อาจารย์มช.ให้ปากคำตำรวจ ยันเป็นเวทีวิชาการนานาชาติ ชี้จากนี้ไปคงไม่มีใครกล้าจัดอีก

“ชยันต์” นำนักวิชาการ พบพนักงานสอบสวน ให้ปากคำเป็นลายลักษณ์อักษร หลังรับทราบข้อกล่าวหา ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อกล่าวหาทหาร ยันเป็นเวทีวิชาการนานาชาติ ไม่ใชการเมือง บอกไม่มีเจตนาแอบแฝง ไม่ใช้เวทีบังหน้าวิจารณ์รัฐบาล-คสช. เผยผลกระทบ คนคิดจัดประชุมคงไม่ทำแล้ว ด้านทนายเผยเตรียมพยานนักวิชาการ 5 คน ให้ปากคำเพิ่มเติม ก่อนผู้ต้องหาพบพนักงานสอบสวน 11 กันยายนนี้ ชี้เนื้อหา “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ไม่ใช่การยุยงปลุกปั่น เพียงสะท้อนความรู้สึกเท่านั้น

วันที่ 1 กันยายน 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สภ.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ นายชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะประธานจัดงานประชุมไทยศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 13 พร้อมด้วยนายชัยพงษ์ สำเนียง นักวิจัยคณะสังคมศาสตร์ นายธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทและผู้สื่อข่าวประชาธรรม นายนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรี นางภัควดี วีระภาสพงษ์ นักเขียน-นักแปล และนายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความสมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน เข้าพบ พ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ พนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก เพื่อมาพบพนักงานสอบสวนตามนัดหมาย หลังถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. พร้อมยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร หลังผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย มารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว วันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา มีอาจารย์ นักวิชาการ นักคิดนักเขียน นักศึกษา มาให้กำลังใจกว่า 20 คน โดยใช้เวลาเพียง 30 นาที ก่อนเดินทางกลับ โดยไม่ต้องประกันตัวอย่างใด

นายชยันต์กล่าวว่า มายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน เพื่ออธิบาย หรือโต้แย้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน ตามคำสั่ง คสช. เนื้อหาคำอธิบายหรือโต้แย้ง มี 2 ประเด็น ประเด็นแรก ไม่ยอมรับข้อกล่าวหาของทหาร ถือว่าเป็นการประชุมทางวิชาการ และให้เสรีภาพกับผู้ร่วมประชุมดังกล่าว ผู้ร่วมประชุมชุมต้องลงทะเบียนหรือแสดงตน พร้อมร่วมเสนอบทความทางวิชาการ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในงาน ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เท่ากับมาวุ่นวายการประชุมดังกล่าว ซึ่งการประชุมต้องให้เกียรติผู้ร่วมประชุม ต้องมีคนเสนอบทความ และแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ไม่ใช่เข้ามาถ่ายรูป สอบถามผู้ร่วมประชุม หรืออัดเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาต การจัดประชุมดังกล่าว เพื่อให้ เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ให้รู้เท่าทันกับโลก และโลกาภิวัฒน์ เพื่อเตรียมประเทศเข้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

“ประเด็นที่ 2 กรณีผู้ร่วมประชุมบางราย ได้แสดงสัญลักษณ์ และชูป้ายข้อความ เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร นั้น ซึ่งการกระทำดังกล่าว ไม่ได้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านทางการเมือง แต่เป็นปฏิกิริยาต่อการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ หรือลุ่มล่ามการประชุมดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีเจตนาวิพากวิจารณ์รัฐบาลส่วนการต่อสู้คดี เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้มาถึงความถูกต้อง ยุติธรรม” นายชยันต์กล่าว

นายชยันต์กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก การเป็นนานาชาติมีความจำเป็น การประชุมวิชาการเป็นส่วนหนึ่งของการไปสู่นานาชาติ ผู้ดูแลกฏหมายต้องเข้าใจบริบท จุดยืน ท่าที และวิธีการทำงานของมหาวิทยาลัย ถ้ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ คอยหวาดระแวง นักวิชาการที่มีเจตนาบริสุทธิ์นั้น จะมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ก็ไม่เกิดความรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ข้อมูลข่าวสารต่อการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญการประชุมวิชาการนานาชาติ มีนักวิชาการนานาชาติเข้าร่วม ซึ่งบุคคลเหล่านี้ได้ศึกษาสังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน เราต้องฟังว่าเขาพูดว่าอะไรบ้าง นักวิชาการท้องถิ่นจะได้เรียนรู้ หรือนำปัญหาท้องถิ่น ประเทศมาแลกเปลี่ยนกัน นำความรู้ดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอด ถ้าไม่ให้พูดหรือคอยหวาดระแวง ความรู้ไม่เกิดขึ้น ไม่สามารถก้าวข้ามความไม่รู้ เมื่อไม่รู้ ไม่สามารถก้าวทันโลกได้

