“กกต.” ไม่หวั่นถูกขู่ฟ้อง ม.157 ท้าแสดงหลักฐาน

“กกต.” ไม่หวั่นถูกขู่ฟ้อง 157 ท้าแสดงหลักฐานปมกล่าวหา กกต.มีเหตุจูงใจทางการเมือง แจงคกก.สืบสวนแค่คนรวบรวมพยานหลักฐานไม่ใช่คนชี้ว่าผิด

เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 1 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.กล่าวกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขู่ฟ้องมาตรา 157 กกต.หลังเข้าชี้แจ้งข้อกล่าวหากรณีถือหุ้นสื่อบริษัท วี- ลัค มีเดีย จำกัด เข้าข่ายขาดคุณสมบัติในการสมัครเลือกตั้งส.ส. ต่อคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. ว่า ก็เป็นสิทธิของประชาชน ถ้ากกต.ทำไม่ถูกต้องก็ฟ้องได้ ส่วนที่นายธนาธร ระบุว่าการดำเนินการของกกต.มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือมีการแทรกแซงทางการเมืองนั้น เรื่องดังกล่าวมีผู้ร้องมาตั้งแต่ เดือนมีนาคม ขณะนี้ผ่านไปเดือนกว่าแล้วถ้าคิดว่าเร่งรัดก็ลองพิจารณาดูว่าจริงหรือไม่ และที่ว่าถูกแทรกแซงทางการเมืองหรือกระบวนการไต่สวนของกกต.ถูกแทรกแซงหลักฐานคืออะไร

เมื่อถามว่า นายธนาธร ระบุว่าการไต่สวนของกกต.ไม่เหมาะกับยุคสมัย นายแสวงกล่าวว่า กกต.ต้องทำตามกฎหมาย สิ่งที่กกต.จะดำเนินการพิจารณาได้มีอยู่ 3 กรณี 1.มีเหตุอันควรสงสัยว่า 2.ความปรากฏ 3.มีผู้ร้อง ซึ่งกฎหมายเลือกตั้ง มุ่งคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐแต่ยังคงให้สิทธิกับผู้ถูกร้องในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา กฎหมายจึงใช้คำว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า กกต.ก็สามารถพิจารณาได้แล้วแต่ไม่เหมือนกับกฎหมายอาญาที่ต้องปราศจากข้อสงสัย จึงจะสามารถเอาผิดได้ เนื่องจากเป็นเรื่องกระทบสิทธิเสรีภาพ ส่วนที่นายธนาธรระบุว่าคณะกรรมการสืบสวนฯไม่สามารถบอกได้ว่านายธนาธรผิดในข้อใดนั้น ความผิดอยู่ที่ข้อกล่าวหาซึ่งกกต.ได้มีการแจ้งไปแล้วว่าอาจจะเข้าข่ายเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. แต่ผู้ที่วินิจฉัยว่าผิดอะไรอยู่ที่คณะกรรมการกกต. ในชั้นของพนักงานสืบสวนจะเป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานต่างๆแล้วนำเสนอต่อกกต.พิจารณา และคดีดังกล่าวกกต.จะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสืบสวนฯ

เมื่อถามต่อว่า กรณีนายธนาธรเป็นหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค หากเซ็นรับรองส่งผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติลงสมัคร จะถือว่าเข้าข่ายทำให้ต้องยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่ได้ดูไปถึงตรงนั้น และเป็นเรื่องของข้อกฎหมายที่สามารถมีความเห็นไปได้หลายทางอยู่ที่กกต.จะพิจารณาว่าหัวหน้าพรรคซึ่งเป็นคนเซ็นต์รับรองเข้าข่ายเป็นกรรมการบริหารพรรครู้เห็นสนับสนุนหรือไม่ รวมทั้งต้องไปดูกระบวนการของพรรคการเมืองก่อนที่จะให้หัวหน้าพรรคเซ็นต์รับรองส่งผู้สมัคร และหากผู้สมัครรู้ตัวอยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติในการลงสมัครแต่ยังมาสมัคร เขาก็ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 138 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

 


ที่มา : มติชนออนไลน์