้ามหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นประเด็นที่ “ถกเถียง” และ “ต่อสู้” ระหว่างนักการเมืองกับฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญ ในชั้นนิติบัญญัติมาตลอด จน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถ “คลอด” ออกมาบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ กระทั่งมีการรัฐประหาร 2557 และ มีการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญกันใหม่อีกครั้ง เรื่องการห้ามวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญจึงคลอดออกมา ผ่าน พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 38
พลิกกฎหมายประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ระบุว่า ผู้ใดดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือกระทำการขัดขวางการพิจารณาหรือพิพากษาของศาล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 38 วรรคท้าย ระบุว่า การวิจารณ์คําสั่งหรือคําวินิจฉัยคดีที่กระทําโดยสุจริตและมิได้ใช้ถ้อยคําหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสี หรืออาฆาตมาดร้าย ไม่มีความผิดฐานละเมิดอํานาจศาล