รัฐบาลแห่งชาติ-นายกฯพิเศษ รัฐธรรมนูญเปิดช่อง ส.ส.+ส.ว แก้ล็อกการเมือง

ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” จากพรรคการเมือง 2 ขั้วหลัก 1 ขั้วพลังประชารัฐ (พปชร.) 2 ขั้วเพื่อไทย (พท.) ภายหลังผลการเลือกตั้งไม่มีพรรคใดชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้การเมืองอาจเดินมาถึง “ทางตัน”

ข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่เป็นรัฐบาลที่อยู่ “ภายใต้รัฐธรรมนูญ” มาตรา 270 และเป็น “ไม้เด็ด” ของ “ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่กำลังแบไต๋ออกมาเพื่อสนับสนุน “นายกฯคนนอก” ตามมาตรา 272 เพื่อผ่านกฎหมายกลางสภา

โดยใช้เสียง 376 เสียง จากที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) เพื่อขอยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาขอ “งดเว้น” ไม่ต้องเลือก “นายกฯในบัญชี” ของพรรคการเมือง

และใช้เสียง “ร่วมสองสภา” 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง จาก 750 เสียง คือ 250 ส.ส.+250 ส.ว. ในการโหวตเลือก “นายกฯคนนอก” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อผ่าทางตัน-ปลดล็อก

โดยใช้เสียง ส.ส. 250+250 ส.ว. ในการยกมือผ่านร่างกฎหมายสำคัญ-กฎหมายการเงิน “เพื่อการปฏิรูป” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เพื่อเคลื่อนรัฐบาลแห่งชาติ-นายกฯคนนอกภายใต้รัฐธรรมนูญ

แต่ “นายกฯคนนอก” จะอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง-ฝ่าคมปากอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า “นายกฯต้องมีบารมี” เหมือนเมื่อครั้ง “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”

อดีตนายกฯคนนอก 8 ปี อยู่ยงจนต้องเอ่ยวรรคทองกลางสภาว่า “พอแล้ว”

การโยนข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ-รัฐบาลปรองดอง” และ “นายกฯคนนอก-นายกฯคนกลาง” ของ “เทพไท เสนพงศ์” ว่าที่ ส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ถูก “ไพบูลย์ นิติตะวัน” อ่านขาดว่าเป็นปฏิบัติการ “เตะสกัด” พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ให้สืบทอดเก้าอี้นายกฯ อีกคำรบ

โดยมี 4 รายชื่อ “แคนดิเดตนายกฯคนกลาง” ได้แก่ 1.พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท และ 2.นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี 3.นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) 4.นายชวน หลีกภัย ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ 2 ปชป. มีวาระ 2 ปี

กับภารกิจ 2 เรื่องเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ-ปากท้องและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นอกจาก “นายกฯคนนอก” ภายใต้สูตร “รัฐบาลถอยคนละก้าว” ของนายเทพไทแล้ว ยังมี “ข่าวปล่อย” มาเป็น “ตัวเลือกพิเศษ” 2 องคมนตรี คือ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี-“อำพน กิตติอำพน” และ “บิ๊กต๊อก”-พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา อดีต รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาล คสช.

ก่อนหน้านี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็เคยถูกคาดหมายว่าจะเป็น “นายกฯก๊อกสอง” แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ก็กระโดดลงมาเป็น “ผู้เล่น” ในบัญชีนายกฯพลังประชารัฐเสียเอง แม้กระทั่งชื่อของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” แม่ทัพเศรษฐกิจในรัฐบาล คสช. ผู้มีชื่อติด 1 ใน “โผนายกฯคนกลาง” ในช่วงวิกฤตการเมืองหลายครั้ง

ขณะที่คนชูประเด็น “นายกฯคนกลาง-รัฐบาลแห่งชาติ” มีมากมายหลายคน อาทิ “พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ” อดีตนายกฯ “เสนาะ เทียนทอง” ประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย และ “พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ชื่อที่เคยปรากฏอยู่ในลิสต์ “นายกฯเฉพาะกิจ” ที่เคยถูกโยนออกมามีทั้ง “กิตติพงษ์ กิตยารักษ์” อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท อดีต ผบ.ทบ.

แม้กระทั่ง “นายกฯพระราชทาน-มาตรา 7” ก็เคยปรากฏในช่วงที่การเมืองไทยเผชิญหน้า-หาทางออกไม่ได้ อาทิ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เสนอ “นายกฯมาตรา 7” เพื่อตั้ง “สภาประชาชน” ในช่วงการชุมนุมกลุ่ม กปปส. ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2557

ย้อนกลับไปไกลกว่านั้นในช่วงการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ขับไล่รัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2549 โดยการเสนอ “นายกฯ พระราชทาน” ผ่าทางตัน

นาทีนี้ชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ มีโอกาสเป็นนายกฯต่ออีกสมัย 50 : 50

ไม่ใช่เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่มีความชอบธรรม” ประจักษ์จาก “คะแนนมหาชน” ท่วมท้น-หย่อนคะแนนให้กับพลังประชารัฐกว่า 8 ล้านเสียง แต่เพราะการเมืองเดินมาตกหลุม “สุญญากาศ” กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง การเมือง-เศรษฐกิจติดหล่ม