พลังประชารัฐ Chapter การเมืองใหม่ “วิษณุ” พยากรณ์ รัฐบาลปริ่มน้ำ… “ถ้าหา (เสียง) ไม่ได้อีกก็ยุบสภา”

จะมีสักกี่คนที่เป็น-มีภาพ “ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม” หลงเหลืออยู่ในสยามยุค “รัตนโกสินทร์ใหม่” สวนทางกับ “ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า” ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ในวาระที่สถานการณ์การเมืองอยู่ในสภาวะไม่แน่นอน ความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังไม่รู้ว่าจะ “ออกหัวออกออกก้อย” นักการเมือง-นักธุรกิจ-นักลงทุนกังวล ว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นอีกครั้งภายในปี 62

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายชั้น “พญาอินทรีย์” ในรัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้ที่รับรู้-รับทราบกรรมวิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “พญาครุฑ” มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทุกขั้นทุกตอน

ในฐานะ “ศิษย์-อาจารย์” นายวิษณุเคยพยากรณ์ “อายุไข” ของรัฐบาลชุดใหม่-รัฐบาลต่อ ๆ ไป ภายใต้ปรากฏการณ์ทางการเมือง-รัฐธรรมนูญฉบับ “อาจารย์มีชัย” ว่า “จะอยู่ได้ไม่นาน”

“รัฐบาลหน้าและรัฐบาลหน้า ๆ ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะว่าถ้าเลือกตั้งมาแล้วเสียง (ปริ่มน้ำ) อย่างนี้อีกล่ะ”

ส่วนทางออกของ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” นายวิษณุเผยแบบ “หมดหนทาง” ว่า “เข้าทางไหนก็ออกทางนั้น” ท่ามกลางข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ – “นายกฯคนกลาง-นายกฯคนนอก” เพื่อผ่าทางตัน

“ผมอยากให้คนที่พูดออกมาพูด (เรื่องนายก ฯ คนนอก) ออกมาพูดให้ชัดเจน อย่ามาพูดเพียงแต่ว่า จะเอาคนนั้น เอาคนนี้ เพราะพูดง่าย ใคร ๆ ก็พูดได้ แต่มันจะเดินไปสู่อันนั้นได้อย่างไร อย่าไปสนใจเลยว่าใคร แต่มันจะเดินไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร ซึ่งผมไม่รู้”

สูตรผ่าทางตัน-หาทางออก “รัฐบาลแห่งชาติ-นายกฯคนนอก” ที่ถูก “เทพไท เสนพงศ์” ว่าที่ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 272

และการตีความ-ชี้ช่องทางกฎหมายเพื่อแก้เดดล็อค “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ด้วยมาตรา 270 แห่งรัฐธรรมนูญ ของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป (ปชช.) กองหนุนพล.อ.ประยุทธ์

นายวิษณุ ไม่ได้มองว่าเป็นความฉลาด-ปราดเปรื่องเพื่อนำไปสู่การปลดล็อค-ผ่าทางตันการเมืองในปัจจุบัน

“ผมย้ำไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน (18. เม.ย.) ว่า การให้ ส.ว.โหวต (ม.270) มันรู้อยู่ตั้งนานแล้ว แต่มันไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกฉบับ กฎหมายใดที่เกี่ยวกับการปฏิรูปแล้วรัฐบาลเป็นคนออก เมื่อออกปั๊บต้องมีการประชุมร่วมสองสภา (ส.ส.+ส.ว.) กลไกมันว่าอย่างนั้น”

“ถ้ารัฐบาลลืมบอก แต่สภารู้สึกว่าเป็นกฎหมายปฏิรูป โดยประธานกรรมาธิการทั้งหลาย ก็ยกมาเป็นหมวดปฏิรูปปั๊บก็ต้องประชุมร่วมกันอยู่แล้ว ทำไมเขาถึงเขียนกฎหมายอย่างนี้ ก็เพราะว่าถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับปฏิรูปต้องการให้ออกมาเร็ว”

นายวิษณุย้ำคำเดิมว่า ไม่ใช่ว่ากฎหมายทุกฉบับจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป เช่น กฎหมายงบประมาณ เพราะ “คุณจะแสตมป์ว่าเป็นกฎหมายปฏิรูปไม่ได้”