“หลังมารับทราบข้อกล่าวหา ไม่มีเจ้าหน้าที่มาติดต่อ ก่อนประชุมก็ไม่มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุย ทำความเข้าใจกันอย่างไร ทั้ง ๆ ที่ได้ไปพบกับผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นประธานในที่ประชุมดังกล่าว ก็ได้เรียนให้ทราบแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มาบอก ส่วนแนวทางต่อสู้คดี ก็ทำให้ดีที่สุด และพูดความจริงเท่านั้น ซึ่งนักวิชาการไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองและไม่รู้สึกกังวล ฝ่ายเรามีข้อมูลเต็มที่ ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงอย่างหนึ่งอย่างใด การประชุมดังกล่าวมีเวทีย่อยถึง 203 เวที แต่ละเวทีล้วนมีประโยชน์ต่อการเข้าใจตนเอง เข้าใจการเปลี่ยนแปลง เข้าใจต่อโลก ยืนยันทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้จัดเวทีเพื่อบังหน้า แล้ววิพากวิจารณ์รัฐบาล หรือ คสช.” นายชยันต์กล่าว

นายชยันต์กล่าวว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อตรวจสอบ คอยดูว่าฝ่ายนักวิชาการ ต้องการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างไร หวาดกลัวว่า คนเหล่านี้ มาปรึกษาหารือหรือซ่องสุ่ม ถ้าดูจากคำฟ้องหรือข้อกล่าวหาดังกล่าว เกรงว่าการประชุมดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การยุยงปลุกปั่น ต่อต้านรัฐบาล ไม่ได้ตรงกับเจตนาของเราเลย คนละเรื่องกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า การกระทำดังกล่าว มีผลต่อสิทธิเสรีภาพการเคลื่อนไหวของนักวิชาการหรือไม่ นายชยันต์ กล่าวว่า ต่อไปคนที่คิดจัดประชุมวิชาการนานาชาติ คงไม่อยากทำแล้ว

นายสุมิตรชัยกล่าวว่า พนักงานสอบสวน ได้รับเอกสาร และคำให้การของจำเลยทั้ง 5 คนแล้ว เพื่อประกอบสำนวนคดี แต่ขอดูเอกสารคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมจังหวัด พร้อมเลื่อนนัดไปเป็นวันที่ 11 กันยายนนี้ เวลา 10.00 น. เพื่อฟังพนักงานสอบสวนว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ช่วงระหว่างรอ ได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก เป็นนักวิชาการ 5 คน ซึ่งการให้คำของจำเลยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ยืนยันเป็นสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ และการคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการที่เป็นหลักสากล ซึ่งรัฐธรรมนูญรองรับสิทธิเสรีภาพดังกล่าว และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวทางต่อสู้คดีเป็นอย่างไร นายสุมิตรชัยกล่าวว่า ต้องอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าว ไม่ใช่เป็นการใช้พื้นที่เพื่อเป็นประเด็นการเมือง เพราะเป็นพื้นที่ปิดใครเข้าไปฟังต้องเสียตังค์ (เงิน) คนที่อยู่ในนั้น ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ที่จะเข้าไป ส่วนการนำไปลงในโซเชียลมีเดีย เท่าที่ดู ไม่มีการเผยแพร่ต่อ ดูกันในวงที่รู้จักกันเท่านั้น อีกประเด็น คือ เนื้อหาเวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร เรายืนยันว่าไม่ได้เป็นเรื่องการปลุกปั่นอะไรเป็นการแสดงความคิดเห็น เพื่อสะท้อนความรู้สึกบางอย่างกับสถานการณ์ในเวทีดังกล่าวเท่านั้นเอง ดังนั้นต้องต่อสู้คดีจนถึงที่สุด ไม่เช่นนั้น ถ้อยคำเกี่ยวกับทหาร กลายเป็นเรื่องการเมืองหมด เราพยายามอธิบายว่าข้อความเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องการเมือง เป็นเรื่องแสดงความคิดเห็นเท่านั้น

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์