ชี้ช่องเหยื่อสลายชุมนุมปี”53 ฟ้องศาลอาญา! “เอาผิดมือสังหาร แทนคนสั่ง”

วันที่ 2 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะทำงาน ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายกาารชุมนุม เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กถึง กรณี สลายการชุมนุมปี 53 จะฟ้องคดีอาญา เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการและนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ตามการชี้ช่องของ ปปช. ได้หรือไม่ พร้อมแท็กไปยัง น.ส.สาวตรี สุขศรี นายปิยบุตร แสงกนกกุล 2 นักกฎหมายคณะนิติราษฎร์ และนายพันธุ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อน้องเฌอที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม ใจความว่า คำตัดสินของศาลฎีกาเท่ากับเป็นการปิดฉากความพยายามดำเนินคดีต่อนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพในศาลอาญา

อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ต่อคดีนี้เมื่อเดือนธ.ค. 2558 มีประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่า ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องต่อนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ในปี 2553 โดยระบุว่าการชุมนุม นปช. ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการคืนความสงบให้สังคม และรัฐบาลได้ดำเนินการสลายการชุมนุมตามหลักสากล แต่กลับพบว่า ป.ป.ช. ได้ชี้ช่องให้ ดีเอสไอ ไปเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ดังข้อความต่อไปนี้

“อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัวเพื่อป้องกันตนเองได้ จะเป็นไปตามหลักสากลก็ตาม แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของเจ้้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการใช้อาวุธปืนตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นตามความจำเป็น และพอสมควรแก่เหตุ อันเป็นภาระที่หนักและยากอย่างยิ่งในการปฏิบัติ แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบดังกล่าวได้ หากภายหลังสามาถพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้อาวุธปืนโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ อันเป็น “ความรับผิดเฉพาะตัว”

 “เช่นเดียวกับนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่จะต้องรับผิดในกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า รู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนได้ใช้หรืออยู่ระหว่างใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไม่ดำเนินการยับยั้งป้องกัน และรายงานเหตุดังกล่าว ซึ่งคดีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้รับดำเนินการเป็นคดีพิเศษด้วย จึงมีมติให้ส่งเรื่องการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารที่เป็นผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว รวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับัญชาในพื้นที่ ซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ให้ DSI ดำเนินการต่อไป ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 89/2”

การชี้ช่องของ ป.ป.ช.ข้างต้นนี้ เท่ากับเสนอให้อัยการและผู้เสียหายเอาทหารเข้ามาเป็นคู่ความโดยตรงนั่นเอง แม้ว่าจะฟ้องเจ้าหน้าที่ระดับล่าง แต่ก็น่าสนใจว่านักการเมืองและผู้นำกองทัพจะทอดทิ้งกำลังพลของตนเองหรือไม่ ทั้งนี้ ข้อมูลที่เกิดขึ้นในช่วงไต่สวนการตาย 21 ศพ ไม่มีกรณีใดที่ศาลชี้ว่าผู้ที่เสียชีวิตมีอาวุธ และยังระบุชื่อของเจ้าหน้าที่ทหาร และหน่วยทหารที่ประจำอยู่ในจุดนั้น ๆ ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ น.ส.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และคณะนิติราษฎร์ ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นตอบนางพวงทอง ว่า เรื่องนี้ฟ้องเจ้าหน้าที่ได้ตามที่ ป.ป.ช. ชี้ช่องไว้ได้ ที่ศาลอาญา ส่วนเขาจะต้องรับโทษหรือไม่ กระทำการไปโดยป้องกัน หรืออ้างว่ากระทำการตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาโดยสุจริตหรือไม่ ต้องไปว่าไปสืบพิสูจน์กันต่อ

 

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์