เพื่อไทย จำนน-พ่ายเกมตั้งรัฐบาล ไร้เงาหัวหน้าพรรคตัวจริง-ผู้นำฝ่ายค้าน

รายงานพิเศษ

ข่าวปล่อย ข่าวลือ พรรคการเมืองขั้ว 3 ดังสนั่นเวทีการเมืองหลังจากขั้วพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รอคอยการประกาศร่วมทางสานต่ออำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จาก 103 เสียงของ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 52 เสียง และพรรคภูมิใจไทย 51 เสียง

จนแล้วจนรอด ปชป.-ภท.ก็ยังสงวนท่าที ร่วม-ไม่ร่วมรัฐบาลกับขั้ว พปชร.

เปิดโอกาสให้ขั้วพรรคเพื่อไทย 7 พรรค ที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” มีความหวัง “ปิดสวิตช์อำนาจพิเศษ” ขึ้นมาทันใด

“เพื่อไทย” เปิดเกมรุก-ทอดสะพานไปยัง ปชป.-ภท. อยากได้อะไรก็ยอมให้ทุกอย่าง เก้าอี้นายกฯ-ประธานสภา จึงอยู่ในเงื่อนไขล่อใจคน ปชป.-ภท.

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 19 พ.ค. เปิดเกมกดดัน “จุรินทร์-ปชป.” ว่า

“พรรคที่ประกาศนโยบายสนับสนุนลุงตู่เป็นนายกฯ มี ส.ส.รวมกัน 120 กว่าคน พรรคประกาศไม่เอาลุงตู่ได้ ส.ส.รวมกันถึง 297 คน มากกว่าเกินหนึ่งเท่าตัว ในจำนวนนี้มี 52 ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์รวมอยู่ด้วย คะแนน 297 ต่อ 121 คือเสียงสะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ เห็นว่าลุงตู่ควรหยุดได้แล้ว”

“ก่อนการเลือกตั้งหัวหน้าประชาธิปัตย์ประกาศคำมั่นสัญญากึกก้องว่า ประชาธิปัตย์จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ มีเสียงปรบมือจากกองเชียร์ดังสนั่น ยืนยันว่า 3.9 ล้านคะแนนที่เลือกประชาธิปัตย์ คือ เสียงของคนไม่ต้องการให้ลุงตู่เป็นนายกฯต่อไป”

ฟากคนใน ปชป. “เทพไท เสนพงศ์” ส.ส.นครศรีธรรมราช คนใน-วงใน ปชป.ออกมาส่งสัญญาณ ตั้งเงื่อนไขสูง ร่วมรัฐบาล พปชร.จะต้องไม่มี “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ

“ทางออกของประเทศคือ การจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ มีคนกลางเป็นนายกฯบริหารประเทศ 2 ปี ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อเลือกตั้งใหม่ต่อไป”

แม้ว่าในทางกลับกันจะมีข่าวลือ ข่าวปล่อยหนาหูว่า ทั้ง ปชป.-ภท.เจรจาตกลง เคาะตัวเลขตำแหน่งรัฐมนตรีรวมกันถึง 16 เก้าอี้ เว้นแต่ 4 เก้าอี้ กลาโหม-มหาดไทย-คลัง-คมนาคม เท่านั้นที่ พปชร.ขอคุมเอง

ประธานสภา-ผู้นำฝ่ายค้าน

ดังนั้น โอกาสที่ 245 เสียงของฝ่ายพันธมิตรพรรคเพื่อไทย 7 พรรค จะจัดตั้งรัฐบาลไม่ว่าขั้วที่ 1 หรือขั้วที่ 3 โอกาสริบหรี่เต็มทน

เป้าหมายรองลงมา หวังเพียงดึงเสียง “ฝ่ายค้านอิสระ” ของพรรคประชาธิปัตย์ ขั้ว “ชวน-อภิสิทธิ์” ประมาณ 20 เสียง มาร่วมสร้างป้อมค่ายฝ่ายค้าน ให้ได้เสียงเกิน 251 เสียง เพื่อโหวตประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงมีข่าวว่าจะมอบเก้าอี้ประธานสภาให้กับ “บัญญัติ บรรทัดฐาน”

เกมหนึ่งที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเปิด หากพลิกล็อกได้เก้าอี้ประธานสภาฯ คือ เปิดเกมอภิปราย “พล.อ.ประยุทธ์” ในสภาตั้งแต่ยกแรก นอกจากนี้ ใจความสำคัญของตำแหน่งประธานสภาฯ คือ “ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี”

“ดีล” บัญญัติ อาจเป็นแค่การปล่อยข่าวทางยุทธวิธีการเมือง แต่ในทางปฏิบัติ จะต้องฝ่าด่านพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ยอมปล่อยเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญหลุดมือไปได้

ยอมเป็นฝ่ายค้าน-รอเลือกตั้งใหม่

ในวงสนทนานักเลือกตั้งเพื่อไทย มองสถานการณ์ในโลกความเป็นจริงต่างยอม “ยกธงขาว” รับว่า “เพื่อไทย” เป็นได้แค่ฝ่ายค้าน ส่วนข่าวที่เพื่อไทย ยอมเปิดดีลกับ ภท – ปชป. มีแกนนำ 2 คน เป็นผู้โบกทิศทางข่าว “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” กับ “ภูมิธรรม เวชยชัย” เลขาธิการพรรคเท่านั้น

