ปิยบุตร ในโลก 2 ใบ ส.ส.และชีวิตคู่ ‘I have two love’

“ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ หรือ “อาจารย์ป๊อก” กำลังเดินเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในชีวิต พร้อมเพื่อน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค และเพื่อน ส.ส.78 ชีวิต ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ กำลังโดนถล่มจากทุกทิศทาง

ในจังหวะเดียวกับที่ “ธนาธร” ถูกลากขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ จากพิษคุณสมบัติ “ถือหุ้นสื่อ” ไม่ต่างจาก “ปิยบุตร” ที่ต้องเผชิญคดี คดีหนัก ฐานหมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีอ่านแถลงการณ์ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และ คดีนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์

การเป็นเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่  นับ การเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเต็มขั้น ทำให้ชีวิต “ปิยบุตร” เปลี่ยนไป…ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป “ผมอยากจะแวะกินก๋วยเตี๋ยว จิบเบียร์ก่อนเข้าบ้าน หลังจบการสอนนักศึกษาได้เหมือนเดิม” แต่ก็คงทำไม่ได้แล้ว  

สปอตไลท์การเมืองฉายจับไปที่ตัวเขา ไปที่ไหนคนก็รู้จัก แต่เขายอมแลก..

“อาจารย์ป๊อก” ได้เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเรื่องราวส่วนตัวว่า “ผมเป็นคนชอบการเมืองมาตั้งแต่เด็ก ติดตามตลอด เรียกได้ว่าจำชื่อผู้สมัคร ส.ส. ได้หมดเลย และผมก็เห็นว่าการเมืองเหมือนมวยปล้ำ จึงคิดว่าอยากเป็นนักวิชาการมาโดยตลอด แต่การเป็นนักวิชาการความคิดที่เสนออะไรต่าง ๆ มักจะไม่ได้ทำ หาพรรคดี ๆ เข้ามาทำไม่ได้ จึงเข้ามาถึงจุดที่ว่างั้นเราเข้ามาทำเอง”

ชีวิตเดิมที่ไม่เหมือนเดิม

หลังจากที่ตัดสินใจถอดชุดนักวิชาการ มาสวมชุดนักการเมือง เข้าสู่การทำงานในรูปแบบใหม่ที่ต้องยอมรับเลยว่าชีวิตเปลี่ยนไปเยอะมาก แต่ในส่วนของเวลาผมเข้าใจดีว่าไม่ว่าจะทำงานอะไรคุณก็ต้องใช้เวลาทุ่มให้กับสิ่งที่ทำ ตอนเป็นอาจารย์ก็ใช้เวลาทุ่มให้กับการเป็นอาจารย์ พอมาเป็นนักกการเมืองก็ทุ่มให้กับการเป็นนักการเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปแล้วก็ต้องยอมรับก็คือชีวิตความเป็นส่วนตัวจะลดน้อยถอยลง ไปปรากฎตัวที่ไหนคนรู้จักมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะหลังเลือกตั้งจะเอาเรื่องการใส่ร้ายป้ายสี ล่าแม่มดกลับมา ความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องระวังมากขึ้น ทำให้ชีวิตที่เราอยากจะใช้แบบเดิมเริ่มทำไม่ได้แล้ว อย่างจะแวะกินข้าวต้มสักถ้วย กินเบียร์สักขวดก่อนเข้าบ้าน ซึ่งผมเองก็อยากทำแบบเดิม แต่การทำอะไรแบบเดิมมันไม่ใช่แค่ตัวผมคนเดียว แต่มันเป็นเรื่องของพรรคด้วย ซึ่งก็ทำใจไว้ล่วงหน้า

เรื่องวิถีชีวิตเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับงานในหน้าที่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ตระหนักทบทวนตลอดเวลาคือเรื่องความคิดว่ายังเป็นตัวของเราอยู่ไหม ผมตรวจสอบทุกวันว่ายังไม่เปลี่ยน ยังสนใจเรื่องงานวิชาการ อย่างช่วงหยุดสงกรานต์ที่ผมไปหาภรรยาที่ฝรั่งเศส เป็นเวลาที่ผมได้กลับไปอ่านหนังสืออีกรอบแบบหนัก ๆ ทั้งวัน อ่านเสร็จตามนิสัยคันมือ อยากโพสต์เล่าให้คนอื่นฟัง แต่ตอนนี้หลัง ๆ ก็เริ่มโพสต์ยากขึ้นแล้ว เพราะเดี๋ยวสำนักข่าวต่าง ๆ นำไปขยายความ ทำให้ตอนนี้ผมอ่านแล้วก็เก็บไว้กับตัว ซึ่งก็เสียดายแทนที่จะนำมาเล่าให้คนฟัง มาเขียนให้คนได้อ่าน แต่ก็ทำไม่ได้ ดังนั้นการได้ออ่านหนังสือวิชาการก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่คิดถึง

ครอบครัวว่าอย่างไร ?

ผมไม่รู้จะเรียกว่าพ่อแม่เข้าใจหรือไม่เข้าใจ แต่เขารู้ว่าผมเป็นแบบนี้ ทุกวันนี้ในเรื่องของความเป็นห่วงเขาก็ยังคงมี แต่เป็นโชคดีของผมคือไม่มีใครคัดค้าน  บางคนเป็นปัญหาครอบครัวได้เลย และส่วนของผมภรรยาผมเข้าใจดีมาก แล้วชีวิตที่ต้องอยู่คนละประเทศ ถ้าหากว่าเราต้องอยู่ร่วมกันในประเทศเดียวกัน ที่เดียวกัน ภายใต้การบังคับให้คนอีกคนหนึ่งต้องทิ้งสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ผมคิดว่าไม่แฟร์

เช่น ผมอยู่เมืองไทยคุณต้องกลับมาอยู่กับผม และสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยสักแห่ง แต่เขาไม่สามารถไปในระดับนานาชาติได้ เขาต้องมาอยู่ตรงนี้ โอเค..วันแรกอาจจะดี แต่วันข้างหน้าเดี๋ยวทะเลาะกันก็จะต้องโยนเรื่องนี้ว่าเธอมาบังคับฉัน เช่นเดียวกัน ถ้าผมทิ้งงานที่นี่หมดแล้วไปอยู่ฝรั่งเศส ผมอาจจะไปเป็นเด็กเสิร์ฟ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ต่าง ๆ  ซึ่งวันแรก ๆ มันคงดี แต่วันต่อ ๆ ไป อาจจะมีคิดว่าทำไมไม่กลับประเทศแล้วไปทำอย่างที่เราต้องการ ซึ่งก็ต้องทะเลาะกันอีก

ความรัก แบบ ปิยบุตร

ผมพูดอยู่บ่อย ๆ ว่า ความรักแบบโรแมนติกแบบเดิมคือจะเอาสองสิ่งมาผนวกกันให้เป็นหนึ่ง ต้องรวมเปลี่ยนชีวิตทุกคนมารวมให้เป็นหนึ่ง แต่ความรักของผมที่คิด คือ ต้องแตกให้เป็น 2 ให้ได้ คือ เขาก็ใช้ชีวิตของเขา แล้วเราก็หาเวลามาเจอกันแทน ซึ่งผมดูไปดูมามันก็ลงตัวดี ลองคิดดูถ้าเขาต้องมาอยู่กับผมช่วงที่ผมหาเสียง หรือประชุมอยู่ในพรรค กลับบ้านตี  1 ตี 2 ทุกวันแล้วเขานอนรออยู่ที่บ้าน คงไม่ใช่ครอบครัวที่ดีเท่าไหร่ ดังนั้นก็ต่างคนต่างทำงานของตัวเองไปแล้วหาเวลาบางช่วงบางตอนมาเจอกัน เช่นเมื่อเขามาสัมนาแถบเอเชียเขาก็จะแวะมา หรือผมหาเวลาไป และผมคิดว่านี่คือโชคดีของผมที่คนรอบข้างเข้าใจ

มีเพลงฝรั่งเศสอยู่เพลงหนึ่งเพลงที่บอกว่า ‘I have two love’ มีรักสองแบบ ในเนื้อเพลงคือเขารักบ้านเกิดเขาด้วย และก็รักที่ปารีสด้วย เวลาที่ผมฟังก็รู้สึกดี เพราะเวลาผมไปออยู่ที่ฝรั่งเศสผมก็ชอบ แต่ถามว่าคุณเกิดมาเป็นคนไทยมันจะตัดขาดไปเลยก็ไม่ได้ โดยเฉพาะการเมืองที่เป็นแบบนี้ผมก็คิดว่าน่าจะมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนอะไรได้ ทำอะไรได้ ผมก็อยากเข้ามาทำ ตั้งใจ ตัดสินใจแล้วจึงอยากจะทำให้เต็มที่

โลกการเมืองในความคิดก่อน-หลังเข้ามาต่างกันไหม ?

