คสช.ยกเลิกคำสั่ง 246 ฉบับ

 

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 เวลา 16.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เเถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงผลการประชุมในวันนี้ ว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เเละคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ได้รับมอบหมาย โดยวันนี้ได้มีการประชุมร่วมอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อค่ำวันที่ 13 ตุลาคม 2559 การประชุมร่วมนั้นเป็นการประชุมที่อาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 42 ไม่ใช่ว่าอยากจะประชุมก็ประชุมได้ เเต่ต้องมีเหตุพิเศษจึงจะเรียกประชุมได้

สำหรับการประชุมในวันนี้คือ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการหารือทำภารกิจ 2 อย่าง คือ 1 รายงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่าได้ดำเนินการมาโดยมีความคืบหน้า ความสำเร็จ หรือปัญหาอย่างไร เเละ 2 การสรุปให้ทราบถึงกฎหมายที่ออกมาตลอด 5 ปี ซึ่งอีก 2 สัปดาห์จะครบ 5 ปี คสช. แต่อายุรัฐบาลอาจยังไม่ครบ 5 ปี เพราะรัฐบาลจัดตั้งหลัง คสช. 3 เดือน

ในส่วนของคสช. ตั้งเเต่การเข้ามาสู่อำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยมีช่วงเวลาเเรกที่คสช. มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์อยู่ 3 เดือน ก่อนจะมีการตั้งรัฐบาล เวลานั้นเมื่อจำเป็นต้องออกกฎหมาย เราไม่สามารถออกเป็นกฎหมายได้ใน 3 เดือนเเรก จึงต้องออกเป็นประกาศคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ ซึ่งประกาศของคสช. ไม่ใช่คำสั่ง ซึ่งพอเห็นประกาศจะทราบว่ามีสถานภาพเป็นกฎหมาย

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เเละมีการตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยเเล้ว ประกาศคสช. ก็หมดไปไม่มีการออกอีกเลย หลังจากนั้นหากจะออกกฎหมายก็ออกเป็นคำสั่ง ซึ่งมีทั้งคำสั่งของคสช. เเละคำสั่งของหัวหน้าคสช. คุ้นเคยกันดีคือการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่มีผลเป็นกฎหมาย รูปแบบจะออกมาเป็นหัวหน้าคำสั่งคสช.

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีตัวเลขสรุปที่น่าสนใจ ตั้งเเต่เริ่มเเรกจนปัจจุบัน ได้มีการออกประกาศเเละคำสั่งของคสช. ตลอดจนหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 รวมทั้งสิ้น 456 ฉบับ มีรายละเอียดเป็นประกาศคสช. ซึ่งมีผลเป็นกฎหมาย 132 ฉบับ เเเละเป็นคำสั่ง คสช. ทางการบริหาร โยกย้าย เรียกคนมารายงานตัวจำนวน 166 ฉบับ รวมถึงคำสั่งที่เป็นของหัวหน้าคสช. คือคำสั่งที่ใช้มาตรา 44 จำนวน 158 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 456 ฉบับ

โดยทั้ง 456 ฉบับ เมื่อมีการออกมาใช้ไปสักระยะหนึ่งก็มีการยกเลิกไปเเล้ว 74 ฉบับ ส่วนที่ไม่มีการยกเลิกโดยตรง เเต่เมื่อออกมาเเล้วจบภารกิจ เท่ากับสิ้นผลไปในตัวมันเองจำนวน 133 ฉบับ ส่วนที่ยังอยู่เเต่เมื่อคสช. พ้นอำนาจไป คำสั่งนี้จะหมดอายุตามไปด้วยอัตโนมัติ จำนวน 39 ฉบับ ทำให้เหลือทั้งสิ้น 210 ฉบับ

ซึ่ง 210 ฉบับที่เหลือนี้ คสช. ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาทบทวน พบว่า สมควรจะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เป็นฉบับสุดท้าย เพื่อยกเลิก ไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาลหน้า ที่ต้องมาพิจารณาต่อไป จำนวน 68 ฉบับ หากถามว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องไปยกเลิกทั้ง 68 ฉบับ คือ มันหมดความจำเป็น หรือเเม้มีความจำเป็นแต่ไม่เหมาะสมที่จะมีต่อในระบอบประชาธิปไตย เเละหากทิ้งเอาไว้ก็จะเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า สภาหน้าที่จะต้องออกพระราชบัญญัติยกเลิก ซึ่งการออกนั้นในเวลาที่มีสภาผู้เเทนราษฎรนั้นกระบวนการจะล่าช้า อาจจะเลิกไม่ทัน หรือเลิกไม่ได้ คสช. จึงยกเลิกเสียเอง เพราะไม่มีความจำเป็น

ขณะเดียวกัน หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการทำการจัดทำกฎหมาย เเล้วจึงใช้กฎหมายใหม่ยกเลิก จำนวน 77 ฉบับ เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คงไว้ โดยจะได้เสนอมาตรการหรือกฎหมายรองรับในระยะยาว จำนวน 65 ฉบับ ที่จะอยู่ต่อไปจนถึงรัฐบาลหน้า เช่นนี้เพราะหน่วยราชการต่างๆ เล็งเห็นว่าสมควรจะคงไว้ เพราะเป็นคำสั่งที่มีผลเหมือนพระราชบัญญัติ เช่น เรื่องเเรงงานต่างดาว ไอยูยู พอเลิกจะเกิดช่องว่าง ไม่มีกฎหมายบังคับ ประเทศจะยุ่งยากพอสมควร เเต่รัฐบาลหน้ามีสิทธิเสนอ ยกเลิกเเก้ไขเมื่อใดก็ได้ นี่คือสถานภาพของประกาศเเละคำสั่งคสช.