ขณะที่ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ไร้สัญญาณทางการเมือง หลังจากบาดเจ็บทางยุทธวิธีการเมืองตั้งแต่งานฉลองงานแต่งงานบุตรสาวที่เกาะฮ่องกง

แหล่งข่าวระดับสูงของพรรคมีการวิเคราะห์ในวงประชุมเพื่อไทยว่า แม้พรรคพลังประชารัฐจะดันทุรังตั้งรัฐบาล 20 พรรคได้สำเร็จ แต่ก็จะทำให้รัฐบาลอยู่ในสภาพไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นจะต้องให้ ส.ส.เกาะติดพื้นที่ไว้ให้ดี เพื่อเตรียมฤดูเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นเร็ว หรือเร็วที่สุดอาจเกิดขึ้นปลายปี 2562

“ขณะนี้การตั้งรัฐบาลในฝั่งเพื่อไทยค่อนข้างลำบาก ฝ่ายพลังประชารัฐแน่นอนว่าจะต้องดันทุรังตั้งรัฐบาลให้ได้ โดยใช้ ส.ว.มาสนับสนุนในการโหวตนายกฯ และตั้งรัฐบาล แต่ก็จะทำให้เป็นรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ง่อนแง่นแน่นอน” แหล่งข่าวเพื่อไทยกล่าว

ไร้หัวหน้าฝ่ายค้าน

แต่ปัญหาหลัก-เฉพาะหน้าของเพื่อไทยเวลานี้ คือ ไม่มีบุคคลที่มีคุณสมบัติแม้แต่ “ผู้นำฝ่ายค้าน” เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 ระบุที่มาของผู้นำฝ่ายค้านว่า”ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภา

ผู้แทนราษฎรที่มีจํานวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

“ในกรณีที่พรรคการเมืองตามวรรคหนึ่งมีสมาชิกเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลากให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นําฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน เพื่อไทย นักการเมืองสายแข็งในสภา อธิบายว่า ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ชัดว่า ผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมาก ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล และจะต้องเป็น ส.ส.ด้วย เมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็น ส.ส. พรรคก็ไม่สามารถเสนอชื่อหัวหน้าพรรคคนเดิมได้ ในกรณีถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้น ผู้บริหารพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องปรึกษาหารือในข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“กฎหมายกำหนดว่าจะต้องเป็นหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมาก ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่ทำตาม อาจจะถูกร้องว่าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้”

สมพงษ์เซย์โนหัวหน้าพรรค

เมื่อ “หัวหน้าพรรค” ตัวจริง คือ “พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์” ซึ่งอยู่ในบัญชีผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 สอบตกไม่ได้เข้าสภา จึงต้องหาคนที่มีคุณสมบัติครบ

ข่าวในเบื้องต้นปรากฏชื่อ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่เล็งเก้าอี้ประธานสภา มีข่าวว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยไร้สัญญาณบวกในเกมชิงเสียงสภาล่าง และเป็นได้แค่ฝ่ายค้าน “สมพงษ์” จึงปฏิเสธ ไม่เป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน”

เมื่อเพื่อไทยไม่อาจมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ ทำให้ “พล.ต.ท.วิโรจน์” ไม่อาจเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรได้ เช่นเดียวกับแกนนำระดับเดินเกมของพรรคหลายคน ส่วน ส.ส.เขตรุ่นเก๋าในเพื่อไทยหลายคนก็อยู่ในเกณฑ์ “บารมีไม่พอ” ที่จะมาคุมพรรคได้

หรือหลายคนไม่อยากเป็น “หัวหน้าพรรคหุ่นเชิด” ที่ไม่มีอำนาจ-บารมี และแกนนำไม่ให้ความสำคัญ

ทว่าชื่อที่ถูก “ปล่อย” หยั่งกระแสเบื้องต้น นอกจาก “สมพงษ์” ที่มีข่าวจะเสนอให้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร-ผู้นำฝ่ายค้าน ยังมี 1.นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม 2.นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู 3.นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ

แต่ ส.ส.จำนวนมากเชื่อว่า ผู้นำฝ่ายค้านจะปรากฏให้เห็นหน้า เห็นตัว หลัง พปชร.ตั้งรัฐบาลแล้ว เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับว่า จะต้องมีผู้นำฝ่ายค้านเมื่อใด – ไม่ต้องรีบตั้งหัวหน้า

สถานการณ์ของเพื่อไทยขณะนี้ นอกจากวงโคจรเจรจาตั้งรัฐบาลและความเคลื่อนไหวรายวันของ “คุณหญิงสุดารัตน์” และ “ภูมิธรรม” ในพรรคเพื่อไทยยังคง “นิ่ง” รอความเคลื่อนไหวจากนายใหญ่ ที่ยังไม่มีสัญญาณสั่งการ

หลังเกมจับมือพันธมิตร 7 พรรคเหลว ส.ส.ทุกวงสนทนามองตรงกันว่าเพื่อไทยไร้ทิศทางต่อสู้ ไม่คุ้มค่ากับการเลือกตั้ง


และคิดว่าอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่แบกนายใหญ่