นักวิชาการ รั้ว จุฬาฯ เห็นแย้ง “ไพบูลย์” ชี้ช่อง 250 ส.ว.ร่วมโหวตกม.งบประมาณได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการกฎหมายมหาชน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว “Pornson Liengboonlertchai” เห็นแตกต่างการตีความข้อกฎหมายกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฎิรูป (ปช.) เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา 250 คน ร่วมโหวตกฎหมายงบประมาณ (ร่วมโหวตสองสภา) หากรัฐบาลชุดใหม่มีเสียงเกิน 250 เสียงเพียงเล็กน้อย หรือ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” โดยตีความเป็น “กฎหมายปฏิรูป” ว่า

ข้อเสนอที่ให้ใช้ ม.270 ของรัฐธรรมนูญมาเป็นทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาการออกกฎหมายทั้งนี้เพราะเรื่องเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาลในอนาคต หากพิจารณาตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่พึงเสนอให้กระทำและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

1.ม.270 อยู่ในบทเฉพาะกาลที่ให้อำนาจแก่วุฒิสภาเป็นการ “เฉพาะเรื่อง” กล่าวคือ วุฒิสภามีอำนาจในการตรากฎหมายที่เกี่ยวพันกับการปฏิรูปประเทศเท่านั้น ไม่ใช่การตราตัวบทกฎหมายทั่วๆ ไป

2.การตีความให้กฎหมายทุกฉบับเป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเป็นการตีความที่ก่อให้เกิดผลอันแปลกประหลาด ขัดแย้งต่อ “เหตุผลของเรื่อง” (Nature of Thing) ที่ใช้กำกับในการตีความรัฐธรรมนูญด้วย กล่าวคือ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ม.270 เอง

3.การตีความเช่นนี้ส่งผลเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะจะเป็นการขยายอำนาจให้แก่วุฒิสภาอย่างชัดแจ้ง อันจะส่งผลกระทบต่อการใช้และความสัมพันธ์ในทางอำนาจระหว่างองค์กรทางรัฐธรรมนูญด้วยกันอีกด้วย ซึ่งจะมีความผลกระทบและความเสียหายต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

“เราพึงต้องตระหนักด้วยว่าปัญหาหนึ่งของวิกฤติระบอบรัฐธรรมนูญไทยที่ผ่านมาคือ การ (พยายาม) ตีความ หรือบังคับใช้ที่ไม่สอดคล้องตามเจตจำนงของรัฐธรรมนูญที่แท้จริง (Constitutional fidelity) ดังนั้น จึงพึงหลีกเลี่ยง ไม่เช่นนั้นก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมอีกครับ”