อนุทิน-ประชาธิปัตย์ ไขรหัสออกจาก “บิ๊กตู่” สู่นายกฯ คนนอก?

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) 2 พรรคการเมืองขั้วตัวแปร ยังไม่ยืนยันว่าจะสนับสนุนใคร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30

แม้อีก 7 วันจะมีหมายกำหนดการรัฐพิธีประชุมรัฐสภานัดแรกวันที่ 24 พฤษภาคม 2562

หากทิศทางการเมืองจะไม่เป็นไปตามครรลองปกติ หรือต้องไขกุญแจไปสู่การโหวตนายกรัฐมนตรี “นอกสภา” คำตอบอาจอยู่ที่ 2 พรรคการเมืองขั้วตัวแปร

2 พรรคขนาดกลางจึงยังยืนเป็น “ตัวแปร” ที่สำคัญทางการเมืองไทย และอาจเป็นขั้วที่พลิกเกมการจัดตั้งรัฐบาล อีกครั้งในรอบ 4 ทศวรรษ

หลังจากประชาธิปัตย์เคยพลิกเกมดันนายกรัฐมนตรี “คนนอก” หรือเป็นผู้อำนวยการสร้างการเมือง “เปรมโมเดล” มาแล้ว เมื่อปี 2523 เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2523 จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“ในเวลานั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ มาเชิญพรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล แต่เราไม่ร่วม เพราะมองเห็นว่าถึงร่วมรัฐบาลก็ไม่มีเสถียรภาพ และผู้นำในเวลานั้นไม่มีใครมีบารมีมากพอ จนกระทั่งมีชื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ทุกพรรคการเมืองยอมรับ…ในสมัยนี้ก็ต้องหากันว่าจะมีใคร?” แหล่งข่าวระดับอาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์กล่าวไว้ เรื่องสูตรการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ท่าทีที่เป็นรูปธรรมของประชาธิปัตย์ ก่อนหน้านี้คือ “ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี” แต่เมื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรคลาออก เงื่อนไขนี้ก็อาจจะหมดไป

ทว่ากรรมการบริหารประชาธิปัตย์ชุดใหม่ ก็ยังอยู่ในสายเชื้อของ “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” รวมทั้งบรรดาผู้ใหญ่-สายแข็งในฟากที่เคยหนุน “อภิสิทธิ์” ในแคมเปญ “ไม่เอาบิ๊กตู่”

อีกทั้งเมื่อ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เปิดทางให้มี “นายกรัฐมนตรีคนนอกตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272” ซึ่งอยู่ในหมวดบทเฉพาะกาล ที่กำหนดว่า ”เปิดโอกาสให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนอกเหนือจากรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ก่อนการเลือกตั้งได้”

โดยมีขั้นตอนตามนัยแห่งมาตรา 272 คือ ในวาระเริ่มแรก “เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 268 แล้ว หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรดําเนินการตามมาตรา 159 ต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้”

ล่าสุด (16 พ.ค.62) อภิสิทธิ์ก็ยังยืนยันว่า “ผมยืนยันว่าการประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯเป็นความพยายามต่อสู้กับกระแสให้ประชาชนเลือกข้าง สิ่งที่ผมพูดไม่ใช่อารมณ์ส่วนตัว แต่อยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์พรรคและคิดว่า ตอนนี้ได้สะท้อนความจริงอย่างหนึ่งว่า ความขัดแย้งในทางการเมืองวนเวียนอยู่ที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นข้อเท็จจริงในสังคม จะให้ผมพูดว่าสิ่งที่พูดไปไม่จริง หรือเกินเลยอุดมการณ์ก็ยืนยันว่าไม่ใช่”

อภิสิทธิ์-วิเคราะห์ครั้งแรกหลังลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคว่า “การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาถูก 2 ขั้วการเมือง กลายเป็นคู่ขัดแย้งหลัก เปลี่ยนการเลือกตั้งกลายเป็นการเลือกข้าง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอแนวทางตรงกลางเพื่อเป็นทางออก จึงทำให้ประชาชนที่ตัดสินใจเลือกข้าง ไม่คิดว่าประชาธิปัตย์เป็นคำตอบ การประกาศจุดยืนทางการเมืองไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แม้จะถูกมองว่าส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่คะแนนกว่า 3.9 ล้านเสียงที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ อย่างน้อย 70-80 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าเลือกพรรคประชาธิปัตย์เพราะการประกาศจุดยืนทางการเมืองดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องรักษาคำพูด เพื่อรักษาฐานเสียง 3.9 ล้านเสียงที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์”

