3 สูตร คำนวณ ส.ส. “ปาร์ตี้ลิสต์” พปชร.กำไร อนค.- เพื่อไทย ขาดทุน

กว่า 1 เดือนเศษ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่สามารถประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) อย่างไม่เป็นทางการได้ นับตั้งแต่การเลือกตั้ง 24 มี.ค. 62

3 สูตรการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ถูกชงเอง-กินเองของ กกต.-นักการเมือง ยังคิด-คำนวณออกมาเห็นต่าง เพราะแต่ละสูตรมี “คนได้” และ “คนเสีย”

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 สูตร 3 สเต็ปขั้นต้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (1) (2) (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (1) (2) (3)

สเต็ปที่ 1 การคำนวณหาจำนวน “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน” โดยการนำ “คะแนนดิบ” รวมทั้งประเทศของทุกพรรคที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาหารด้วย 500 หรือจำนวนที่นั่งทั้งหมดในสภา

สเต็ปที่ 2 การคำนวณหาจำนวน “ส.ส.พึงมี” ของแต่ละพรรค โดยการนำคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับหารด้วย “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน” หรือ 71,057.4980 คะแนน (ตัวเลขมาจากสเต็ปที่ 1)

สเต็ปที่ 3 การคำนวณหาจำนวน “ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์” ของแต่ละพรรคที่ “พึงจะมี” โดยการนำจำนวน “ส.ส.พึงมี” ลบด้วยจำนวน ส.ส.เขต ที่พรรคได้รับเลือกตั้ง ทั้งนี้ หากพรรคใดได้จำนวน ส.ส.เขต “เท่ากับหรือมากกว่า” จำนวน “ส.ส.พึงมี” จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

โดยทั้ง 3 สูตร ต่างกันที่ “สเต็ปที่ 4”

… สูตร 1 ของ กกต.+กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กกต.ยกเหตุผล-ตีความการคำนวณตาม “เจตนารมณ์” หรือ “คะแนนไม่ตกน้ำ” โดยมีวิธีการคำนวณ นำจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคนั้นจะได้รับ “เบื้องต้น” พร้อมทศนิยมทั้ง 4 หลัก โดย “ไม่ตัด” เอาเฉพาะพรรคที่ได้ “คะแนนเกินค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน” หรือพรรคที่ได้มากกว่าหรือเท่ากับ 71,057.4980 คะแนน อีกความหมาย คือ “ไม่ตัด” พรรคที่ได้ “คะแนนต่ำกว่า” 71,057.4980 คะแนนออกจากการคำนวณจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยสูตรการคำนวณดังกล่าว จะทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้มีพรรคการเมืองในสภาอย่างน้อย 27 พรรค และจะทำให้พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ “ส.ส. 1 คนต่อประชาชน 71,057.4980 เสียง” แต่กลับได้ที่นั่งพรรคละ 1 คน โดยปริยาย ซึ่งมีทั้งสิ้น 11 พรรค

ได้แก่ พรรคประชาภิวัฒน์ พลังไทยรักไทย ไทยศรีวิไลย์ ประชานิยม ครูไทยเพื่อประชาชน ประชาธรรมไทย ประชาชนปฏิรูป พลเมืองไทย ประชาธิปไตยใหม่ พลังธรรมใหม่ และไทรักธรรม

ในทาง “คณิตศาสตร์การเมือง” ดีดลูกคิด-ส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐ-พรรคพันธมิตร “ได้เปรียบ” เพราะ “มีโอกาส” ที่ “พรรคเล็ก” 11 พรรคที่ยัง “ไม่ลงสัตยาบัน” ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ-ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์กับพรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าร่วมรัฐบาล-เทให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯอีกสมัย

ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ (อนค.)-พรรคแนวร่วม พท. จะได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “ลดลง” จากจำนวน ส.ส.พึงมี 87-88 ที่นั่ง เหลือ 80 ที่นั่ง

สูตร 2 ของ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต.-ผู้สมัคร ส.ส. (สอบตก) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แหกออกจากสูตรของ กกต.-กรธ. ตรงการตีความ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (5) ซึ่งเป็น “ข้อความเดียว” กับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91(4) ชนิด “ลอกกันมา” สูตรนี้จะทำให้มีพรรคการเมือง 14 พรรค ได้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนพรรคที่ได้ “คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย” หรือพรรคที่ได้คะแนนน้อยกว่า 71,057.4980 คะแนน คือ “พรรคเล็ก” 58 พรรคจะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่ที่นั่งเดียว หมดโอกาสเป็น “พรรคตัวแปร” รวมขั้วตั้งรัฐบาล”

นอกจากนี้ยังมีอีก 2 พรรคที่ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ คือ พท.และพรรคประชาชาติ เพราะจำนวน ส.ส.เขต “เกินจำนวน ส.ส.พึงมี”

“การจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ เนื่องจากทั้ง 58 พรรคได้คะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน หรือน้อยกว่า 71,057.4980 คะแนน จึงต้องตัดทิ้งไป” นายสมชัยแจกแจงสูตร

สูตร 3 ของ “โคทม อารียา” อดีต กกต. แม้ “ตัวเลขสุดท้าย” จะตรงกันกับ “สูตรสมชัย” คือ มีพรรคการเมือง 15-16 พรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ต่างกันตรงที่วิธีการ “ปัดขึ้น-กดลง” ของ “เศษทศนิยม-จำนวนเต็ม”

“สูตรโคทม” อาจจะทำให้มี “พรรคเล็ก-พรรคต่ำ 7 หมื่น” หรือ พรรคที่มี “จุดทศนิยม” 0.9xxx อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ที่นั่ง นอกจาก 3 สูตรที่ กกต.จะทุบโต๊ะแล้ว ยังมี “สูตร พท.-ปิยบุตร เลขาฯ อนค.” ที่ออกมาตั้งโต๊ะค้าน สูตรของ กกต.-กรธ.

3 สูตรมีทั้งคนได้-คนเสีย แต่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาฯ กกต.ยืนยันว่า จะมีเพียงสูตรเดียวเท่านั้น อยู่ที่หวยจะลงสูตรไหน

……………………..

พท. จับโป๊ะแตก กกต. หาช่องรีเซตนับคะแนนใหม่ 

การเลือกตั้ง 24 มี.ค.ผ่านไปกว่า 1 เดือนเศษ ยังไม่มีทีท่าจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยสมบูรณ์ ความผิดปกติยังเกิดขึ้นไม่เว้นวัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลายเป็นตำบลกระสุนตก พรรคการเมืองไม่ไว้ใจการทำหน้าที่ของ กกต. โดยเฉพาะการนับคะแนน กกต.ยังแก้ไม่ตก

“ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย จึงสั่งให้ว่าที่ ส.ส.ที่สอบได้ และผู้สมัคร สต. (สอบตก) ทุกคนคัดสำเนา-ถ่ายรูป แบบรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่เรียกว่า 5/18 มาส่งยังสำนักงานเลขาธิการพรรค เพื่อสอดส่อง-จับพิรุธผลการนับคะแนน

“เมื่อลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีหลายพื้นที่มากยังเป็นปัญหา เช่น ที่ จ.ชัยนาท พบว่าในใบ ส.ส.5/18 ปรากฏว่าคนที่จะต้องกรอกรายละเอียดในใบดังกล่าว ควรจะเป็นลายมือคนละลายมือ แต่ปรากฏว่าคะแนนที่มาอยู่ในมือเรา ซึ่งใบ ส.ส.5/18 เป็นการกรอกด้วยลายมือของคนคนเดียวทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อที่ทำให้เราสงสัยว่าเมื่อไปกรอกที่หน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วย ทำไมจึงเป็นลายมือเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นกระบวนการที่มากรอกข้อมูล ฉะนั้น สิ่งที่จะดำเนินการได้หากมีการประกาศข้อมูลดิบของแต่ละพื้นที่ ถ้าทุกคนมีดังกล่าวนี้ หรือมีรูปถ่ายที่ถ่ายจากหน้าบอร์ดในหน่วยเลือกตั้งไว้ จะนำมาพิสูจน์ทราบได้ชัดเจนว่า คะแนนที่เขียนไว้ที่บอร์ดกับคะแนนที่ กกต. เป็นคะแนนจริงที่ตรงกันหรือไม่”

“ภูมิธรรม” ให้ความสำคัญกับแบบ ส.ส. 5/18 ฉายภาพให้นักเลือกตั้งเพื่อไทยเห็นตัวอย่างว่า พรรคอนาคตใหม่ ใช้วิธีคัดสำเนา ส.ส. 5/18 มาตรวจสอบ จนพบความผิดปกติในการนับคะแนน และแจ้งไปยัง กกต. สุดท้าย กกต.สั่งให้มีการ “นับคะแนนใหม่” ในเขตเลือกตั้งที่ 1 นครปฐม

เขายอมรับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ให้บทเรียนที่เจ็บปวดที่สุด ไม่ใช่มีการซื้อเสียง แต่มีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ผลคะแนนในการเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนไป

โมเดลจับพิรุธของพรรคอนาคตใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งนครปฐม จึงถูกนำมาปรับใช้กับพรรคเพื่อไทย

หวังพลิกคะแนนในเขตเลือกตั้งที่แพ้เฉียดฉิวแบบมีพิรุธ ให้กลับมาเป็นผู้ชนะเพิ่มแต้ม ส.ส.ในมือ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!