องค์กรอิสระ ออกโรง รธน.ออกฤทธิ์ กกต.-ผู้ตรวจ-ศาล ระทึกเลือกตั้งโมฆะ? 

รายงานพิเศษ

 

องค์กรอิสระ-อำนาจที่ 4 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำลังแผลงฤทธิ์ สำแดงพิษสงทางการเมืองทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)-ผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาลรัฐธรรมนูญ ต่างกำลังแสดงบทบาทของตน บนเวทีการเมืองอย่างเข้มข้น

ปมถือครองหุ้นสื่อ-หุ้นต้องห้าม ของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าอนาคตใหม่ ที่ถูก กกต.แจ้งข้อกล่าวหาว่า เป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ จำนวน 675,000 หุ้น

กำลังกระทบเป็นลูกโซ่ “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ลงดาบสอง ยื่นคำร้องต่อ กกต.หวังสอยผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 11 คน ที่เข้าข่ายถือหุ้นสื่อเช่นเดียวกับหัวหน้าพรรค-ธนาธร

สารพัดคำร้องหุ้นต้องห้าม

ขณะที่ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไทยรักษาชาติ ยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบการทำงานของ กกต. เพราะยกคำร้อง กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เปิดช่องทางการสื่อสารกับสาธารณชนในรูปแบบเพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งยังไม่อาจถือได้ว่าเข้าข่ายการเป็นเจ้าของกิจการนั้น เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะ กกต.ยกคำร้องของกรณี พล.อ.ประยุทธ์ แต่กลับแจ้งข้อกล่าวหา “ธนาธร”

ส่วน “ธนาธร” ตอบโต้ปมถือหุ้นสื่อว่า “ผมมีข้อมูลผู้สมัคร ส.ส.พลังประชารัฐ กับประชาธิปัตย์ ที่เข้าข่ายกรณีแบบนี้อยู่เหมือนกัน ถ้าแบบนี้ยุบพรรค ก็ต้องยุบทุกพรรค เราก็จะฟ้องผู้สมัคร พปชร.ด้วยเหมือนกัน ต่างกันที่ผู้สมัคร พปชร.ยังถือหุ้นอยู่ แต่ผมขายแล้ว”

ฟากพรรคเพื่อไทย โดย “ณรงค์ รุ่งธนวงศ์” หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและสถิติ กองอำนวยการเลือกตั้ง ยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ การถือครองหุ้นสื่อของพรรคพลังประชารัฐ 2 คน ประกอบด้วย ชาญวิทย์ วิภูศิริ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 5 และสมศักดิ์ สุขประเสริฐ ผู้สมัคร ส.ส.สกลนคร เขต 5 ของ พปชร.รวมถึงคำร้องของ “ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล” (ผู้กองปูเค็ม) ขอให้ กกต.ถอดถอนสมาชิกพรรคการเมือง 6 พรรค เนื่องจากยังถือครองหุ้นสื่อ รวม 32 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 10 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรคอนาคตใหม่ 7 คน พรรคเสรีรวมไทย 6 คน พรรคพลังปวงชนไทย 2 คน พรรคประชาชาติ 2 คน

โทษใบส้ม-ยุบพรรค

ผลที่ตามมาของการ “ถือหุ้นต้องห้าม” คือ รู้อยู่แล้วว่าตนเองขาดคุณสมบัติ แต่ยังลงรับสมัครเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 151

และอาจเข้าข่ายทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มีสิทธิโดนระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบส้ม) เป็นการชั่วคราว 1 ปี ในกรณีที่หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น ปล่อยปละละเลย จะนำไปสู่การส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ “ยุบพรรค” และสั่ง “เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” (ใบแดง) คณะกรรมการบริหารพรรคได้ด้วย

หุ้นสื่อตีความได้อินฟินิตี้

ทั้งนี้ “เรืองไกร” ผู้ซึ่งไปร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบการทำงานของ กกต. ได้ค้นคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ตัดสิทธิว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคต่าง ๆ รวม 10 ราย ว่ามีลักษณะต้องห้าม เรื่องการถือหุ้นสื่อ ได้อธิบายแนววินิจฉัยของศาลฎีกาว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) มีทั้งการเป็นเจ้าของและการเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งคำว่าเจ้าของกับผู้ถือหุ้นกฎหมายมุ่งประสงค์ให้มีนัยแตกต่างกัน และคำว่าหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนใด ๆ ก็มีความหมายต่างกัน หนังสือพิมพ์ เป็นคำเฉพาะ แต่ “สื่อมวลชนใด ๆ” เป็นคำทั่วไป มีความหมายกว้างมาก เช่น วิทยุ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุชุมชน เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม เว็บไซต์ สื่อออนไลน์อื่น วารสารหรือการรับพิมพ์วารสาร ก็ควรอยู่ในความหมายด้วย

“จากการตรวจสอบคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพบว่า กกต.เคยยื่นคำร้องหรือถูกร้องคัดค้านมาแล้วอย่างน้อย 11 คดี ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยความหมายของคำว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ดังนั้น การที่ กกต.ตั้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงอาจเป็นไปตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งต้นเหตุน่าจะมาจากการที่รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ที่บัญญัติไว้กว้างเกินไป และจะมีผลให้มีคนกระทำการฝ่าฝืนมาตรานี้ตามมาอีกมากมาย”

สุดท้าย พรรคการเมืองที่มีลูกพรรค “ถือหุ้นสื่อ” ไม่ว่าขั้วไหน อาจกอดคอกันตกหลุมพรางหุ้นต้องห้าม-พังทั้งกระดาน

ผู้ตรวจ-ศาล รธน.ชี้ขาดเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้ กระแสเลือกตั้งโมฆะยังดังอื้ออึงในหมู่นักเลือกตั้ง ไม่ใช่เฉพาะปมถือหุ้นต้องห้าม ที่กลายเป็นประเด็นร้อนก่อนการประกาศรับรองผลเลือกตั้งของ กกต. ในวันที่ 9 พ.ค.

แต่ยังมาจากกระบวนการเลือกตั้งที่ขลุกขลัก ผิดปกติไปจากที่ควรจะเป็น ต้องนับคะแนนใหม่-เลือกตั้งใหม่

ประกอบกับความโกลาหลของสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่ 7 กกต.ยังไม่มีมติว่าจะใช้สูตรไหนในการคำนวณ แต่พรรคเพื่อไทย และพันธมิตรตั้งธงรอเชือดไว้แล้วว่า หาก กกต.ใช้สูตรเกลี่ยคะแนนให้พรรคขนาดเล็ก ที่มี “คะแนนเลือกตั้ง” ต่ำกว่า เกณฑ์ ส.ส.พึงมี 70,165 คะแนน จะยื่นร้องผู้ตรวจการแผ่นดินว่า กกต.ทำขัดรัฐธรรมนูญทันที

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำร้องให้เลือกตั้งเป็นโมฆะจากกรณีจำนวนรายงานผลนับคะแนนไม่ตรงกัน มีปัญหาคลาดเคลื่อนบัตรเขย่ง จำนวนผู้มาใช้สิทธิและจำนวนบัตรแตกต่างกันอยู่ 9 ใบ ของ “เรืองไกร” จะถูกผู้ตรวจการแผ่นดิน “ตีตก” ไป แต่ใช่ว่าจะไม่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ย้อนการเลือกตั้งโมฆะ 2 ครั้ง เมื่อปี 2549 และ 2557 องค์กรที่ชงให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคือ ผู้ตรวจการแผ่นดิน

การยุบพรรคเมื่อปี 2549 มีผู้ร้อง คือ พล.อ.สายหยุด เกิดผล รองประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย และ ผศ.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ตำแหน่งขณะนั้น) ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา (ชื่อเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2540)ให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 กรณีการดำเนินการของ กกต.ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 จนถึงการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 23 เม.ย. 2549 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ใน 4 เรื่อง

1.กกต.ให้ความเห็นในเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม 2.จัดคูหาเลือกตั้งทำให้การลงคะแนนไม่เป็นความลับ 3.พรรคไทยรักไทยจ้างให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครเลือกตั้งในเขตเดียวกันเพื่อหนีคะแนนโหวตโน 20 เปอร์เซ็นต์ 4.กกต.ได้มีมติ สั่งการ ออกประกาศ-คำสั่งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง รวมถึงประกาศรับรองผลเลือกตั้ง โดยไม่มีการประชุมปรึกษาหารือครบถ้วนตามอำนาจที่มีอยู่ ที่สุดแล้ว คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2550 ให้การเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 เป็นโมฆะ

