ปชป. ชิงธงนำแก้รัฐธรรมนูญ ไม่โหวตบิ๊กตู่-แลกร่วมรัฐบาล พปชร.

2 พรรค “ขั้วตัวแปร” พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) อาจกุมชะตากรรมของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

โดยเฉพาะ ปชป.พรรคเก่าแก่-เก๋าเกม แม้จะได้หัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคชุดใหม่แล้วก็ตาม แต่ก็อยู่ในสภาพ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”

ทว่า ยังมีเวลาให้หายใจ เพราะต้องรอให้นายทะเบียนพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง “ผู้บริหารชุดใหม่” ก่อนรัฐพิธีเปิดสภาในวันที่ 24 พ.ค. และเลือกประธานสภา-นายกรัฐมนตรีภายในเดือน พ.ค.

ความเห็นที่แบ่งออกเป็น 2 ก๊กภายในพรรค ทำให้ “มติของพรรค” ยังไม่รู้ว่าจะ “ออกหัว-ออกก้อย” ได้แต่ “ซื้อเวลา” หาทางลงหากต้อง “กลืนน้ำลายตัวเอง” กลับลำ 360 องศา ร่วมรัฐบาล พปชร.ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯอีกสมัย

ท่าทีของ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรค กับ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค แม้จะเป็น “หัวหน้า-เลขาฯ” ที่เดินตามกันมา แต่วัดจากระดับเสียงกลับ “เสียงแตก” หัวหน้าไปทาง-เลขาฯไปทาง แต่ใช่ว่าจะไม่มี “จุดร่วม” เดียวกัน คือ การนำพาพรรค “ร่วมรัฐบาล”

เพียงแต่ “เสียงเบอร์หนึ่ง” มีเงื่อนไข “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30” ต้องไม่ใช่ “พล.อ.ประยุทธ์” ขณะที่ “เสียงเบอร์สอง” ตรงข้าม “ไร้ข้อผูกมัด” ว่า ชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องไม่ใช่นายกฯ

จึงปรากฏ “ข้อเสนอ” ของ “คีย์แมน” เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ที่ยัง “เดินเกม” โยนหิน…ถามทาง “รัฐบาลแห่งชาติ-นายกฯคนกลาง” ออกมาอย่าง “ไม่ลดราวาศอก”

นอกจากนี้ ยังมีการ “เขี่ยลูก” แก้รัฐธรรมนูญ หากหวังจะให้ ปชป.ตกล่องปล่องชิ้น “ร่วมรัฐบาล” ที่มี พปชร.เป็นแกนนำ ชูมือโหวตให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เบิ้ลเก้าอี้นายกฯเพื่อเป็น “ทางลง” ให้กับ “ผู้มีบารมี” ของพรรค-อดีต 3 หัวหน้าพรรค “ชวน-บัญญัติ-อภิสิทธิ์” ที่มีอุดมการณ์ 73 ปี “ค้ำคอ” อยู่ หรือเป็นการตั้งเงื่อนไข-ตั้งการ์ดสูง เพื่อเป็น “ข้ออ้าง” ไม่ร่วมรัฐบาล พปชร.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ

ข้อต่อรองราคาแพง-ต้นทุนสูง 2 วาระ ทั้งโหวตร่วมพรรคพลังประชารัฐ และขอมัดจำ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” พ่วงท้าย จึงอยู่ในใจผู้ใหญ่ของพรรค ก่อนจะชงเข้าสู่วาระเพื่อพิจารณาของการประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรคกับสมาชิกสภาผู้แทนฯของพรรค

ขณะที่ “ปัจจัยภายนอกพรรค” คอยกวนน้ำให้ขุ่น ทั้งจากฝั่ง พปชร.และจากพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ “รู้อยู่เต็มอก” ว่า แม้จะประเคนเก้าอี้รัฐมนตรี-ประธานสภาให้ ปชป.หมดทั้ง ครม. ปชป.ก็ “ไม่มีวันญาติดี” กับ พท.-เครือข่ายทักษิณแน่นอน

หวังแต่เพียง “ยืมมือ” ปชป. “ศัตรูของศัตรูมาเป็นมิตร” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ “เขี่ย” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์-คสช.ให้ “พ้นทาง” เท่านั้น

ขณะที่ “ผู้มีอำนาจในรัฐบาล-คสช.” ก็ “กัดฟัน” เจียด “เก้าอี้รัฐมนตรี” กระทรวงเกรดบีบวกออกมาล่อตา-ล่อใจถึง 7-8 กระทรวง ได้แก่ ศึกษาธิการ (รมช.) มหาดไทย (รมช.) คลัง (รมช.) ดีอี (รมว.หรือ รมช.) แรงงาน (รมว.) ยุติธรรม (รมว.) อุดมศึกษาฯ (รมว.) พัฒนาสังคมฯ (รมว.)

รวมถึง “บัลลังก์ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” ประธานรัฐสภาให้กับ 2 ผู้มากบารมี ชวน หลีกภัย-บัญญัติ บรรทัดฐาน เพราะหมายถึงเป็นการ “ตกปากรับคำ” ร่วมรัฐบาลไปโดยปริยาย

ดังนั้น การไม่มีมติออกมาจนกว่าจะถึงวินาทีสุดท้าย จึงสามารถ “ประวิงเวลา-ต่อรองเก้าอี้” กระทรวงเกรดเอ-บีบวกเป็น “ผลพลอยได้” ได้อีกด้วย

“วันโหวต” ของที่ประชุมร่วม กก.บห. และ 52 ส.ส.ของพรรค จึงอาจหลังวันรัฐพิธีเปิดสภา-คาบเกี่ยวกับวันเลือกประธานสภา และอาจเลยไปถึงวันเลือกนายกรัฐมนตรี

1 มติ 3 เหตุผล คือ 1.เลือกประธานสภา 2.เลือกนายกฯ หรือ 3.พลิกเกม-ผ่าทางตันนายกฯคนนอก

“รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามว่าตำแหน่งประธานสภาหรือรองประธานสภาต้องมาจากพรรคแกนนำรัฐบาล เพียงแต่กำหนดไว้เพียงแต่ว่าต้องได้เสียงสนับสนุนเกิน 251 ขึ้นไปเท่านั้น” แกนนำ ปชป.ระบุ

สถานะของประชาธิปัตย์อยู่ระหว่างเขาควาย ร่วมหัวจมท้ายกับพลังประชารัฐ ก็โดนข้อกล่าวหาจับมือเผด็จการสืบทอดอำนาจ-เป็นฝ่ายค้านก็ต้องจำยอมอยู่ร่วมฝ่าย “ทักษิณ” โดยปริยาย

คำอธิบายและคำจำกัดความ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” จึงต้องให้ความหมายใหม่ที่เข้าถึงและเข้าใจฐานเสียงและคู่แข่ง ภายใต้การต่อสู้ทางการเมืองที่แหลมคมที่สุด

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่… ‘มิ่งขวัญ’ ยื่นลาออกจากหัวหน้า “เศรษฐกิจใหม่” วงหารือพันธมิตร “เพื่อไทย” 7 พรรคล่ม