โลกการเมืองทั้งก่อนและหลังเข้ามาไม่ต่างจากสมุติฐานของผม เพราะการเมืองไทยภาพเป็นยังไง ความน่ากลัวอยู่ตรงไหนทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้ว และผมก็ตามการเมืองตลอดก็ทราบดีอยู่แล้วว่าเข้ามาแล้วจะต้องเจออะไร เพียงแต่ว่าโลการเมืองที่ต่างก็รู้ว่ามันไม่ดีอยู่แล้วเราอยากจะเปลี่ยนอะไรมัน ดังนั้นผมจึงเข้ามาอยู่กับมันโดยยอมรับความเสี่ยงเพื่อที่จะเข้ามาเปลี่ยนมัน

เรื่องอะไรที่ทำให้รู้กสึกท้อ ?

ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่กระทบคือข้อพิพากษ์วิจารณ์จากคนที่คิดเรื่องประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่หลัง ๆ ก็ทำความเข้าใจ และก็รับฟังข้อวิจารณ์เหล่านั้นมาโดยตลอด อ่านทั้งหมด เพราะก่อนนอนครึ่งชั่วโมงผมจะต้องเช็กโซเซียลเพื่อที่จะดูว่าสังคมเขาจะว่าอย่างไร  และมีเข้าไปดูสมาชิกพรรคด้วยว่าเขาทำอะไรกันบ้าง (หัวเราะ)

มีวิธีให้กำลังใจตัวเองอย่างไร 

เวลาที่ผมท้อก็จะโทรคุยกับภรรยา ซึ่งบางวันได้ไม่นาน เพราะผมก็ไม่ไหวกลับบ้านมาก็เหนื่อยอยากจะนอนดังนั้นบางทีก็คุย 3 นาที 5 นาที หรือ 10 นาทีก็มี ซึ่งการคุยก็เพื่อจะดึงตัวผม และเขาก็จะบอกว่าตัดสินใจแล้ว ต้องลุยแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่เขาก็มักจะบอกกับผมตลอดว่า นักวิชาการมันกลับไปเป็นได้ตลอด ถ้าตราบใดที่มือผมยังพิมพ์ได้ เขียนได้ ตาไม่บอด  และสมองยังทำงาน ความจำยังใช้ได้อยู่ถึงจะอายุ 60-70 ก็ยังได้ แต่ห้วงเวลาในทางการเมืองจังหวะที่จะได้เข้ามามันไม่ได้มีบ่อย ๆ ซึ่งเวลาคุยกับเขาก็จะคุยในเรื่องลักษณะแบบนี้  หรือบางทีคิดถึงเรื่องทางวิชาการก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน และอีกสิ่งหนึ่งที่จะชุบชีวิตผมเวลาท้อทุกครั้งเลยก็คือการกลับไปอ่านหนังสือวิชาการ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นวิธีที่ปะหลาดไหมแต่พอผมกลับไปอ่านก็ทำให้รู้สึกดีขึ้นตลอด

เลขาธิการพรรคต้องครบเครื่องการเมือง มีทั้งแบบสีเทา ๆ ปิยบุตรเป็นเลขาธิการพรรคแบบไหน?

เป็นเลขาธิการพรรคสีส้มละกัน อะไรที่ผิดกฎหมาย เป็นเรื่องทุจริต คอรัปชั่น แลกเปลี่ยนสินบน ผมยืนยันว่าไม่ทำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าผมเป็นเลขาธิการพรรค แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่มาเป็นเลขาธิการพรรคที่มารับหน้าที่บทบาทในเรื่องนี้จะไม่ทำ

ด้านหนึ่งที่ผมเรียนอยู่ตลอดเราต้องการเปลี่ยนการเมืองไทยให้ได้ อีกด้านหนึ่งต้องการสกัดไม่ให้เผด็จการทหารฉวยโอกาสเข้ามายึดอำนาจบ่อย ๆ นักการเมืองก็ต้องปรับ ถ้านักการเมืองสร้างมาตรฐานการเมืองใหม่ไม่ได้ วันข้างหน้าก็วนลูปเดิมตลอดเวลา ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษตั้งแต่วันก่อตั้งพรรค พยายามเซ็ตอุดมการณ์ความคิดอันนี้ให้ได้ ถ้าอุดมการณ์ฝังลงไปได้จริง ใครมาเป็นก็ต้องเดินตามแบบนี้