อภิสิทธิ์ ตั้งคำถามและเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่และประชาธิปัตย์ต้องค้นหาวิธี “ไม่ให้อยู่ในสภาวะแบบนี้” ว่า “สำหรับกระแสข่าวเรื่องการจัดตั้งขั้วการเมืองที่ 3 นั้น โดยข้อเท็จจริงและกติกาเราต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ขณะนี้เหมือนถูกบังคับให้เลือกข้างอยู่ แต่ทั้งสองข้างเดินไปแล้วคงจะราบรื่นยาก…ในทางกลับกันสมมุติพรรคภูมิใจไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ไปร่วมกับพลังประชารัฐจะมีเสียงเกินครึ่งประมาณ 3-5 เสียงเท่านั้น อาจจะพอสำหรับการบอกว่า ได้เสียงเกินครึ่ง แต่ยากต่อการบริหารประเทศ ทำให้เกิดความคิดเรื่องงูเห่า จึงมีคำถามว่า หากทำแบบนี้สังคมจะยอมรับหรือไม่ และจะผลักดันเรื่องนี้อย่างไร”

ภูมิใจไทย-ยังไม่มีพรรคใดตอบโจทย์

ขณะที่ท่าทีของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ยอมรับว่า จนถึงเวลานี้ (16 พค.62) “ยังไม่มีพรรคการเมืองใดตอบโจทย์” การจัดตั้งรัฐบาลและการบริหารประเทศ ที่สอดคล้องกับพรรคภูมิใจไทย ที่ยึดเจตนารมณ์ 4 ข้อ ได้แก่ เทิดทูนสถาบัน, ไม่สร้างความขัดแย้ง, ตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน, ทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง

“ตอนนี้พรรคกดดันและคิดหนักมาก เพราะมีการแบ่งขั้วการเมืองเป็น 2 ฝ่ายคือ เผด็จการ และประชาธิปไตย ทำให้พรรคสายกลางอย่างพรรคภูมิใจไทยมีความกดดัน ขอให้ยุติการแบ่งฝ่าย เพราะผ่านการเลือกตั้งโดยประชาชนมาแล้ว ตอนนี้ทุกคนทุกเสียงสำคัญหมด ทุกพรรคต้องพึ่งพากัน แต่ยอมรับว่าตอนนี้ยังไม่มีพรรคใดมาสู่ขออย่างเป็นทางการ” หัวหน้าภท.กล่าว

เขายอมรับว่ามีการพูดคุยกับ “อภิสิทธิ์” และทีมกรรมการบริหารพรรคใหม่ของประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้เจรจากับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หรือคนอื่นๆ เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล แต่จะรอฟังความคิดเห็นจากการที่ทุกคนไปพูดคุยถึงความต้องการของประชาชนมา เพื่อขอฉันทามติให้หัวหน้าพรรคและเลขาธิการได้มีสิทธิตัดสินใจกำหนดทิศทางการเมือง

“การเป็นพรรคลำดับที่ 5 จึงไม่สามารถเป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดตั้งรัฐบาลได้ ต้องมีมารยาทให้พรรคแกนนำที่ได้คะแนนสูงจัดตั้งไปก่อน” ถ้าจัดไม่ได้จึงค่อยมีกรรมวิธีที่เหมาะสมต่อไป

ทั้ง 2 พรรค ยังไร้คำตอบที่ชัดเจน ให้กับทั้งขั้วพลังประชารัฐ และขั้วเพื่อไทย นักการเมืองรุ่นใหญ่ จึงยังคิดวิเคราะห์เรื่อง นายกรัฐมนตรี “คนนอก” ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 272


โจทย์นายกรัฐมนตรี คนนอก จึงยังอยู่ในสมการการเมือง จนกว่า วันโหวตนายกรัฐมนตรี จะมาถึง