“เรืองไกร” อ่านฉากจบ “หุ้นสื่อ”

แฟ้มภาพ

เฉพาะปมคุณสมบัติต้องห้าม ถือหุ้นสื่อ ทำให้นักการเมืองทุกพรรค ทุกพวกต้องลุ้นระทึก กว่า 50 ชีวิตที่ชื่ออยู่ในสำนวนร้องเรียนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนับวันจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดนร้อง-ถูกแจ้งข้อกล่าวหารายแรก

“เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักษาชาติ ที่แวะเวียนไปเป็นขาประจำที่ กกต. ในฐานะ “นักร้อง” อาจกล่าวได้ว่า “เรืองไกร” คือคนเดียวที่เคย “สอย” ประมุขฝ่ายบริหาร “สมัคร สุนทรเวช” ร่วงจากเก้าอี้นายกฯมาแล้วเมื่อปี 2551

เมื่อปมถือหุ้นสื่อลุกลามบานปลาย แตะไปตรงไหนก็เจอแต่คุณสมบัติต้องห้าม ทางออก-ทางไปต่อจะเป็นอย่างไร หลังนั่งพิจารณาคำตัดสินของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ปมหุ้นสื่อ 11 คดี เรืองไกร กล่าวว่า

“ทางออกเรื่องนี้ใช้นิติศาสตร์ไม่ได้ ต้องใช้รัฐศาสตร์ เนื่องจากนิติศาสตร์มีตัวอย่างแล้วคือคำวินิจฉัยของศาลฎีกา เช่น กรณีของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ถูกเพิกถอนการสมัครรับเลือกตั้ง เพราะในเอกสารบริคณห์สนธิที่ระบุวัตถุประสงค์ว่า เวลาจดทะเบียนนิติบุคคลในรูปห้างหุ้นส่วนจะจดตามแบบกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเบื้องต้น และเติมว่าเราจะทำอะไรอีกแค่นั้น เช่นประกอบกิจการประเภทสื่อ แต่เวลาประกอบกิจการจริง อาจเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เปิดร้านอาหาร ซึ่งฝ่ายกฎหมายหรือฝ่ายบัญชีไปจดทะเบียนให้ เจ้าของกิจการไม่มีทางรู้อยู่แล้ว”

“ทางออกที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาควรจะพิจารณาหาแนวทางให้นักการเมืองที่เข้าข่ายถือหุ้นสื่อได้ทำงาน ควรจะวินิจฉัยแนวทางขึ้นมาใหม่หรือไม่ หรือ 2 กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์บังคับว่า หลังจากเป็นผู้สมัครแล้วไปถือหุ้นสื่อไม่ได้…ต้องตีความให้ไม่มีสภาพบังคับอย่างนี้ ไม่เช่นนั้น กรรมการในองค์กรอิสระก็อาจจะโดนพ่วงไปด้วย เพราะเป็นหนึ่งในคุณสมบัติ อันนี้จะเป็นทางออก”

“ต้องร้องจนกว่าจะไม่มีคนผิด ที่ผมร้อง ผมกำลังติงคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเขียนกฎหมายอย่างนี้ใช้ไม่ได้ เพราะวันนี้ไม่รู้สึกรู้สาว่าเขาทำอะไรลงไป”