แม้กระทั่งการ “ตีความ” ว่า กฎหมายงบประมาณเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตามแผนปฏิรูป-ยุทธศาสตร์ชาติ? เพราะ “ถ้าตีความว่ากฎหมายงบประมาณเป็นกฎหมายปฏิรูป ประเทศไทยก็คงปฏิรูปมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 แล้ว”

นายวิษณุ-ศิษย์มีชัย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แกล้งไม่เข้าใจคำถามที่ ว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมา-ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นไปตามที่ “ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” คาดการณ์ไว้แล้วใช่หรือไม่

“ต้องย้อนกลับไป รัฐธรรมนูญทุกมาตราผู้ร่างร่างเพื่อป้องกันความวุ่นวายและคาดว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เขาจึงร่างเพื่อแก้ปัญหา รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลายฉบับเขียนขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในอดีตไม่ให้เกิดขึ้นอีก”

นายวิษณุยกเหตุการณ์-ประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยประกอบคำอธิบาย 2 ยุค 2 รัฐบาล 1.สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจ กรณีที่ดิน สปก.4-01 แต่รัฐบาลนายชวน “ชิงยุบสภา” เวลาเที่ยง ก็ที่ฝ่ายค้านจะลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจตอนบ่ายโมง

“บทเรียนนี้ รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา จึงเขียนว่า เมื่อมีการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตั้งแต่วันนั้นจนกระทั่งถึงวันลงมติ ระหว่างนี้ยุบสภาไม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาในอดีต”

2.สมัยรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกสภาลงมติไม่ไว้วางใจหลังแถลงนโยบาย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับครั้งนั้นเขียนว่า เมื่อตั้งรัฐบาลเสร็จแล้วแถลงนโยบาย ให้สภาลงมติไม่ไว้วางใจนโยบายได้ ถ้าไม่ไว้วางใจรัฐบาลล้มทันที

“รัฐบาลหม่อมเสนีย์ในวันนั้น ไม่ใช่รัฐบาลปริ่มน้ำด้วยซ้ำไป พอยื่นนโยบายปั๊บ รัฐบาลล้มเลย รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาถึงเขียนว่า ในการแถลงนโยบายไม่ให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจ หากจะลงมติต้องมีการ Action ของรัฐบาลเสียก่อน เพราะการแถลงนโยบายเป็นเพียง Speech เขาแถลงแล้ว เขาอาจจะทำ หรือ ไม่ทำก็ได้”

ก่อนนายวิษณุจะขมวดประเด็นเข้าสู่สถานการณ์ “สุญญากาศทางการเมือง” ปัจจุบัน ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแก้ปัญหาทั้งอดีตและป้องกันอนาคต คือ “เดาว่าอะไรจะเกิดแล้วดักไว้ก่อน”

“การจะหา 500 คน เพื่อเอา (นายกฯ) คนนอกเข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าทำได้ก็ต้องยอม เพราะต่อให้ ส.ว.250 คนยกให้หมด มันก็ได้ไม่ถึง 500 เพราะรัฐธรรมนูญคาดการณ์ล่วงหน้าไว้แล้ว”

“ผมเคยพูดกับอาจารย์มีชัยแล้วคาดการณ์ว่า (รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ) มันจะเกิด ถ้าทำงานไม่ได้ก็ยังไม่ต้องทำ ถ้ามันปริ่มน้ำก็ต้องหาวิธีใดวิธีหนึ่งไม่ให้มันปริ่มน้ำ แต่ถ้าหาไม่ได้อีกก็ยุบสภา”

แต่สิ่งที่นายวิษณุ “คาดไม่ถึง” คือ การกำเนิด-เกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐ โดยลบสมการทางการเมืองตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา…ขึ้น Chapter การเมืองใหม่

“ตอนร่างรัฐธรรมนูญยังไม่รู้จักพรรคพลังประชารัฐ ไม่รู้จักคำนี้ คำว่าประชารัฐรู้จัก เพราะคำว่าประชารัฐมีในรัฐธรรมนูญ ยังไม่รู้ว่า 4 ยอดกุมารจะออกไปตั้งพรรค ผมก็ไม่เคยนึก ผมนึกว่าพล.อ.ประยุทธ์ตั้งพรรค ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ไม่ตั้งพรรคก็ไม่ต้องตั้งแล้ว ป่านนี้ ถ้าผมรู้ผมก็ไปเป็นกุมารที่ 5 แล้ว ตั้งพรรคอื่นไง”


ก่อนจะพูดติดตลก-บอกชื่อพรรค ว่า “พรรค (พัก) ตรงนี้ไว้ก่อน”