ในส่วนของกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ได้เสนอเข้าสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.) ก็ออกมาเป็นกฎหมายประกาศใช้ โดยในวันนี้สนช. ได้ประชุมเป็นครั้งสุดท้าย เเละคงไม่มีประชุมอีกเเล้ว สรุปได้ว่า มีกฎหมายที่สนช. ผ่านทั้งหมดลงประกาศราชกิจจานุเบกษาเเล้วบ้าง ยังไม่ลงบ้าง อยู่ระหว่างถวายขึ้นไป ท้ายสุดก็จะได้รับพระราชทานกลับลงมาประกาศใช้ โดยสนช. ได้ออกกฎหมายจำนวน 456 ฉบับ เช่นเดียวกันกับประกาศเเละคำสั่งของคสช.

ในจำนวนกฎหมาย 456 ฉบับนี้ อันดับกลุ่มเเรกคือกฎหมายงบประมาณ พ.ร.บ.งบประมาณ 5 ฉบับ คือปี 2558 2559 2560 2561 เเละ 2562 ส่วนงบประมาณปี 2563 เป็นเรื่องของรัฐบาลชุดหน้าที่จะทำเเละเสนอต่อสภา

กฎหมายกลุ่มที่สอง คือ พ.ร.บ.สำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อเเก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ได้ออกมาเป็นจำนวนมาก คัดมาเฉพาะที่สำคัญซึ่งได้ออกไปจำนวนมาก อาทิ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ กฎหมายลดภาษีเงินได้นิติบุคคล กฎหมายการค้า กฎหมายปรับโครงสร้างภาษีเงินได้ กฎหมายเพิ่มขีดความสามารถในการเเข่งขันกับต่างประเทศ ที่สำคัญคือกฎหมายภาษีสรรพสามิต กฎหมายเกี่ยวกับอีอีซี กฎหมายทรัพยากรน้ำ กฎหมายที่ดินสิ่งปลูกสร้าง กฎหมายป่าไม้

กฎหมายกลุ่มที่สาม คือ พ.ร.บ.สำคัญทางบริหารเเละระบบราชการ ซึ่งบางฉบับร่างไว้เป็น 10 ปี เเต่ไม่มีโอกาสได้เสนอ ก็มาเสนอในสมัยนี้ อาทิ กรมท่าอากาศยาน กรมการขนส่งทางราง จัดตั้งกระทรวงดิจิทัล กฎหมายที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นกฎหมายชิ้นโบเเดงของรัฐบาลนี้ หรือจะเป็นกฎหมายสภาความมั่นคงเเห่งชาติ โดยรื้อออกมาทั้งฉบับออกใหม่ กฎหมายหารจัดซื้อจัดจ้าง กฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เเละกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นทุกฉบับ

กลุ่มที่สี่ คือ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย ที่เรียกร้องอยากเป็นมหาวิทยาลัยอิสระ เเยกตัวออกมาจากราชการ ขณะนี้มหาวิทยาลัยกว่า 10 แห่งได้เสนอเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบ อิสระจากรัฐบาล รับเงินก้อนหนึ่งจากรัฐบาลเเละมาบริหารเอง รัฐบาลไม่เข้าไปเเทรกเเซง อาทิ ม.สวนดุสิต ม.เกษตรสาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ม.ขอนเเก่น ม.กาฬสินธิ์ ม.ศรีนครินทวิโรฒ ม.ศิลปากร ม.สงขลานครินทร์ ม.เเม่โจ้ กระทั่งนิด้า ก็เเยกตัวออกมาจากราชการได้ในรัฐบาลนี้ เเถมยังตั้งสถาบันขึ้นใหม่ คือ สถาบันศรีสวรินทิราฯ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา เเละสถาบันพระบรมราชชนก

กลุ่มสุดท้าย คือ พ.ร.บ.สำคัญทางสังคม อาทิ กฎหมายคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กองทุนยุติธรรม ซึ่งมีเงินช่วยเหลือคนจนที่ตกไปเป็นจำเลย ผู้ต้องหา บางทีไม่มีเงินหาพยานมาสู้คดี กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ กฎหมายการทวงถามหนี้ กฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศ กฎหมายกองทุนสื่อ กฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยี กฎหมายการชุมนุมสาธารณะ กฎหมายคุมสื่อลามก กฎหมายป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา กฎหมายขายฝาก กฎหมายการกู้ยืมเพื่อการศึกษา กฎหมายเพื่อการเสมอภาคทางการศึกษา

นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เป็นกลุ่มตัวอย่างกฎหมายที่ได้ออกมาในสภาเเละรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งทั้งหมดได้รายงานในที่ประชุม คสช. ให้รับทราบ เเละที่ประชุมได้กำชับว่า ในส่วนกฎหมาย 456 ฉบับนี้ หากรัฐสภา รัฐบาลหน้าเห็นว่ากฎหมายใดไม่เหมาะ สามารถเเก้ไขหรือยกเลิกได้ เช่นเดียวกับคำสั่งเเละประกาศคสช. เเม้จะมีอายุอยู่ แต่หากฉบับใดสามารถถ่ายโอนไปเป็นพระราชบัญญัติไม่ให้คงรูปเป็นคำสั่งคสช. ขอให้กระทรวงพิจารณาทำเเละปรับเนื้อหา