ศาลรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ “ธนาธร” บี้คดียุบพรรค-อนาคตใหม่ไร้หัว

นักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อาสาเข้าสภาผู้แทนราษฎรเพื่อ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” กลไกรักษาอำนาจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังเลือกตั้ง

แต่จนถึงนาทีนี้ กลายเป็นว่า “ธนาธร” กำลังถูกองค์กรอิสระ “ปิดสวิตช์”

หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของ “ธนาธร” กรณีถือหุ้นสื่อ อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) แล้วศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ 9-0 รับคำร้อง พ่วงด้วยมติ 8 ต่อ 1 ให้ “ธนาธร” หยุดปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส.มิอาจเดินนำ ส.ส. 79 ชีวิตเข้าสภาได้

แม้ฝั่ง “ธนาธร” เปิดหน้าท้าชน ตอบโต้ กกต.ตัวต้นเรื่อง ด้วยการแฉหลักฐาน เป็นเอกสารเชิญ 2 พยาน การโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย เมื่อวันที่ 8 มกราคม เข้าให้ถ้อยคำกับคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนของ กกต. โดยในเอกสารลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 แต่ส่งจริงเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม และถึงมือพยานทั้งสองในวันที่ 22 พฤษภาคม ทั้งที่ กกต.ส่งสำนวนให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อ 16 พฤษภาคม 2562

พร้อมตั้งข้อสังเกตการทำงานของ กกต.ว่า “กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญทั้งที่กระบวนการสืบสวนไต่สวนยังไม่เสร็จสิ้น ถือเป็นการเร่งรัดขั้นตอนกระบวนการ ทำให้ กกต.มีความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 69 ฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ” ธนาธรระบุ

ขณะที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค ตำหนิการทำงานของ กกต.ว่า “การดำเนินการ กกต.ขัดหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม คณะกรรมการไม่เปิดโอกาสให้นายธนาธรไปชี้แจง มีแต่ส่งหนังสือไปให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการช่วยตรวจสำนวนของ กกต. ส่งโดยอีเอ็มเอส 22 เมษายน และได้เซ็นรับเวลา 13.45 น. แต่ในหนังสือกลับเรียกมาชี้แจง 10.30 น. ของวันที่ 22 เมษายน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะไปชี้แจง”

“และพอคุณธนาธรและผมไปให้ถ้อยคำกับคณะกรรมการไต่สวนในวันที่ 31 เมษายน กลับเห็นข้อความแจ้งข้อกล่าวหามีแค่ 6 บรรทัด จากการตรวจสอบการถือหุ้นแบบ อบจ.5 พบว่า ท่านเป็นเจ้าของหุ้นวี-ลัค จึงเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง น่าขบคิด หาก กกต.พิจารณารอบด้านทั้งข้อเท็จจริงและกฎหมาย เปิดโอกาสให้นายธนาธรชี้แจง เป็นไปไม่ได้ที่ กกต.จะฟันธงทันทีโดยเห็นแค่แบบ อบจ.5”

อย่างไรก็ตาม นาทีนี้ เส้นทางทางการเมืองของ “ธนาธร” พาดอยู่บนเขียงเรียบร้อย ไม่เฉพาะแค่คดีหุ้นสื่อเท่านั้นที่ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของ กกต.ยังมีคดีอื่นอีก ประกอบด้วย 1.นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือต่อ กกต. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562 กรณี “ธนาธร” แถลงข่าวโอนทรัพย์สินไปให้กองทุน หรือ trust เป็นผู้ดูแล เป็นนักการเมืองแรกที่ทำเช่นนี้ เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (5) ในเรื่องการจูงใจ หลอกลวง ให้เข้าใจ ในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง สร้างประเด็นเพื่อให้เกิดความนิยมในตัวนายธนาธร

2.นายบุญถาวร ปัญญาสิทธิ์ ร้อง กกต. เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ. 2562 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากการกระทำของนายธนาธร และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค มีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะมีการใช้วาทกรรมว่าจะสานต่อภารกิจของคณะราษฎร 2475 ให้สำเร็จลุล่วง โดยไม่ได้ขยายความให้ชัดเจนว่าการสานต่อภารกิจนั้นรวมถึงการยังคงซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่หรือไม่

3.ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล ร้องต่อ กกต. เมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562 ให้ยุบพรรคการเมือง จากกรณีที่นายธนาธร ให้สัมภาษณ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ

4.นายศรีสุวรรณ ยื่นเรื่องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 กรณีมีหุ้นอยู่ในบริษัทที่แจ้งวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเกี่ยวกับสื่ออีก 13 บริษัท ที่มีหนึ่งในวัตถุประสงค์ตามหนังสือบริคณห์สนธิว่าประกอบกิจการเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ จัดพิมพ์ และเผยแพร่ ผู้ร้องเรียน

5.นายศรีสุวรรณ ยื่นเรื่องให้ กกต. เมื่อ 20 พฤษภาคม 2562 ตรวจสอบกรณีนายธนาธร ให้พรรคอนาคตใหม่กู้เงิน ระยะเวลาผ่อนชำระคืนที่ 3 ปี ดอกเบี้ย 3.75 ขัด พ.ร.บ. พรรคการเมือง ตามมาตรา 66 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ระบุว่า บุคคลหรือนิติบุคคลใดจะบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้พรรคการเมือง โดยมีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปีมิได้

หากรวมกรณีหุ้น “วี-ลัค” ที่นายศรีสุวรรณ ยื่นให้ กกต.ไต่สวน สอบสวน และวินิจฉัย เมื่อ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562 จะเป็นสำนวนที่ 6

“ธนาธร” เคยหวังปักธงปิดสวิตช์ ส.ว.

แต่สำนวนคดีที่พันตัวเขา-ลามถึงอนาคตใหม่ ต้องไร้หัวหน้าพรรค