จับตาผู้ตรวจการแผ่นดิน

ส่วนเลือกตั้งโมฆะปี 2557 ในจังหวะที่กลุ่ม กปปส.ชัตดาวน์กรุงเทพ เลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ไม่อาจจัดขึ้นได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ใช้อำนาจส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเลือกตั้งเป็นโมฆะ ตามที่ ผศ.กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะนั้นเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 19 มี.ค. 2557 ว่า คำร้องดังกล่าวเป็นอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบการเลือกตั้งว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

และแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ

เมื่อเปิดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 231 (1) ระบุอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน อาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้เสนอเรื่อง พร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า

สอดรับกับมาตรา 7 (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 บัญญัติหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญว่า คดีเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ

รัฐธรรมนูญออกฤทธิ์ องค์กรอิสระออกโรง ความผิดพลาดของ กกต.อาจสุมไฟให้เลือกตั้งเป็นโมฆะอีกรอบ

………………………

พท. จับโป๊ะแตก กกต. หาช่องรีเซตนับคะแนนใหม่ 

การเลือกตั้ง 24 มี.ค.ผ่านไปกว่า 1 เดือนเศษ ยังไม่มีทีท่าจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยสมบูรณ์

ความผิดปกติยังเกิดขึ้นไม่เว้นวัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลายเป็นตำบลกระสุนตก พรรคการเมืองไม่ไว้ใจการทำหน้าที่ของ กกต. โดยเฉพาะการนับคะแนน กกต.ยังแก้ไม่ตก

“ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรคเพื่อไทย จึงสั่งให้ว่าที่ ส.ส.ที่สอบได้ และผู้สมัคร สต. (สอบตก) ทุกคนคัดสำเนา-ถ่ายรูป แบบรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่เรียกว่า 5/18 มาส่งยังสำนักงานเลขาธิการพรรค เพื่อสอดส่อง-จับพิรุธผลการนับคะแนน

“เมื่อลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีหลายพื้นที่มากยังเป็นปัญหา เช่น ที่ จ.ชัยนาท พบว่าในใบ ส.ส.5/18 ปรากฏว่าคนที่จะต้องกรอกรายละเอียดในใบดังกล่าว ควรจะเป็นลายมือคนละลายมือ แต่ปรากฏว่าคะแนนที่มาอยู่ในมือเรา ซึ่งใบ ส.ส.5/18 เป็นการกรอกด้วยลายมือของคนคนเดียวทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อที่ทำให้เราสงสัยว่าเมื่อไปกรอกที่หน่วยเลือกตั้งแต่ละหน่วย ทำไมจึงเป็นลายมือเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าเป็นกระบวนการที่มากรอกข้อมูล ฉะนั้น สิ่งที่จะดำเนินการได้หากมีการประกาศข้อมูลดิบของแต่ละพื้นที่ ถ้าทุกคนมีดังกล่าวนี้ หรือมีรูปถ่ายที่ถ่ายจากหน้าบอร์ดในหน่วยเลือกตั้งไว้ จะนำมาพิสูจน์ทราบได้ชัดเจนว่า คะแนนที่เขียนไว้ที่บอร์ดกับคะแนนที่ กกต. เป็นคะแนนจริงที่ตรงกันหรือไม่”

“ภูมิธรรม” ให้ความสำคัญกับแบบ ส.ส. 5/18 ฉายภาพให้นักเลือกตั้งเพื่อไทยเห็นตัวอย่างว่า พรรคอนาคตใหม่ ใช้วิธีคัดสำเนา ส.ส. 5/18 มาตรวจสอบ จนพบความผิดปกติในการนับคะแนน และแจ้งไปยัง กกต. สุดท้าย กกต.สั่งให้มีการ “นับคะแนนใหม่” ในเขตเลือกตั้งที่ 1 นครปฐม

เขายอมรับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ให้บทเรียนที่เจ็บปวดที่สุด ไม่ใช่มีการซื้อเสียง แต่มีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ผลคะแนนในการเลือกตั้งนั้นเปลี่ยนไป

โมเดลจับพิรุธของพรรคอนาคตใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งนครปฐม จึงถูกนำมาปรับใช้กับพรรคเพื่อไทย


หวังพลิกคะแนนในเขตเลือกตั้งที่แพ้เฉียดฉิวแบบมีพิรุธ ให้กลับมาเป็นผู้ชนะเพิ่มแต้ม ส.ส.ในมือ