“ฟูอาดี้” ทายาท “พิศสุวรรณ” โพสต์ “อึดอัด” กับ 2 มาตรฐาน กรณี “ธนาธร-พปชร.”

หลังจากเหตุการณ์ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีถือหุ้นสื่อ ของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) https://www.prachachat.net/politics/news-330099 และให้นายธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งกรณีท่าทีพรรคประชาธิปัตย์แถลง ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนและกรรมการบริหารของพรรค “อาสาเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ” แต่ยังไม่กำหนดชื่อ และจะกำหนดท่าทีว่าจะร่วม-หรือไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในวันนี้ (25 พค.62) โดยมีเงื่อนไขทางการเมืองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นข้อต่อรอง https://www.prachachat.net/politics/news-329717

เมื่อวันที่ 25 พค. 62 “นายฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ลูกชาย “สุรินทร์ พิศสุวรรณ” ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เขียนข้อความผ่าน Facebook ชื่อ Fuadi Pitsuwan ใน 2 เรื่องดังกล่าว

“มีใครที่ไม่ได้เลือกธนาธร แต่รู้สึกอึดอัดกับการกระทำสองมาตรฐานของผู้มีอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยบ้าง? ขอเสียงหน่อย เพราะรู้สึกเดียวดายมาก”

คุณจะเลือกใครก็ได้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จะเลือกพลังประชารัฐ หรือแม้แต่เป็น ส.ส.พรรคพลังประชารัฐก็ได้ คุณควรจะรู้สึกอึดอัดบ้างกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ฝั่งตรงข้ามทางการเมืองคือ “คู่แข่ง “ ไม่ใช่ “ศัตรู” เราควรและมีหน้าที่ทางจริยธรรมการเมืองที่จะ #StandWithThanathorn อาจจะไม่ใช่ในฐานะตัวบุคคล แต่ในฐานะมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย เพื่อปกป้องและเรียกร้องการคงอยู่ของการเมืองพลเรือน อย่าลืมนะครับว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในบริบทที่ว่ารัฐบาลไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องไม่ชอบมาพากลต่างๆ ที่ผ่านมาที่เกิดขึ้นกับฝั่งตนได้และมีข้อครหาเรื่องการทุจริตต่างๆ มากมายที่ไม่ได้รับคำตอบ ปัญหามันจะมีน้อยกว่านี้มาก ถ้าประชาชนไม่ปล่อยให้เรื่องนาฬิกาหลุดรอดไป หรือถ้า กกต.จับผิด พปชร.ในมาตรฐานเดียวกัน หรือรัฐธรรมนูญมีสูตรการคิดจำนวน ส.ส.พึงมีที่ไม่เปิดโอกาสให้ตีความไปต่างๆ นานา เป็นต้น พวกเราลืมกันไปแล้วหรอครับว่าเราต่อสู้กับระบอบทักษิณด้วยเหตุผลอะไร? ถ้าคุณไม่พูดหรือไม่พยายามทำอะไรตอนนี้วันหนึ่งระบอบยุติธรรมแบบนี้อาจจะย้อนกลับมากัดคุณเองก็ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหามากนะครับกับการพัฒนาคู่ต่อสู้ในเส้นทางประชาธิปไตยของการเมืองไทย เพราะมันเกิด crowd out effect นักการเมืองเก่งๆ นักวิชาการเก่งๆ ไม่สามารถพูดโต้แย้งอะไรต่างๆ ตามข้อมูล หลักการ และเหตุผลได้ เพราะคู่ต่อสู้ทางการเมืองโดนจ้องเล่นงานจากกรรมการ เรามีหน้าที่ทางจริยธรรมที่ต้องไม่พอใจกับการที่กรรมการทำไม่แฟร์แบบนี้ การเลือกตั้งคือ “institutionalized uncertainty” ต้องยอมรับว่ามันมีความไม่แน่นอน และแพ้ได้ ผมไม่แน่ใจว่าคนที่มีอำนาจคิดว่าการทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะโดยการพยายามกำจัดคู่ต่อสู้ทุกวิธีทางจะทำให้ชัยชนะของตัวเองมีความชอบธรรมขึ้นได้อย่างไร?

ตอนนี้ผู้มีอำนาจกำลัง disenfranchise คนอย่างน้อย 6 ล้านคน ซึ่งอันตรายมากกับโอกาสของความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น พวกเราทุกคนต้องช่วยกันลดความเสี่ยงนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายไหนก็ตาม

มีคลาสหนึ่งตอนเรียนที่ฮาร์วาร์ดที่ผมชอบมากที่สุด (ผมได้ B+ เจ็บใจมากๆ) ในคลาสเราถกกันเรื่องหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ หน้าที่ของนักการเมือง ที่จะลุกขึ้นสู้กับมาตรฐานทางจริยธรรมที่ต่ำลงภายในองค์กรของตัวเอง หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “Ethics for Adversaries” เขียนโดยนักปรัชญาการเมืองที่สอนคลาสนั้น ใครมีโอกาสอยากให้อ่าน