ฟังเหตุผล ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัย ถอนชื่อผู้สมัครส.ส.อนาคตใหม่ เขต 2 สกลนคร ปมถือหุ้นสื่อ

สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม(แฟ้มภาพ:มติชนออนไลน์)
‘โฆษกศาลยุติธรรม’แจงเหตุผล ศาลฎีกาเเผนกคดีเลือกตั้ง วินิจฉัย ถอนชื่อ “ภูเบศวร์ เห็นหลอด”พ้นผู้สมัคร ส.ส.อนาคตใหม่ เขต2 สกลนคร

 

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยถึง คำวินิจฉัยของศาลฎีกาเเผนกคดีเลือกตั้ง ที่ 1706 / 2562 ระหว่างผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนครยื่นคำร้องว่า นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ผู้คัดค้านขาดคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งหรือเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด. มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ผู้ร้องจึงขอให้ถอนชื่อผู้คัดค้านออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่2 จังหวัดสกลนครว่า

คดีนี้ นายภูเบศวร์ ผู้คัดค้านเองก็ได้ยื่นคำคัดค้านว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส ประกอบกิจการก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยที่ระบุในวัตถุประสงค์ข้อที่ 43 ว่าประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์รับจัดทำสื่อโฆษณาสปอร์ตโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลเป็นเพียงแบบวัตถุประสงค์สำเร็จรูปแนบคำขอจดทะเบียนเท่านั้น อีกทั้งห้างฯ ดังกล่าวได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. จึงขอให้ยกคำร้อง

เเต่อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ตรวจพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองฝ่ายที่เสนอต่อศาลแล้วเห็นว่าคดีนี้ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐานจึงให้งดการไต่สวน และหลังจากตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องประกาศรายชื่อผู้คัดค้านเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่

โดยนายภูเบศวร์ ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.หรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส….โดย(3) บัญญัติว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ…” พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา42 บัญญัติเช่นเดียวกันว่าบุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็น “บุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. …โดย(3) บัญญัติว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ…” ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จึงเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆมิได้

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 98(3) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.2561 มาตรา42(3) ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด มาร์ส เอ็นจิเนียริ่ง เเอนด์ เซอร์วิส มีวัตถุประสงค์ดังกล่าวแต่ไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์และออกหนังสือพิมพ์จึงฟังไม่ขึ้น

แม้ต่อมาวันที่ 6 มี.ค.2562 ผู้คัดค้าน จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวแล้วแต่เป็นระยะเวลาหลังจากผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วจึงต้องถือว่าในวันที่ผู้คัดค้านยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ผู้คัดค้านยังเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ผู้คัดค้านจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ตามบทบัญญัติดังกล่าว และไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องฟังขึ้นจึงมีคำสั่งให้ถอนชื่อนายภูเบศวร์ ผู้คัดค้าน ออกจากประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่

เมื่อถามว่าหากมีกรณีลักษณะนี้ร้องเข้ามาอีกศาลฎีกาจะพิจารณาอย่างไร นายสุริยัณห์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาวินิจฉัยในข้อเท็จจริงเเละข้อกฎหมายต่อไป

 


ที่มา:มติชนออนไลน์