สูตรแจก ส.ส.พรรคเล็ก…ยังไม่จบ ลุ้นต่อที่ศาล สะเทือนรัฐบาลปริ่มน้ำ

ปัญหาเรื้อรังเรื่องสูตรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบปาร์ตี้ลิสต์ เหมือนจะจบแต่ยังไม่จบ

เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 26 พรรค 149 คน เว้น 1 ที่นั่งไว้รองรับเลือกตั้งใหม่ เชียงใหม่ เขต 8 ยังต้องรวมคะแนน ก่อนนำมาคำนวณเพื่อหา ส.ส. 1 คน เพื่อเติมให้ครบ 150

นั่นคือไม่จบดอกแรก…

ส่วนดอกที่สอง คือ เอฟเฟ็กต์จากการที่ กกต.ใช้สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ 26 พรรค แจกเก้าอี้ ส.ส.กับพรรคเล็ก 11 พรรค ที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส.พึงมี ตัวเลขกลม ๆ อยู่ที่ 71,000 คนลงมา จนกระทั่งพรรคที่ได้ 30,000 คะแนนยังได้ ส.ส. แทนที่จะแจกให้เฉพาะ 16 พรรคที่มีคะแนนตั้งแต่ 71,000 คะแนนขึ้นไป

ความต่างระหว่าง 2 สูตร ส่งผลต่อการ “จัดตั้งรัฐบาล” ในฉับพลันทันใด ขั้วเพื่อไทยและพันธมิตร รวม 7 พรรค ที่เคยประกาศว่าจะได้ ส.ส. 253-255 ที่นั่ง ลดฮวบ 10 ที่นั่ง เหลือ 245 ที่นั่ง ขณะที่ขั้วพรรคพลังประชารัฐ บวก 2 พรรคกลาง ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย และเครือข่ายพรรคเล็กพรรคน้อยที่มีแนวโน้ม “นับญาติ” กัน ได้ 253-254 เสียง

ด้วยเหตุนี้ การประกาศรับรองผลปาร์ตี้ลิสต์ กกต.จึงถูกท้าทายจากเพื่อไทย-อนาคตใหม่ เป็นเบื้องแรก

พรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านว่า การดำเนินการของ กกต. ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กกต.ได้รับทราบข้อท้วงติง ข้อทักท้วงของพรรคการเมืองที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อตาม “สูตรแจกพรรคเล็ก” และได้แจ้งให้ทราบด้วยว่า การตัดสินใจดังกล่าว นอกจากจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแล้ว ยังอาจจะส่งผลต่อบริบททางการเมืองภายภาคหน้าอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย

“โดยเหตุนี้พรรคเพื่อไทยจึงเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวมาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เข้าข่ายเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจอันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และจะใช้ช่องทางดำเนินการตามกฎหมายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในทุกช่องทางที่จะทำได้ต่อไป”

ฟากพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะแต้ม ส.ส.หายไป 7 คน “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค กล่าวในฐานะผู้เสียหายโดยตรงว่า คะแนนดิบ 6 แสนคะแนนถูกทิ้งน้ำ จำนวน ส.ส.หายไป 7 ที่นั่ง ในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชน เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมดำเนินการต่อไป

ขณะที่ “แสวง บุญมี” รองเลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า “กกต.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าเห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้ ซึ่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้บอกว่า กรณีที่ไม่สามารถจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ครบตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ให้ใช้วิธีคิดคำนวณตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (3) (4) (5) (6) (7) กำหนดให้จัดสรรแก่ทุกพรรคการเมือง และไม่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”

เมื่อเปิดลายแทงการยื่นคำร้องคัดค้านการประกาศผลของ กกต. 2 ช่องทาง

1.ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจขององค์กรอิสระ ประกอบ มาตรา 44 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า “การยื่นขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระ ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอํานาจที่เกิดขึ้นแล้ว โดยในกรณีที่ปัญหานั้นเกิดขึ้นกับหน่วยงานใด ให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาล ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย”

ในกรณีนี้จึงต้องยื่นคำร้องต่อ กกต.เสียก่อน เพื่อให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

2.ยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ระบุว่า บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยส่งเรื่องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามช่องทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 231 ที่ระบุว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน

อาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองได้ ทั้งนี้ ในกรณีส่งศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ชักช้า หรือหากเป็น กฎ คําสั่ง หรือการกระทําอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้ส่งเรื่องถึงศาลปกครองและอาจยื่น ป.ป.ช.เอาผิด กกต. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้อีกกระทง


เมื่อสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มีผู้เสียหาย ฉากจบอาจไม่ใช่แค่ตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่อยู่ที่คำวินิจฉัยของศาลที่จะพิพากษาต่างหาก